กอปภ.ก. ประสาน 57 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก จากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่น "โมลาเบ" ในช่วงวันที่ 28 – 30 ต.ค.63

ข่าวทั่วไป Wednesday October 28, 2020 10:34 —ThaiPR.net

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 57 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 28 ? 30 ตุลาคม 2563 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วเครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้อำนวยการกลาง กล่าวว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาพอากาศ และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่กับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุไต้ฝุ่น "โมลาเบ" (พายุระดับ 5) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่า จะเคลื่อนขึ้นฝั่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามตอนกลางในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับลมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้บางพื้นที่มีฝนตกหนักและมีลมแรง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 57 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง น้ำท่วมขัง และ คลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 28 ? 30 ตุลาคม 2563 แบ่งเป็น พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขัง ประกอบด้วย ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ภาคกลางและภาคตะวันออก 25 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน พร้อมวิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง อีกทั้งจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที พร้อมให้หน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามข่าวสารจากทางราชการและระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ฝนตกสะสม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาและพื้นที่ลุ่มต่ำ นอกจากนี้ ได้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน ชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง รวมถึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ