หนุนเกษตรกรปลูก “ถั่วลิสงพันธุ์พระราชทาน” สินค้า Future Crop จ.นครราชสีมา สร้างรายได้งามให้แก่เกษตรกร

ข่าวทั่วไป Friday August 7, 2020 11:47 —ThaiPR.net

หนุนเกษตรกรปลูก “ถั่วลิสงพันธุ์พระราชทาน” สินค้า Future Crop จ.นครราชสีมา สร้างรายได้งามให้แก่เกษตรกร กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่าถั่วลิสง เป็นพืชไร่ตระกูลถั่วที่เกษตรกรนิยมปลูกอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศ แหล่งปลูกสำคัญอยู่ที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจากการลงพื้นที่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา(สศท.5) พบว่า สินค้าทางเลือกที่มีศักยภาพในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา คือ “ถั่วลิสงพันธุ์พระราชทาน” ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรทางเลือกที่มีอนาคต (Future Crop) เนื่องจากเป็นพืชที่มีอายุสั่น ใช้น้ำน้อย เป็นที่ต้องการของตลาด และสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี โดยเกษตรกรนิยมปลูกถั่วลิสงเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างหลากหลายในพื้นที่หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตพืชไร่ อาทิ มันสำปะหลังโรงงาน เป็นต้น หากพิจารณาด้านการผลิตและผลตอบแทนของถั่วลิสงพันธุ์พระราชทาน หรือพันธุ์กาฬสินธุ์ 2 พบว่า มีพื้นที่ปลูก จำนวน 2,000 ไร่ (ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา) ให้ผลผลิตรวมทั้งหมดประมาณ 2,400 ตัน/ปี เกษตรกรผู้ปลูก จำนวน 500 ราย พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอครบุรี เสิงสาง และหนองบุญมาก เนื่องจากมีสภาพพื้นที่ดอน ลักษณะดินร่วนปนทราย เหมาะสำหรับการเพาะปลูก ซึ่งเกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์พระราชทาน ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีรสชาติค่อนข้างหวาน กรอบนุ่มกว่าถั่วลิสงทั่วไป ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด ราคาเมล็ดพันธุ์อยู่ที่ 120-150 บาท/กิโลกรัม ต้นทุนการผลิตจนถึงเก็บเกี่ยวเฉลี่ย 12,924 บาท/ไร่/รอบการผลิต เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เมื่อมีอายุ 95-110 วัน ให้ผลผลิตเปลือกสดเฉลี่ย 1,295 กิโลกรัม/ไร่/รอบการผลิต ราคาที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ย 15 – 25 บาท/กิโลกรัม (ราคา ณ เดือนมิถุนายน 2563) สร้างรายได้เฉลี่ย 30,227 บาท/ไร่/รอบการผลิต ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย (กำไร) 17,303 บาท/ไร่/รอบการผลิต นอกจากนี้ เกษตรกรได้นำผลผลิตบางส่วนมาแปรรูปเป็น ถั่วต้ม และถั่วคั่ว ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70 จำหน่ายให้กับพ่อค้าคนกลางซึ่งมารับซื้อถึงไร่ ส่วนร้อยละ 30 ส่งจำหน่ายที่ตลาดสำคัญของจังหวัด ได้แก่ ตลาดดอนแขวน เทิดไท และสุรนคร ด้านนายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวเสริมว่า การปลูกถั่วลิสงจะมีต้นทุนค่อนข้างสูง เนื่องจากเกษตรกรนิยมปลูกโดยใช้ระบบน้ำหยด จึงมีค่าไฟฟ้าค่อนข้างสูงกว่าพื้นที่อื่น และมีค่าจ้างแรงงานเก็บผลผลิตในอัตรากิโลกรัมละ 5 บาท แต่เมื่อพิจารณาผลผลิตและผลตอบแทนที่เกษตรกรได้รับถือว่าคุ้มค่า โดยในส่วนของจังหวัดนครราชสีมามีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชตระกูลถั่วอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดำเนินการภายใต้โครงการส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชตระกูลถั่วเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ดีในชุมชน สร้างแรงจูงใจแก่เกษตรกรให้หันมาปลูกพืชตระกูลถั่วเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชตระกูลถั่วแก่เกษตรกร รวมถึงสามารถผลิตและขยายเมล็ดพันธุ์ให้กับเกษตรกรในชุมชน ดังนั้น การปลูกถั่วลิสงจึงเป็นอาชีพที่เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อยที่พึ่งพาแรงงานในครัวเรือน ทั้งนี้ หากเกษตรกรหรือท่านใดที่สนใจข้อมูลการผลิตถั่วลิสงพันธุ์พระราชทาน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.5 โทร.0 4446 5120 หรืออีเมล zone5@oae.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ