ก.ล.ต. จัดงานสัมมนาออนไลน์ "เตรียมพร้อมเกษียณด้วย PVD และ กบช." เพื่อสร้างความเข้าใจระบบ การออมภาคบังคับ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday January 13, 2022 08:43 —ThaiPR.net

ก.ล.ต. จัดงานสัมมนาออนไลน์

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดงานสัมมนาออนไลน์ หัวข้อ "เตรียมพร้อมเกษียณด้วย PVD และ กบช." เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองเกี่ยวกับการปรับปรุงพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 (พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ) เพื่อให้สอดรับกับร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (พ.ร.บ. กบช.) และเป็นหนึ่งในกองทุนทางเลือกของการออมภาคบังคับ เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมเพียงพอรองรับการเกษียณอายุ โดยเผยแพร่ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์ "เพจสำนักงาน กลต." ลิงก์ https://www.facebook.com/sec.or.th/ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2565

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า "ภาครัฐได้ตระหนักถึงความท้าทายของประเทศในการเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 ซึ่งมีสัดส่วนผู้สูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรในประเทศ โดยส่วนใหญ่ยังขาดความพร้อมทางการเงินรองรับวัยเกษียณ กระทรวงการคลังจึงอยู่ระหว่างเสนอร่าง พ.ร.บ. กบช. เพื่อเป็นกองทุนการออมภาคบังคับ และให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด (Qualified PVD) เป็นหนึ่งในกองทุนทางเลือกภายใต้การออมภาคบังคับสำหรับลูกจ้าง ดังนั้น ก.ล.ต. จึงอยู่ระหว่างปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ฉบับปัจจุบันที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับการออมภาคสมัครใจ ให้สอดรับกับร่าง พ.ร.บ. กบช. เพื่อช่วยลดภาระให้แก่นายจ้างกว่า 20,000 ราย ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างอยู่แล้ว สามารถแปลงสภาพกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เป็นส่วนหนึ่งของการออมภาคบังคับได้อย่างราบรื่น ขณะที่สมาชิกกว่า 2.8 ล้านคน สามารถออมเงินได้อย่างต่อเนื่อง อันเป็นปัจจัยสำคัญของการมีเงินออมที่เพียงพอรองรับการเกษียณอายุ"

ในงานสัมมนาครั้งนี้ นางศิษฏศรี นาคะศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก.ล.ต. ได้นำเสนอการปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ และกล่าวถึงสาระสำคัญของการเสนอปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ว่า เพื่อให้มีคุณสมบัติตามที่ พ.ร.บ. กบช. กำหนด ยกตัวอย่างเช่น

  • การให้ลูกจ้างที่มีอายุตามที่ กบช. กำหนดเป็นสมาชิกกองทุน Qualified PVD (automatic enrollment) และเปิดให้สมาชิกสามารถเลือกออกจากการเป็นสมาชิก Qualified PVD เพื่อลงทุนใน กบช. ได้
  • การกำหนดอัตราการจ่ายเงินสะสมและเงินสมทบของ Qualified PVD ให้เป็นไปตาม กบช.
  • การกำหนดนโยบายการลงทุนสำหรับสมาชิกที่ไม่สะดวกเลือกนโยบายเอง ให้สามารถเป็นนโยบาย life path หรือ target date ที่สอดคล้องกับ กบช.
  • นอกจากนี้ พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ไม่ได้ผ่านการทบทวนมาเป็นระยะเวลา 6 ปี* และเข้าเงื่อนไขในการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางกฎหมาย ก.ล.ต. จึงได้ทบทวนและเสนอปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ ไปพร้อมกันในคราวเดียว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายจนถึงวันที่ 25 มกราคม 2565 ผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ลิงก์ https://bit.ly/3Kc8j7p

    สำหรับการเสวนา หัวข้อ "เตรียมพร้อมเกษียณด้วย PVD และ กบช." ได้รับเกียรติจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญทางด้านการออมเพื่อการเกษียณจากหลากหลายองค์กรร่วมเสวนา นำโดย นางนวพร วิริยานุพงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดุลยภาพการออมและการลงทุน สำนักนโยบายการออมและการลงทุน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า "กระทรวงการคลังได้จัดทำนโยบายเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยได้พิจารณาความเพียงพอของเงินหลังเกษียณและพบว่าลูกจ้างส่วนใหญ่มีเงินออมไม่เพียงพอ จึงผลักดันให้มีการออมภาคบังคับขึ้นด้วยการเสนอจัดตั้ง กบช. การมีระบบการออมภาคบังคับทั้งจากการจัดตั้ง กบช. และ Qualified PVD จะทำให้ลูกจ้างออมเงินเพื่อการเกษียณในระดับที่เหมาะสม ทำให้มีความมั่นคงทางการเงินหลังเกษียณอายุ ซึ่งคาดว่าจะทำให้ลูกจ้างส่วนใหญ่มีเงินออมเมื่อรวมกับบำนาญประกันสังคมแล้วไม่น้อยกว่า 50% ของรายได้ก่อนเกษียณเพื่อคงระดับคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับก่อนเกษียณ"

    รองศาสตราจารย์ ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า "การยกระดับการออมเพื่อการเกษียณเป็นแบบภาคบังคับจะช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้คนไทยมีความพร้อมและมีเงินเพียงพอรองรับการเกษียณอายุ ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นถึงความจำเป็นในการมีเงินเก็บออมไว้ใช้จ่ายในช่วงวิกฤตและในยามฉุกเฉิน นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ทางการเงิน ซึ่งเป็นรากฐานทำให้เกิดความมั่นคงทางการเงิน ช่วยแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตของคนไทยได้อย่างแท้จริง"

    นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส อุปนายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า "สมาคมฯ พร้อมให้การสนับสนุนระบบการออมภาคบังคับอย่างเต็มที่ในด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงการให้ความรู้แก่นายจ้าง เนื่องจากในปัจจุบันนายจ้างที่มีสวัสดิการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีจำนวนไม่มากและลูกจ้างหลายรายยังไม่เห็นความสำคัญของการออมเพื่อการเกษียณ การจัดตั้ง กบช. และมี Qualified PVD จะช่วยให้นายจ้างเข้าสู่ระบบมากขึ้น ส่วนลูกจ้าง แม้ว่าจะมีเงินไว้ใช้จ่ายลดลงในปัจจุบัน แต่เป็นการเพิ่มเงินไว้ใช้หลังเกษียณอายุ การออมภาคบังคับยังส่งผลดีต่อการพัฒนาธุรกิจจัดการกองทุนอีกด้วย"

    นายสุรจิต เจริญยศ กรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า "การออมภาคบังคับจะช่วยสร้างความมั่นคงให้แก่ลูกจ้างยามเกษียณอายุ ซึ่งมีปัจจัยต่าง ๆ ที่จะมีผลให้ลูกจ้างมีเงินออมพอใช้หลังเกษียณหรือไม่ เช่น กลยุทธ์การลงทุน อัตราการออม และผลตอบแทน ดังนั้น ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ทางการเงินแก่ลูกจ้างเพื่อให้สามารถเลือกนโยบายการลงทุนและบรรลุเป้าหมายการออม ทั้งนี้ หากลูกจ้างมีความยืดหยุ่นในการส่งเงินสะสมเข้ากองทุนก็จะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการมีการออมภาคบังคับได้"

    นางณัฐญา นิยมานุสร ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า "เมื่อประเทศไทยมีระบบการออมภาคบังคับ ลูกจ้างจะเลือกเข้า Qualified PVD หรือ กบช. ก็ได้ ส่งผลให้นายจ้างทั้งที่ไม่มีและมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอาจต้องจัดตั้งหรือปรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในปัจจุบันให้เป็น Qualified PVD หรือนำส่งเงินเข้า กบช. ตามความประสงค์ของลูกจ้าง ทั้งนี้ คณะกรรมการกองทุนมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้แก่ลูกจ้างและประสานงานกับบริษัทจัดการเพื่อแก้ไขข้อบังคับกองทุน นอกจากนี้ บริษัทจัดการจะต้องเตรียมพร้อมด้านบุคลากรและระบบงานเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าและปริมาณธุรกรรมที่จะเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น โดย ก.ล.ต. จะพยายามให้การเปลี่ยนผ่านในครั้งนี้เป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อให้ลูกจ้างสามารถออมเงินเพื่อการเกษียณได้อย่างต่อเนื่อง"


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ