สอวช. เก็บข้อมูลเตรียมปรับแผนยุทธศาสตร์ อววน. เชิญกูรูด้านระบาดวิทยา แลกเปลี่ยน ผุดไอเดียเสนอโมเดล อสม. ในโรงงาน

ข่าวทั่วไป Friday May 15, 2020 09:37 —ThaiPR.net

สอวช. เก็บข้อมูลเตรียมปรับแผนยุทธศาสตร์ อววน. เชิญกูรูด้านระบาดวิทยา แลกเปลี่ยน   ผุดไอเดียเสนอโมเดล อสม. ในโรงงาน กรุงเทพฯ--15 พ.ค.--สอวช. สอวช. เก็บข้อมูลเตรียมปรับแผนยุทธศาสตร์ อววน. เชิญกูรูด้านระบาดวิทยา แลกเปลี่ยน ผุดไอเดียเสนอโมเดล อสม. ในโรงงาน พร้อมแนะสร้างค่านิยม New Normal Life ประกบ คลายล็อคดาวน์ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดเวทีแลกเปลี่ยน Recovery Forum Special Talk ในหัวข้อ The Next Step to Overcome COVID-19 Crisis ผ่านระบบการประชุมอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้รับเกียรติจาก นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค มาแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับนโยบายด้านสาธารณสุข แนวทางและมาตรการของประเทศไทยในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในแต่ละระยะ มีอะไรที่ยังต้องคงการควบคุม มีอะไรผ่อนคลายได้บ้าง ด้วยเงื่อนไขอะไร ระยะเปิดให้ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา ภาคประชาชน/สังคม กลับมาดำเนินการปกติ สามารถเปิดได้ประมาณเมื่อไร ต้องมีแนวทางอย่างไร ตลอดจนแลกเปลี่ยนประเด็นการปรับตัวของภาคสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ในระยะยาวหลังจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อสร้างแนวทางการรับมือการระบาดของโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต นพ.คำนวณ บอกว่า การแชร์ประสบการณ์ในวันนี้ ตนให้ความเห็นในนามส่วนตัว โดยได้นำเสนอในหลายประเด็นที่น่าสนใจ คือ ภาวะปกติใหม่ ในรูปแบบ Beyond COVID คือ การทำงานจากบ้าน และลดการพบปะเนื่องจากไม่มีใครรู้ว่าโควิดจะจบเมื่อใด แต่เชื่อว่าไม่ใช่หนังสั้นแน่นอน คาดกินเวลาอย่างน้อย 12-18 เดือน อย่างไรก็ตาม เราเคยคาดการณ์กันเพียงโรคอุบัติใหม่ที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นทุกสิบปี แต่ตอนหลังระยะเวลาการเกิดร่นขึ้นมาเร็ว และยากต่อการคาดการณ์ โดยเฉพาะวิกฤตโควิด ที่มาเร็วและแรง ภายใน 3 เดือน ระบาดไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 4 ล้านคน เสียชีวิตกว่า 2.9 แสนคน และไม่น่าจบเร็วเหมือนซาร์สที่จบเบ็ดเสร็จภายใน 8 เดือน เพราะประเทศต่าง ๆ ไม่ได้เตรียมการในเรื่องนี้ อาศัยวิธีการเรียนรู้จากการบริหารจัดการของประเทศที่เกิดการระบาดก่อนหน้า ใช้เครื่องมืออะไรก็ใช้ตามกัน ระยะหลังถึงมีการปรับให้เหมาะสมกับแต่ละประเทศของตน อย่างประเทศไทย มีการใช้ทั้งมาตรการด้านสาธารณสุข แต่มาตรการด้านสาธารณสุขจะใช้ได้เต็มที่ก็ต่อเมื่อโรคนั้น ๆ มีการแสดงอาการ แต่โควิดเป็นโรคที่สามารถแพร่เชื้อได้ก่อนมีอาการ จึงต้องอาศัยมาตรการทางสังคม เช่น การเว้นระยะห่างทางร่างกาย การใส่หน้ากากอนามัย เข้ามาช่วย และเมื่อมีการแพร่ระบาดในวงกว้างจึงมีมาตรการล็อคดาวน์ รณรงค์อยู่บ้านหยุดเชื้อช่วยชาติ เข้ามาเสริมให้การควบคุมการแพร่ระบาดเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ความตั้งใจที่วงการแพทย์และสาธารณสุขตั้งใจอยากเห็นภาพการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดคือแบบ Low Transmission คือ สามารถยอมรับได้หากมีการแพร่เชื้อในระดับต่ำที่ระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทยรองรับได้ กล่าวคือ เรามีเครื่องมือ อุปกรณ์ สถานที่ เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย นอกจากนี้ นพ.คำนวณ ให้รายละเอียดถึงความลึกซึ้งของภาวะ New normal life ว่า วิกฤตจากโควิดครั้งนี้ เป็นวิกฤตการณ์ที่ส่งผลให้เกิดโอกาสในการเปลี่ยนแปลงค่านิยมที่จะฝังลึกในจิตใจของสังคม ทั้งค่านิยมในการคำนึงถึงความปลอดภัยมาก่อนความสนุนสนาน ความสะดวกสบาย, งานสังคมในรูปแบบเล็กแต่มีความหมาย, ลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น เช่น บุหรี่ เหล้า การพนัน ลดการใช้พลังงาน ลดเวลาที่เปล่าประโยชน์ ลดการพบแพทย์ ค่านิยมที่เน้นเศรษฐกิจพอเพียงในทุกระดับ และค่านิยมการคำนึงถึงส่วนรวม ลดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น ที่ประชุมได้ถามถึงแนวทางในการดำเนินการเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อได้ โดยเฉพาะการทยอยเปิดสถานประกอบการ ห้างร้านต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง โดยสถานที่ที่ต้องมีมาตรการเข้มข้นในการดูแลคือ สถานบันเทิง สนามมวย และแหล่งการพนันต่าง ๆ ที่ค่อนข้างมีที่ลับเฉพาะ การตรวจสอบดูแลอาจไม่ทั่วถึง ส่วนมาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ ยังต้องดูและเป็นพิเศษ โดยยังมีหลายแนวความคิดในการบริหารจัดการเรื่องนี้ เช่น อาจจะมีการทำข้อตกลงระหว่างประเทศในการเดินทาง มีการใช้เทคโนโลยีในการคัดกรองและติดตามคนที่เดินทางเข้า-ออก แต่เรื่องการเปิดประเทศในรูปแบบก่อนเกิดการระบาดก็จะไม่เกิดขึ้นเร็วเช่นกัน ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้ชื่นชมมาตรการด้านสาธารณสุขของไทย และได้สอบถามถึงความเป็นไปได้ของแนวคิดที่จะพัฒนาและส่งเสริมทักษะเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ อสม. ซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศถึงประมาณ 1 ล้านคน และเป็นหัวใจสำคัญในการตรวจติดตามระดับพื้นที่อีกทั้งเป็นด่านแรกที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน เพื่อแบ่งเบาภาระบุคลกรทางการแพทย์ ในเรื่องนี้ นพ.คำนวณ กล่าวยอมรับถึงศักยภาพของท้องถิ่นที่ทำได้ดีกว่ากรุงเทพฯ เพราะมี อสม. ที่ทำงานร่วมกับท้องถิ่น แต่ในเมืองใหญ่ กลไก อสม. นำมาใช้ได้ยาก แต่หากจะนำโมเดลดังกล่าวมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม มีอาสาสมัครในกลุ่มแรงงานโดยเฉพาะแรงงานต่างด้าวมาทำหน้าที่เสมือน อสม. และมีการเข้าไปให้ความรู้ทักษะกับกลุ่มอาสาสมัครเหล่านั้น ก็เป็นอีกแนวทางที่น่าสนใจและสามารถที่จะขยายผลในเขตเมืองได้ ประเด็นที่หลายคนเป็นห่วงคือ การเปิดเรียน วันที่ 1 ก.ค. วันเปิดเรียน ควรมีมาตรการเช่นไร นพ.คำนวณ บอกว่า การเปิดเดือนกรกฎาคม ถือว่าเหมาะสม เพราะหากเปิดเดือนมิถุนายน จะสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งหากมีใครป่วยก็จะเกิดข่าวลือและการความหวาดระแวง อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่า ควรจะมีการให้นักเรียนใส่หน้ากากอนามัยเป็นการป้องกัน และรูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนควรลดการใช้เสียง และลดการพูดคุยลงก็จะช่วยได้ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเป็น ฮับ ของภูมิภาคอาเซียน ในการผลิตวัคซีน เนื่องจากประเทศไทยได้รับคำชมเชยจากทั่วโลกถึงมาตรการป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี จนหลายประเทศสนใจที่จะเข้ามาลงทุน รวมถึงการส่งบุตรหลานเข้ามาศึกษาในอนาคต โดยประเด็นที่ได้จากการแลกเปลี่ยนหารือในครั้งนี้ สอวช. จะรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการปรับแผนยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งมีผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนเข้าร่วมรับฟัง เพื่อเตรียมปรับแผนการให้ทุนที่สอดคล้อง ตอบโจทย์ประเทศอย่างมีศักยภาพด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ