กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้ซื้อขายในกรอบ 32.40-33.10 มองกนง.ขึ้นดอกเบี้ยสู่ 1.5%

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 23, 2023 14:35 —ThaiPR.net

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า เงินบาทสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.40-33.10 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดแข็งค่าที่ 32.73 บาท/ต่อดอลลาร์ หลังซื้อขายในช่วง 32.70-33.20 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือนครั้งใหม่ เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินยูโรแต่แข็งค่าเทียบเยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเงินเยนผันผวนสูงหลังธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ -0.1% และคงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve Control) ตามเดิม อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงคาดว่าบีโอเจจะยกเลิกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษในอนาคต ทางด้านเงินยูโรแข็งค่าขึ้นขณะที่ประธานธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี)ระบุว่าอัตราเงินเฟ้อในยูโรโซนอยู่ในระดับที่สูงเกินไปและอีซีบีจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ส่วนยอดค้าปลีกเดือนธ.ค.ของสหรัฐฯร่วงลงเกินคาด สะท้อนการใช้จ่ายของผู้บริโภคและภาพเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัวลงในปีนี้ โดยสัญญาณอุปสงค์และเงินเฟ้อที่แผ่วลงอาจสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ลดขนาดการขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ในขณะเดียวกันได้สร้างความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อหุ้นไทยสุทธิ 1,529 ล้านบาท แต่มียอดขายพันธบัตรสูงถึง 28,613 ล้านบาท

สำหรับสถานการณ์ในสัปดาห์นี้ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดจะติดตามข้อมูลการใช้จ่ายบริโภคส่วนบุคคลเดือนธ.ค.ของสหรัฐฯซึ่งคาดว่าจะบ่งชี้ถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง โดยเงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงต่อเนื่องขณะที่ตลาดมั่นใจมากขึ้นว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 25bp ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. และวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยใกล้จะยุติลง ตรงกันข้ามกับอีซีบีซึ่งส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย 50bp ต่อรอบประชุมอีก 2 ครั้ง อนึ่ง ปริมาณธุรกรรมในตลาดเอเชียที่เบาบางลงช่วงเทศกาลตรุษจีนอาจทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเหวี่ยงตัวผันผวนเกินจริง

สำหรับปัจจัยในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีมติขึ้นดอกเบี้ย 25bp เป็น 1.50% ในการประชุมวันที่ 25 ม.ค. โดยนักลงทุนจะติดตามการประเมินของกนง.เกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจซึ่งเผชิญความไม่แน่นอนจากภาวะการค้าโลกแต่ได้แรงหนุนจากภาคท่องเที่ยว รวมถึงสัญญาณเงินเฟ้อในภาคบริการ และสถานการณ์ค่าเงินบาทซึ่งแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินคู่ค้า อย่างไรก็ตาม เรามองว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เริ่มกลับทิศอาจช่วยจำกัดการแข็งค่าที่ร้อนแรงของเงินบาทได้บ้างในระยะนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ