เดินหน้า "มข.เพื่อสังคม" อย่างต่อเนื่อง ผุด 'มาตรการ-นวัตกรรม-งานวิจัย' ร่วมสู้ภัยโควิด-19

ข่าวทั่วไป Wednesday August 25, 2021 09:17 —ThaiPR.net

เดินหน้า

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ไปทั่วโลก ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบอย่างมากมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึง สุขภาพ และการสูญเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากมายบนโลกใบนี้ จนถึงวันนี้ มีผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 200 ล้านคน และเสียชีวิตประมาณ 5 ล้านราย เฉพาะประเทศไทย มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทะลุ 1 ล้านคน และเสียชีวิตเกือบ 1 หมื่นรายแล้ว โดย "เดลต้า" ได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักในการแพร่ระบาดและคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลก

มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เก่าแก่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ทั้งยังเป็นมหาวิทยาลัยด้านการวิจัย มีคณะแพทยศาสตร์และที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุขอีกหลายคณะ รวมถึงโรงเรียนแพทย์ มีนโยบายที่จะช่วยเหลือนักศึกษา บุคลากร และสังคมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มข.กล่าวว่า กว่า 2 ปีของการแพร่ระบาดของโควิด-19 มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนานวัตกรรมหลากหลายเพื่อช่วยเหลือสังคม โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งจากฝ่ายนวัตกรรมและวิสาหกิจ คณะแพทยศาสตร์ ทีมสำนักหอสมุด KKU maker สำนักงานเทคโนโลยีดิจิทัล คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ สถาบันนาโนฯ โรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นและเครือข่าย ที่ได้ร่วมกันประดิษฐ์และจัดทำ "นวัตกรรมสู่สังคม" เพื่อมอบให้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์และโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขที่ขาดแคลน จำนวนกว่า 28 รายการ อาทิ ระบบ Thermo Scan เพื่อตรวจคัดกรองอุณหภูมิผู้ใช้บริการ, ระบบ VDO สื่อสารสองทาง สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ติดเชื้อ COVID-19, หุ่นยนต์สื่อสารสองทิศทางและระบบลำเลียงอาหารและยา , SWAP box จากแผ่นอะคริลิกป้องกันการไอหรือจามขณะเก็บสิ่งส่งตรวจ , Aerosol box จากแผ่นอะคริลิก ป้องกันการไอหรือจามขณะสอดท่อหายใจ , Wireless/extended stethoscope ลดการสัมผัสผู้ป่วยด้วยหูฟัง

รวมทั้ง ห้องตรวจไม่ต้องใช้หมอ (คนไข้ใน) , ตู้อบฆ่าเชื้อด้วย UVC สำหรับ reuse ชุด PPE เพื่อส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ , ตู้อบฆ่าเชื้อ ด้วย ozone สำหรับ reuse หน้ากาก N95 , ตู้อบฆ่าเชื้อ ด้วย ozone สำหรับ reuse ชุด PPE เพื่อส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ , การควบคุมการให้น้ำเกลือแบบรีโมทคอนโทรล (PAPR ประดิษฐ์)ให้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ , Negative Pressure จัดทำโดย ทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมฯ , PAPR (Powered Air-Purifying Respirator)และแบตเตอรี่สำรอง , ถังขยะไร้สัมผัสสำหรับทิ้งหน้ากากอนามัย เพื่อใช้ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น , หุ่นยนต์ลำเลียงของในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ covid , Portable HEPA (High Efficiency Particulate Air) ให้กับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ , PPE (Personal Protective Equipment) ให้บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ,Positve Pressure Mask ให้บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลศรีนครินทร์ 27.) Mobile UVC สำหรับฆ่าเชื้อ และ TOT Positve Pressure สำหรับกั้นเก็บตัวอย่างเชื้อ

รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้น ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อมีเพิ่มมากขึ้น เกิดภาวะเตียงเต็มในโรงพยาบาลต่างๆ มข.จึงได้จัดทำระบบการจัดการผู้ป่วยกักตัวอยู่ที่บ้าน "Home Isolation มข." เพื่อปูทางให้โรงพยาบาลทั่วประเทศนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยอาการไม่มากซึ่งกักตัวที่บ้าน โดยสามารถดูแลตัวเองและติดต่อกับหมอที่โรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ระบบ "Home Isolation Management System" เป็นไปตามมาตรฐาน Telemedicine ที่แพทยสภาได้ประกาศไว้ มีองค์ประกอบ 2 ประการ คือ 1.ผู้ใช้งาน หรือผู้ป่วยจะต้องยืนยันตัวตน และ 2.ต้องมีบันทึกข้อมูลที่ผู้ป่วยบันทึกเข้ามาในระบบและการสื่อสารระหว่างทำการรักษา ไว้ในระบบ database เพื่อใช้ตรวจสอบย้อนหลัง ซึ่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ได้สั่งการให้สถานพยาบาลทุกแห่งในจังหวัด ใช้ระบบ Home Isolation มข. เพื่อเตรียมพร้อมรับคนไข้ที่อาจมาจากพื้นที่สีแดงหรือสีแดงเข้ม เข้าไปสู่ระบบการดูแลแบบแยกตัวที่บ้าน นอกจากนี้ ยังมีโรงพยาบาลในจังหวัดใกล้เคียง ที่นำระบบดังกล่าวไปใช้ เช่น รพ.สุทธาเวช จ.มหาสารคาม รพ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ รพสต.จ.ร้อยเอ็ด รพ.หลังสวน จ.ชุมพร และรพ.ที่จ.ระนอง กำลังจะเริ่มใช้งาน

อธิการบดี มข. กล่าวด้วยว่า สำหรับนวัตกรรมสำหรับการดูแลผู้ป่วยอย่าง "ระบบการดูแลและติดตามอาการผู้ป่วยโควิด-19 แบบแยกตัว" จัดทำขึ้นเพื่อใช้บริหารจัดการกลุ่มผู้ป่วยแบบแยกตัว ทั้งแบบ Home Isolation และการดูแลตนเองในระบบชุมชน (Community Isolation) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้รวดเร็วขึ้น และติดตามดูแลอาการผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด สะดวกต่อตัวผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ โดยจุดเด่นของระบบ คือ 1.ผู้ป่วยไม่ต้องติดตั้งแอพพลิเคชั่นใหม่ในโทรศัพท์ ยกเว้นกรณีไม่มีแอพพลิชั่นไลน์ 2.บัญชีผู้ใช้ไลน์หนึ่งๆ ใช้กับผู้ป่วยได้หลายคน 3.บันทึกข้อมูลระบบได้รวดเร็ว โดยให้กรอกเฉพาะข้อมูลสัญญาณชีพ และอาการ เนื่องจากระบบเชื่อมบัญชีไลน์กับฐานข้อมูลผู้ป่วยแล้ว และ 4.เป็นไปตามมาตรฐานการแพทย์ทางไกล (Tele-medicine) สากล โดยเริ่มใช้งานแล้วที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ซึ่งช่วยให้ระบบการดูแลผู้ป่วยแบบแยกตัวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสีย สร้างความมั่นใจ และอุ่นใจให้กับผู้ป่วยที่ต้องรักษาตัวที่บ้าน โดย มข.พัฒนาระบบนี้ตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่ดี เพื่อนำไปปฏิบัติได้จริงในภาคสนามและตั้งใจเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลต่างๆ ที่กำลังมองหาระบบไอทีในการช่วยเหลือประชาชน ได้ใช้ระบบนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ และพร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษา ทั้งด้านไอที และการบริหารจัดการผู้ป่วย เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นจากวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

รศ.นพ.ชาญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า มาตรการการช่วยเหลือ นวัตกรรมและงานวิจัยต่างๆ ที่ มข.ได้พัฒนาขึ้น รวมไปถึง ระบบ Home Isolation มข. เป็นไปตามนโยบายด้าน CSV ที่มุ่งเน้นการบริการวิชาการสู่สังคม การอุทิศเพื่อชุมชนและสังคม เป็นการยกระดับจิตสำนึกในการรับใช้สังคม โดยใช้องค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญในการรับใช้สังคมอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งยินดีให้โรงพยาบาลต่างๆ นำไปใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ทั้งหมดที่กล่าวมา มข.ได้ดำเนินการมานับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 นับเป็นบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของสถาบันอุดมศึกษา ในฐานะที่เป็นผู้ชี้นำ เป็นเสาหลัก และเป็นที่พึ่งพิงให้กับสังคม ในยามที่ประเทศชาติบ้านเมืองเกิดวิกฤต !!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ