ม.มหิดล ริเริ่มใช้ Solar Cell Rooftop ที่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี หวังลดค่าใช้จ่าย และนำมาพัฒนาระบบให้บริการผู้ป่วย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 12, 2021 15:31 —ThaiPR.net

ม.มหิดล ริเริ่มใช้ Solar Cell Rooftop ที่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี หวังลดค่าใช้จ่าย และนำมาพัฒนาระบบให้บริการผู้ป่วย

ไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาล ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมากสำหรับเครื่องมือในการตรวจวินิจฉัย และอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางการแพทย์ ซึ่งหากไฟดับ หรือไฟสำรองไม่เพียงพออาจหมายถึงการต้องสูญเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีการใช้ไฟฟ้าจากระบบปรับอากาศ และระบบสารสนเทศทางการแพทย์ ซึ่งเป็นเหตุให้มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก

ด้วยความตระหนักและใส่ใจในคุณภาพการให้บริการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ในฐานะของโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งให้บริการโดยไม่ได้มุ่งผลกำไร คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การบริหารโดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีฯ ได้ริเริ่มนำระบบการติดตั้งเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Cell Rooftop) มานำร่องใช้ที่สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ ณ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ด้วยความร่วมมือจากภาคเอกชนที่ผ่านการประมูล ซึ่งครอบคลุมทั้งการเป็นฝ่ายลงทุน ติดตั้ง และดูแลอย่างครบวงจร โดยจะทำให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าใช้เองได้ที่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นโรงพยาบาลที่รักษาผู้ป่วยในเขตจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย และส่วนที่เป็นโรงเรียนแพทย์ ซึ่งมีทั้งอาคารเรียนและวิจัยทางการแพทย์ โดยจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึงร้อยละ 37 ในระยะแรก และเมื่อครบสัญญาภายในอีก 15 ปีข้างหน้า จะได้ใช้ไฟฟ้าที่เกิดจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา อธิบายว่า Solar Cell Rooftop ที่จะนำมานำร่องใช้ที่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ นั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกใช้ติดตั้งบนอาคาร ซึ่งจะเป็นการรับพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า ทำให้ผู้ที่อยู่ภายในอาคารได้รับความเย็นจากเครื่องปรับอากาศดีขึ้นโดยใช้พลังงานไฟฟ้าลดลง และอีกส่วนจะนำมาติดตั้งบนทางเดิน (Walk Way) ที่เชื่อมระหว่างอาคาร ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง และคุ้มค่าต่อการใช้งาน ซึ่งจะลงทุนก่อสร้าง ติดตั้ง และดูแลอย่างครบวงจรโดยภาคเอกชนที่ผ่านการประมูล และพร้อมจะส่งมอบแก่ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อบริหารจัดการเองในอีก 15 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม โครงการ Solar Cell Rooftop ดังกล่าวยังคงไม่สามารถรองรับปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าทั้งหมดของ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ได้ 100% คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้มีการวางแผนใช้พื้นที่ที่อยู่ไม่ไกลจาก สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ติดตั้ง Solar Farm หรือโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ซึ่งจะรองรับการใช้กระแสไฟฟ้าของโครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุของ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กำลังดำเนินการต่อไปอีกด้วย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์รณชัย คงสกนธ์ รองคณบดีฝ่ายการคลังและพัสดุ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า โครงการ Solar Cell Rooftop โดยแนวคิดของ คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จะแล้วเสร็จและทำให้ประชาชนที่มาใช้บริการรักษาพยาบาลที่ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ได้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ทำให้เป็น Green Campus พร้อมภูมิทัศน์ที่สวยงามปลายปี 2564 โดยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ นอกจากจะเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อน และมีส่วนส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมหิดลยังคงเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอันดับ 1 ของประเทศไทย และพัฒนาสู่อันดับโลกที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว ที่สำคัญจะเป็นการทำให้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถให้บริการประชาชนด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ซึ่งจะส่งผลให้สามารถนำไปพัฒนาระบบการให้บริการที่ดีขึ้นสำหรับประชาชนได้ต่อไปอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ