ไบโอเทค สวทช. ได้รับสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง (Lancang-Mekong Cooperation Special Fund) 2 โครงการกว่า 27 ล้านบาท

ข่าวทั่วไป Friday March 19, 2021 14:57 —ThaiPR.net

ไบโอเทค สวทช. ได้รับสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง (Lancang-Mekong Cooperation Special Fund) 2 โครงการกว่า 27 ล้านบาท

โครงการ  Train-the-Trainer Program under Lancang - Mekong Cooperation to Enhance Production Capacity and People's Livelihood by Improving the Value Chain for Cassava Cultivation and Application: Clean Cassava Chips, Native Starch, Modified Starch, Ethanol and Biogas Production ได้รับทุนสนับสนุน 13,732,488.11 บาท

มันสำปะหลังถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่สำคัญของประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2562 ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกผลผลิตมันสำปะหลังรายใหญ่ที่สุดของโลกมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 68% ทั้งนี้หากรวมผลผลิตมันสำปะหลังในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มแม่น้ำโขงจะพบว่ามีส่วนแบ่งตลาดโลกสูงถึง 90%

ดร.วรินธร สงคศิริ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวิศวกรรมชีวเคมีและชีววิทยาระบบ ศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. ในฐานะหัวหน้าโครงการเปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ไบโอเทค มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสมาคมแป้งมันสำปะหลังไทย ได้เล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมการผลิตแป้งมันสำปะหลัง จึงมุ่งสร้างองค์ความรู้ ดำเนินงานวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การใช้พลังงานและทรัพยากรตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน จนสามารถช่วยยกระดับอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังไทย จากความสำเร็จของโครงการและองค์ความรู้ที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี เรามีความพร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีไปยังอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งประกอบด้วยประเทศกัมพูชา สปป.ลาว เวียดนาม ประเทศไทย และจีน (CLVT and China)"

ด้วยเหตุนี้ ทีมวิจัยฯ จึงได้ริเริ่มโครงการ Train-the-Trainer Program ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้เชี่ยวชาญของห่วงโซ่มันสำปะหลัง ซึ่งประกอบด้วย เกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลัง นักวิชาการ บุคลากรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังตลอดห่วงโซ่การผลิต ควบคู่กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้มแข็งด้านการผลิตและการแข่งขันของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังของภูมิภาค

ดร. กาญจนา แสงจันทร์  นักวิจัยทีมวิจัยการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร  ไบโอเทค หัวหน้าโครงการร่วม กล่าวเพิ่มเติมว่าหลักสูตรการอบรมในโครงการแบ่งเป็น 4 หลักสูตร ครอบคลุมหัวข้อสำคัญเริ่มตั้งแต่ "ต้นน้ำ" คือ การบริหารจัดการเทคโนโลยีการปลูกมันสำปะหลังและการปรับปรุงพันธุ์เพื่อการเพิ่มผลผลิตและทำให้มันสำปะหลังมีคุณสมบัติเหมาะกับการแปรรูปหรือใช้งานในอุตสาหกรรมเฉพาะ "กลางน้ำ" คือ การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลัง ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้พลังงาน ทรัพยากร และการปล่อยของเสียจากอุตสาหกรรม จนถึง "ปลายน้ำ" คือ การใช้เทคโนโลยีในการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต ได้แก่ น้ำเสียและกากมันสำปะหลังมาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน รวมทั้งการผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มจากมันสำปะหลัง"

โดยโครงการดังกล่าว คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมการอบรมทั้งจากภาครัฐและเอกชนมากกว่า 120 คน จากประเทศในแถบลุ่มน้ำโขง และเมื่อเสร็จสิ้นโครงการคาดว่าจะสามารถขยายเครือข่ายการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสำหรับอุตสาหกรรมแป้งมันสำปะหลังจากประเทศไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับโครงการพัฒนาดัชนีจุลินทรีย์ด้วยวิธีทางอณูชีววิทยาและดีเอ็นเอบาร์โค้ดเพื่อการประเมินสถานภาพของระบบนิเวศในลุ่มน้ำแม่โขง-ล้านช้าง (A Microbial-based Index to Assess the Ecological Status of the Lancang-Mekong River based on Molecular Approaches and DNA Barcoding) หรือโครงการ MekongDNA ได้รับทุนวิจัยจำนวน 13,690,937.46 บาท  

โครงการ MekongDNA มีวัตถุประสงค์เพื่อนำวิธีการเมตาจีโนมิกส์และดีเอ็นเอบาร์โค้ดมาใช้พัฒนาดัชนีจุลินทรีย์เพื่อการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำบริเวณลุ่มน้ำแม่โขง-ล้านช้างอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร. สุภาวดี อิงศรีสว่าง นักวิจัยอาวุโส ศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติและหัวหน้าโครงการ MekongDNA ให้ข้อมูลว่าวิธีการเมตาจีโนมิกส์และดีเอ็นเอบาร์โค้ดเป็นวิธีการวิเคราะห์ประเมินความหลากหลายและความชุกชุมของจุลินทรีย์ทั้งหมดหรือไมโครไบโอมที่มีอยู่ในตัวอย่างน้ำจากพื้นที่ 3 ส่วนหลักของลุ่มน้ำแม่โขง-ล้านช้าง ได้แก่ ส่วนต้นของแม่น้ำที่อยู่ในประเทศจีน ส่วนกลางของแม่น้ำที่ไหลผ่านประเทศไทยและส่วนปลายของแม่น้ำที่ไหลลงทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ไมโครไบโอมของตัวอย่างน้ำบริเวณลุ่มน้ำแม่โขง-ล้านช้างจะถูกนำมาบูรณาการกับข้อมูลด้านอื่นๆ เช่น คุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของน้ำเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่และฤดูกาลของความหลากหลายและความชุกชุมของจุลินทรีย์ในแม่น้ำและพัฒนาดัชนีชีวภาพในการบ่งชี้คุณภาพน้ำในแม่น้ำซึ่งเป็นประโยชน์กับการพัฒนาแหล่งน้ำและการกำหนดนโยบายอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้โครงการยังมุ่งสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและให้ความรู้ด้านการประเมินระบบนิเวศของแม่น้ำด้วยดัชนีจุลินทรีย์ผ่านการมีส่วนร่วมในรูปแบบนักวิทยาศาสตร์พลเมืองและการสร้างขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์ในการพัฒนาการติดตามประเมินสถานภาพทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพของระบบนิเวศแม่น้ำ

โครงการ MekongDNA เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติร่วมกับพันธมิตรหลายหน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช., ศูนย์ป้องกันวิกฤติน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทย, Institute of Microbiology, Chinese Academy of Sciences (IMCAS), Lancang-Mekong Environmental Cooperation Center, กระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม (Ministry of Ecology and Environment) สาธารณรัฐประชาชนจีน  และ Vietnam National University, Ho Chi Minh City, University of Science ประเทศเวียดนาม

กองทุนพิเศษแม่โขง- ล้านช้าง (Lancang-Mekong Cooperation Special Fund) จัดตั้งขึ้นภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง - ล้านช้าง ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา สปป. ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม ไทย และสาธารณรัฐประชาชนจีน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความร่วมมือในเขตเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง โดยเน้นให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมกระบวนการพัฒนาอาเซียน


แท็ก Application   สวทช.   ช้าง   rain   gas   APP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ