กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรวางแผนรับมือฝนทิ้งช่วงกลางฤดูฝน ปี 2563

ข่าวทั่วไป Wednesday May 20, 2020 11:26 —ThaiPR.net

กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรวางแผนรับมือฝนทิ้งช่วงกลางฤดูฝน ปี 2563 กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรวางแผนรับมือฝนทิ้งช่วงกลางฤดูฝน ปี 2563 แนะปลูกพืชอายุสั้น เก็บเกี่ยวผลผลิตไว และสร้างแหล่งกักเก็บสำรองน้ำเพื่อการเกษตร นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยาเรื่องการเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2563 ที่เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการตามเกณฑ์ทางอุตุนิยมวิทยาตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป และจะสิ้นสุดลงในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 โดยในระยะแรกของฤดู ปริมาณและการกระจายตัวของฝนจะยังไม่สม่ำเสมอ และจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ สำหรับช่วงปลายเดือนมิถุนายน – กลางเดือนกรกฎาคม จะมีปริมาณฝนตกน้อย ซึ่งอาจส่งผลให้มีน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน จะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ประมาณ 1 - 2 ลูก ส่วนบริเวณภาคใต้นั้นจะมีฝนตกต่อไปอีกจนถึงกลางเดือนมกราคม 2564 ซึ่งถึงแม้ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศปีนี้จะน้อยกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 5 แต่เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาจะมีปริมาณของฝนมากกว่า กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอเตือนให้เกษตรกรที่จะเพาะปลูกพืชในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนนี้ วางแผนกักเก็บสำรองน้ำไว้ใช้ในเวลาที่ฝนทิ้งช่วง หรือปลูกพืชอายุสั้น/พืชผัก เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง หรือถั่วเขียว เป็นต้น ซึ่งจะใช้ระยะเวลาเพาะปลูกประมาณ 25-40 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ เพื่อป้องกันผลผลิตเสียหายกรณีขาดแคลนน้ำในช่วงดังกล่าว ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร แนะนำให้เกษตรกร โดยเฉพาะผู้ที่ทำการเพาะปลูกนอกเขตชลประทาน สร้างแหล่งกักเก็บสำรองน้ำในช่วงฝนทิ้งช่วง เพื่อเตรียมพร้อมกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรในช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายนตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้ โดยขอย้ำให้เกษตรกรติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างต่อเนื่อง หรือสามารถขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ได้ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอและสำนักงานเกษตรจังหวัดใกล้บ้าน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ