ประเมินผลการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการผ่อนคลายเงินทุนไหลออกต่อระบบเศรษฐกิจและค่าเงิน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 11, 2019 09:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 พ.ย.--มหาวิทยาลัยรังสิต การลดดอกเบี้ยและมาตรการผ่อนคลายเงินทุนไหลออกพร้อมกันจะช่วยไม่ให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่ ลดดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นภาคการบริโภคและภาคการลงทุนได้ไม่มากจากข้อจำกัดในการกู้ยืม หนี้ครัวเรือนสูง รายได้ลดลงจากการการปิดงานและลดชั่วโมงการทำงานและความรู้สึกไม่มั่นคงในงาน อัตราการใช้กำลังผลิตยังเหลืออยู่ยังไม่ต้องลงทุนเพิ่มใหม่ 4 มาตรการดูแลเงินบาทแข็งค่าช่วยประคองสถานการณ์ค่าเงินได้ระดับหนึ่งในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าทดสอบระดับ 28-29 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงต้นปี ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต การลดดอกเบี้ยและมาตรการผ่อนคลายเงินทุนไหลออกพร้อมกันจะช่วยไม่ให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่แต่ไม่เพียงพอต่อการทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ลดดอกเบี้ยช่วยกระตุ้นภาคการบริโภคและภาคการลงทุนได้ไม่มาก นโยบายการเงินอาจมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น โดยมักพบว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจเร่งตัวขึ้นได้จากการเพิ่มปริมาณเงินเข้าสู่ระบบ การลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย บรรดาผู้จัดการกองทุน Hedge funds ต่างๆคาดการณ์ไว้อยู่แล้ว จึงขนเงินทุนเข้ามาลงทุนซื้อพันธบัตรระยะยาวก่อนหน้านี้ จึงทำให้เงินบาทแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว และ แสวงหาประโยชน์จากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย เงินระยะสั้นเก็งกำไรของต่างชาติพวกนี้พร้อมไหลออกหากมีโอกาสในการทำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือตลาดการเงิน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป การลดดอกเบี้ยช่วยบรรเทาภาระทางการเงินของผู้ประกอบการเล็กน้อย ภาระหนี้โดยรวมของเอสเอ็มอีลดลงประมาณ 7.6 พันล้านบาทหรือเพียง 2.1% จากสินเชื่อคงค้างของเอสเอ็มอีที่ 5.2 ล้านล้านบาท ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังเผชิญกับข้อจำกัดในการกู้ยืม นอกจากนี้สินเชื่อโดยรวมเติบโตช้าลงและมีสัญญาณการเพิ่มขึ้นของหนี้เสีย ทิศทางดอกเบี้ยขาลงแบบนี้ น่าจะทำให้ธุรกิจรายใหญ่ทะยอยออกหุ้นกู้เพิ่มขึ้น บอนด์ยิลด์ปรับลดลงทำให้ต้นทุนออกหุ้นกู้ลดลงตามไปด้วย ในส่วนของสินเชื่อรายย่อย ครัวเรือนส่วนใหญ่ยังมีหนี้ครัวเรือนในสัดส่วนสูง ภาระผ่อนรายเดือนไม่ได้ปรับลดลงมากนักเพราะสินเชื่อส่วนใหญ่อิงกับอัตราดอกเบี้ยคงที่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งสองขาทั้งเงินกู้และเงินฝาก การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งก่อน ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ผู้ฝากเงินวัยเกษียณจะได้รับผลกระทบบ้างจากรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝากที่ลดลง ดอกเบี้ยปรับตัวลดลงแต่สภาพคล่องในระบบสูงเพราะคนจำนวนไม่น้อยมีรายได้ลดลงจากการการปิดงานและลดชั่วโมงการทำงานรวมทั้งความรู้สึกไม่มั่นคงในงานจึงระมัดระวังในการใช้จ่าย อัตราการใช้กำลังผลิตยังเหลืออยู่ยังไม่ต้องลงทุนเพิ่มใหม่ ครัวเรือนจำนวนไม่น้อยประสบปัญหาสภาพคล่องโดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนจะมีปัญหาอย่างมากในการดูแลชีวิตตัวเองและครอบครัวในวัยเกษียณ 4 มาตรการดูแลเงินบาทแข็งค่าช่วยประคองสถานการณ์ค่าเงินได้ระดับหนึ่งในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ เงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าทดสอบระดับ 28-29 บาทต่อดอลลาร์ได้ในช่วงต้นปี จากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นเป็นผลจากรายได้จากการท่องเที่ยวของต่างชาติในช่วงต้นปีและการนำเข้ายังไม่กระเตื้องขึ้นจากการลงทุนที่ยังซบเซา การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายขึ้นจะส่งผลให้การเกินดุลลดลงและลดแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าก็ต่อเมื่อการผ่อนคลายการเงินกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากพอ ซึ่งขณะนี้ไม่แน่ใจว่า จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริงหรือภาคการผลิต เงินทุนยังไหลไปลงทุนในตลาดการเงินหรือกิจกรรมเก็งกำไรมากกว่า ส่วนการส่งเสริมให้กลุ่มส่งออกไทยมีรายได้ต่ำกว่า 200,000 ดอลลาร์ต่อใบขอ สามารถฝากเงินไว้ในต่างประเทศโดยไม่จำกัดระยะเวลาจะไม่ได้ผลมากนักเพราะกิจการส่วนใหญ่ยังต้องอาศัยสภาพคล่องและต้องโอนเงินกลับประเทศ ส่วนมาตรการให้นักลงทุนรายย่อยออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เองในวงเงิน 200,000 ดอลลาร์ต่อปี นั้น มาตรการนี้จะได้ผลเมื่อมีโอกาสการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ดีกว่าในต่างประเทศ ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวอีกว่า ปัจจัยด้านโครงสร้างประชากร สัดส่วนวัยทำงานต่อประชากรลดลง สัดส่วนวัยชราต่อประชากรเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและช่วยอธิบายทำไมมาตรการการเงินและมาตรการการคลังแบบชิม ช้อป ใช้ กระตุ้นการบริโภค จึงกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ผลมากนัก การใช้มาตรการการเงินการคลังบางนโยบายช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้นเท่านั้น ขณะที่ระบบเศรษฐกิจต้องการมาตรการระยะกลางและระยะยาวเพื่อทำให้อัตราการขยายตัวเต็มศักยภาพและยั่งยืน สามารถรับมือความท้าทายในอนาคตได้ จึงต้องมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เช่น การยกระดับผลิตภาพโดยรวมผ่านการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม การผลิตและทุนมนุษย์ การขยายเครือข่ายการผลิตภายในทั้งแนวดิ่งและแนวนอนให้ครอบคลุมมากขึ้น การสร้างคลัสเตอร์การผลิตและระบบโลจีสติกส์ให้เชื่อมโยงกัน การลดการพึ่งพาตลาดภายนอกด้วยการทำให้กำลังซื้อภายในเข้มแข็งขึ้นด้วยการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและทำให้เกิดการกระจายตัวของรายได้ งานศึกษาของ Ahuja และ Nabar พบว่า ไทยได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมากเนื่องจากมีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนระหว่างกันสูง การลงทุนในสินค้าคงทนของจีนลดลงในอัตราร้อยละ 1 จะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงถึงร้อยละ 0.4

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ