เร่งรณรงค์ให้ประชาชนทิ้งขยะลงถังให้ถูกประเภท

ข่าวทั่วไป Friday April 10, 2020 16:57 —ThaiPR.net

เร่งรณรงค์ให้ประชาชนทิ้งขยะลงถังให้ถูกประเภท กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์ นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้ปริมาณขยะติดเชื้อของ กทม. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณขยะประเภทหน้ากากอนามัยและวัสดุปนเปื้อนต่าง ๆ จากผู้ป่วยโควิด-19 และผู้ถูกกักกันประมาณ 1.68 ตัน/วัน โดยขยะที่จัดเก็บได้จะนำไปกำจัด โดยวิธีการเผาที่เตาเผามูลฝอยติดเชื้อที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขมและอ่อนนุช ซึ่งมีระบบบำบัดมลพิษ และดำเนินการ ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม กรณีการตั้งวางถังรองรับหน้ากากอนามัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ปัจจุบัน กทม. ได้กำหนดจุดตั้งวางถังขยะสำหรับขยะติดเชื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ ในสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ สำนักงานเขตทั้ง 50 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 69 แห่ง โรงพยาบาลสังกัด กทม. 11 แห่ง ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) และศาลาว่าการ กทม. (ดินแดง) โดยมีการติดป้ายสัญลักษณ์และป้ายข้อความ “สำหรับทิ้งหน้ากากอนามัยเท่านั้น” อย่างชัดเจนที่ถังรองรับหน้ากากอนามัยทุกจุด มีการกำกับดูแล เพื่อป้องกันการทิ้งขยะประเภทอื่นปะปน และป้องกันการรื้อค้น เพื่อการนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ กทม. ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือประชาชนแยกทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้ แล้วออกจากขยะทั่วไป เพื่อป้องกันการเป็นแหล่งแพร่เชื้อ โดยให้ประชาชนพับหน้ากากอนามัยใส่ถุงที่ปิดสนิท มัดปากถุงให้แน่น แล้วทิ้งให้กรุงเทพมหานครจัดเก็บ 2 วิธี ได้แก่ 1) เขียนหรือติดหน้าถุงว่า “หน้ากากอนามัย” แยกทิ้งให้รถเก็บขนมูลฝอยของสำนักงานเขต 2)ทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัยเฉพาะในจุดที่ กทม. กำหนด สำหรับหน้ากากอนามัยที่ประชาชนแยกทิ้งให้กับรถเก็บขนมูลฝอยของกรุงเทพมหานคร และจุดตั้งวางถังรองรับหน้ากากอนามัยจากประชาชน กทม. จะเก็บรวบรวมและนำไปกำจัดด้วยวิธีการเผาต่อไป ด้านมาตรการป้องกันอันตรายส่วนบุคคลของผู้ปฏิบัติงานในการจัดเก็บขยะ เพื่อป้องกันอันตรายจากขยะติดเชื้อ กทม. มีความห่วงใยต่อบุคลากรที่ปฏิบัติงานเก็บขนมูลฝอย โดยในระยะแรกที่เริ่มมีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีการอบรมให้ความรู้บุคลากรในการป้องกันตนเองและจัดให้มีการตรวจคัดกรองเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคให้กับบุคลากรก่อนการปฏิบัติงานทุกครั้ง พร้อมกำชับ กำกับดูแล และตรวจสอบการสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลทุกครั้งที่ปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด โดยพนักงานเก็บขนมูลฝอยให้สวมชุดป้องกันเชื้อโรค ถุงมือ หน้ากากอนามัย Face Shield และรองเท้าบูท ทั้งนี้ ในส่วนของการจัดเก็บขยะประเภทหน้ากากอนามัยที่ประชาชนแยกทิ้งหรือมูลฝอยที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรค ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสมูลฝอยโดยตรง เพื่อป้องกันอันตรายจากการสัมผัสเชื้อโรค ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีที่พบการนำขยะประเภทอื่นมาทิ้งในถังรองรับหน้ากากอนามัย ในจุดที่สำนักงานเขตมีการตั้งวางถังรองรับหน้ากากอนามัยเพิ่มเติม เช่น สถานที่ราชการ ชุมชน หน้าศูนย์การค้า หรือสถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น กทม. จะได้จัดทำป้ายข้อความหรือสัญลักษณ์ พร้อมคำแนะนำวิธีการทิ้งหน้ากากอนามัยให้ถูกวิธีอย่างชัดเจนและจะจัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุมดูแล ให้คำแนะนำในจุดตั้งวางถังรองรับหน้ากากอนามัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการทิ้งมูลฝอยประเภทอื่น ๆ ปะปน นอกจากนี้ กทม. จะได้เร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์มูลฝอยที่แหล่งกำเนิดและการคัดแยกมูลฝอย 4 ประเภท และทิ้งตามสีถังรองรับมูลฝอย ซึ่งประกอบด้วย 1) ถังสีเขียว สำหรับมูลฝอยอินทรีย์ 2) ถังสีเหลือง สำหรับมูลฝอยรีไซเคิล 3) ถังสีน้ำเงิน สำหรับมูลฝอยทั่วไป และ 4) ถังสีส้ม สำหรับมูลฝอยอันตราย โดยจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ