พลเอก ประวิตร สั่งทุกหน่วยภายใต้ กอนช. เร่ง 8 มาตรการคุมน้ำท่วมปี 63 ดึงธนาคารน้ำใต้ดินเก็บน้ำหลาก

ข่าวทั่วไป Thursday June 11, 2020 14:16 —ThaiPR.net

พลเอก ประวิตร สั่งทุกหน่วยภายใต้ กอนช. เร่ง 8 มาตรการคุมน้ำท่วมปี 63 ดึงธนาคารน้ำใต้ดินเก็บน้ำหลาก กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2563 ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้คณะทำงาน กอนช. อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงบประมาณ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้มีฝนตกในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลังจากนี้ โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณภาคภาคเหนือและภาคใต้ฝั่งตะวันตก ดังนั้น ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายร่วมมือกันเตรียมมาตรการรองรับสถานการณ์น้ำที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างรัดกุมและรอบด้าน รวมทั้งให้มีการเตรียมแผนการบริหารจัดการน้ำสำหรับแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างยั่งยืนควบคู่ไปพร้อมกันด้วย พร้อมกันนี้ที่ประชุมได้ร่วมติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติงานตาม 8 มาตรการรองรับสถานการณ์ฤดูฝน ปี 2563 โดยขณะนี้หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้ดำเนินงานรุดหน้าไปแล้วในหลายส่วน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการประเมินสถานการณ์ในช่วงฤดูฝนปีนี้ว่าหลายพื้นอาจที่มีฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมฉับพลัน ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานเร่งรัดดำเนินการ ดังนี้ 1) ให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการจัดทำแผนและมาตรการรับน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำและพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพื่อรองรับน้ำหลาก ให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2563 สำหรับทุ่งรับน้ำใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ ลำน้ำยัง จ.ร้อยเอ็ด และบางพลวง จ.ปราจีนบุรี ให้จัดเตรียมพื้นที่ให้แล้วเสร็จในปีต่อไป 2) ให้กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เร่งจัดทำเกณฑ์การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำและเกณฑ์ระบายน้ำในส่วนที่เหลือ ให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2563 3) ให้กรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร และจังหวัดในเขตปริมณฑล จัดทำเกณฑ์การระบายน้ำ การควบคุมระดับน้ำ การสูบน้ำบริเวณประตูระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 13 แห่ง ให้ชัดเจน และกำหนดพื้นที่เฝ้าระวังและแผนป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานคร 4) ให้กรมชลประทาน กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมเจ้าท่า การรถไฟแห่งประเทศไทย และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ปรับแผนงานปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ ปี 2563 ให้แล้วเสร็จก่อนฤดูน้ำหลาก พร้อมจัดทำแผนงานส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จ ในปี 2565 และ 5) ให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เร่งรัดการกำจัดผักตบชวาในแม่น้ำสายหลักให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2563 ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถรองรับสถานการณ์ได้ทันเวลาและลดผลกระทบที่อาจเกิดต่อทรัพย์สิน ชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชน ให้ได้มากที่สุด ด้าน ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังได้มีความห่วงใยต่อปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มักประสบปัญหาการระบายน้ำไม่ทัน ดังนั้น เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานภายใต้ กอนช. ด้านบูรณาการและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลขึ้น จากผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาได้ดำเนินการขุดลอกคู คลอง สองฝั่งถนนวิภาวดีรังสิต และคลองเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิตลงคลองเปรมประชากรตั้งแต่เขตดอนเมืองถึงเขตดินแดง แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันการดำเนินงานจะเน้นย้ำในส่วนของด้านรองรับสถานการณ์น้ำหลากเนื่องจากเข้าสู่ฤดูฝน แต่ กอนช. ยังคงให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในวันนี้ ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปี 2562/63 โดยขณะนี้ได้ดำเนินการแล้ว 1,408 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 86.59 ของจำนวนพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว สามารถเพิ่มปริมาณน้ำบาดาล 47.71 ล้าน ลบ.ม./ปี ประชาชนได้รับประโยชน์จากน้ำบาดาล 203,891 ครัวเรือน สามารถเพิ่มปริมาณน้ำดิบผลิตประปา 61.54 ล้าน ลบ.ม./ปี ผู้ใช้น้ำประปาเพิ่มขึ้น 183,192 ราย มีน้ำประปาสำรอง 0.70 ล้าน ลบ.ม. พร้อมทั้งได้ร่วมติดตามความก้าวหน้าของโครงการเร่งด่วนเพื่อการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 โดยขณะนี้ดำเนินการแล้ว จำนวน 286 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 15.57 ของจำนวนพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว โดยสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ 61.10 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 255,938 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 81,391 ครัวเรือน จ้างแรงงาน 6,159 คน ซึ่งทุกหน่วยงานจะเร่งดำเนินการให้ครบทุกพื้นที่เป้าหมายเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วต่อไป นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการในการเร่งพัฒนาธนาคารน้ำใต้ดิน โดยมี สทนช. และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เป็นเจ้าภาพหลัก พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนการพัฒนาบ่อน้ำบาดาลและธนาคารน้ำใต้ดิน ตามหลักเกณฑ์ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเสนอ โดยเฉพาะท้องถิ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดพื้นที่ดำเนินการเก็บน้ำใต้ดินให้มากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการธนาคารน้ำใต้ดินภายใต้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยมี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ซึ่ง สทนช.จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ