GIT จัดการสัมมนา “ความเป็นไปได้ในการนำ Blockchain มาใช้สำหรับระบบติดตามแหล่งที่มาของพลอยสีไทย”หวังผู้ประกอบการไทยตื่นตัวรับสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 14, 2020 11:15 —ThaiPR.net

GIT จัดการสัมมนา “ความเป็นไปได้ในการนำ Blockchain มาใช้สำหรับระบบติดตามแหล่งที่มาของพลอยสีไทย”หวังผู้ประกอบการไทยตื่นตัวรับสถานการณ์การค้าที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ(องค์การมหาชน) สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT มุ่งส่งเสริมการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ประเดิมปี 2563 ด้วย การจัดการสัมมนาในหัวข้อ "ความเป็นไปได้ในการนำ Blockchain มาใช้สำหรับระบบติดตามแหล่งที่มาของพลอยสีไทย" เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทย ได้รับทราบถึงข้อมูล และแนวทางการนำระบบ Blockchain มาใช้สำหรับระบบติดตามแหล่งที่มาของพลอยสี เพื่อช่วยพัฒนาการค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบันนโยบายความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานเครื่องประดับ จัดเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่หรือประชากรในกลุ่ม Millennial ซึ่งจัดเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักและใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หากแต่กระบวนการสร้างความโปร่งใสนี้เป็นสิ่งที่มีความพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมมามากกว่าทศวรรษ เริ่มต้นจากอุตสาหกรรมเพชร ที่ประสบปัญหาจากเพชรแห่งความขัดแย้ง หรือ "conflict diamonds" ส่งผลให้มีการจัดตั้งกรอบความตกลง Kimberley Process Certificate Scheme (KPCS) ในปี 2546 เพื่อใช้แสดงความโปร่งใสของแหล่งที่มาของเพชรที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอุตสาหกรรมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ต่อมาในอุตสาหกรรมเครื่องประดับ โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องประดับแบรนด์เนมได้เพิ่มแรงกดดันต่อห่วงโซ่อุปทานเครื่องประดับ เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของวัตถุดิบและส่วนประกอบของเครื่องประดับ เพื่อให้แน่ใจถึงการดำเนินการทางธุรกิจอย่างมีจริยธรรม โดยระบบที่มีการประยุกต์ใช้ในปัจจุบันมีทั้งที่กำหนดโดย Responsible Jewelry Council หรือ RJC และที่มาจากอุตสาหกรรมเพชรและโลหะมีค่า ซึ่งบริษัทต่างๆ ที่เป็นสมาชิกต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในเรื่องการสำแดงที่มาของวัตถุดิบตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งนี้ในส่วนของอุตสาหกรรมพลอยสีนั้นมีความท้าทายและยากลำบากในการระบุที่มาของวัตถุดิบ เนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 80 มาจากการทำเหมืองแร่แบบดั้งเดิมหรือเหมืองขนาดเล็กซึ่งทำให้ไม่สามารถระบุ/แสดงแห่งที่มาที่ชัดเจนได้ การสัมมนา "ความเป็นไปได้ในการนำ Blockchain มาใช้สำหรับระบบติดตามแหล่งที่มาของพลอยสีไทย" ภายใต้โครงการศึกษาระบบการสำแดงและติดตามแหล่งที่มาของพลอยสี เป็นโครงการหนึ่งที่สถาบันได้จัดทำขึ้นมุ่งเน้นตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยสถาบันได้ร่วมมือกับบริษัท โบลลิเกอร์ แอนด์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ร่วมมือกันหาคำตอบให้ประเด็นนี้อย่างจริงจัง โดยได้ศึกษาแนวทาง และวิธีการของระบบติดตามแหล่งที่มาของอัญมณีในปัจจุบัน แนวโน้มการใช้เทคโนโลยีในการสนับสนุนการสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาของอัญมณีและเครื่องประดับในตลาด ตลอดจนปัจจัย ท้าทายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย เนื่องจากห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมพลอยสีนั้นค่อนข้างยาว มีผู้เล่นจำนวนมาก มีความซับซ้อนสูง และกระจัดกระจาย ส่งผลให้การสร้างความเชื่อมั่นผ่านการวางระบบติดตามแหล่งที่มาของพลอยสีในตลาดมีความท้าทายมากกว่าในอุตสาหกรรมอื่นๆ "จากแนวโน้มสำคัญข้างต้น กลไกการตรวจรับรองอัญมณี อย่างเช่น การตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ ผ่านใบรับรองของ GIT และเทคโนโลยี Blockchain ได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อรองรับความท้าทายของการติดตามแหล่งที่มาของอัญมณีและเครื่องประดับในอุตสาหกรรม ทั้งนี้ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการในต่างประเทศได้ริเริ่มนำระบบ Blockchain มาประยุกต์ใช้ในการติดตามแหล่งที่มาของเพชรและพลอยสีแล้ว ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายพลอยสีที่สำคัญของโลก จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งหาแนวทางในการปรับตัวและรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเทคโนโลยี Blockchain เข้ามาใช้ในห่วงโซ่อุปทานเครื่องประดับ"ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวปิดท้าย นอกจากนี้ สถาบันยังได้กำหนดจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อการแนะนำการใช้ระบบ Blockchain Traceability ในหัวข้อ "ความเป็นไปได้ในการนำ Blockchain มาใช้สำหรับระบบติดตามแหล่งที่มาของพลอยสีไทย" ภายในงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair 2020 ในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ตั้งแต่เวลา 9.30 – 16.30 น. ณ ห้องจูปิเตอร์ 7 อิมแพค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี ซึ่งผู้ที่สนใจจะได้ร่วมทำ Workshop เพื่อทดลองใช้ระบบติดตามแหล่งที่มาของพลอยสี เพื่อให้เข้าใจขั้นตอนของระบบอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสมัครเข้าร่วมการสัมมนาได้ที่ 02 – 634 – 4999 ต่อ 640 หรือ bd@git.or.th ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.git.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ