ม.มหิดลยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์'ผ้าขอเอื้อ'สานต่อพระราชปณิธาน

ข่าวทั่วไป Friday August 4, 2023 17:14 —ThaiPR.net

ม.มหิดลยกระดับเศรษฐกิจฐานรากชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์'ผ้าขอเอื้อ'สานต่อพระราชปณิธาน

จากพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งเสริม ทำให้ผ้าขิด "ลายตะขอสลับเอื้อ" หรือ "ผ้าขอเอื้อ" ได้รับโล่รางวัลพระราชทานชนะเลิศจากการประกวดผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ ที่จัดขึ้นโดย ศูนย์ศิลปาชีพบางไทรเมื่อเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา จนปัจจุบันได้กลายเป็น "ลายผ้าประจำจังหวัดอำนาจเจริญ" อย่างภาคภูมิ 

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ ได้นำเอาภูมิปัญญา"ผ้าขอเอื้อ" มาขยายผลเพื่อสืบสานวัฒนธรรม และส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้กับชาวจังหวัดอำนาจเจริญด้วยการพัฒนาศักยภาพการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ 

อาจารย์ ดร.ไพรินทร์ ยอดสุบัน อาจารย์ประจำหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า "ผ้าขอเอื้อ" มีต้นกำเนิดที่บ้านคำพระ ตำบลคำพระ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ 

ในปัจจุบัน "ผ้าขอเอื้อ" ยังคงมีแหล่งผลิตที่บ้านคำพระ และชุมชนอื่นใกล้เคียงเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการหลังจากที่ทางจังหวัดฯ ได้รณรงค์ให้หน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทั่วไป แต่งกายด้วยผ้าขอเอื้อทุกอังคาร 

อาจารย์ ดร.ไพรินทร์ ยอดสุบัน และคณะ จึงได้ริเริ่ม"โครงการส่งเสริมอาชีพทอผ้าและแปรรูปผ้าขอเอื้อ สำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตำบลโนนหนามแท่ง อำเภอเมืองจังหวัดอำนาจเจริญ" ขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 

ตามข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ระบุว่า "ผ้าขอเอื้อ" เรียกตามลักษณะของ "ตะขอ" ที่ใช้เกี่ยวถังน้ำขึ้นมาจากบ่อ แทนสัญลักษณ์แห่ง "ความสามัคคี-ปรองดอง" ส่วน "เอื้อ" คือรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูนที่ซ้อนกันเป็นลายนูน 3 ชั้น แทนสัญลักษณ์แห่ง "ความเอื้อเฟื้อ" 

เพื่อเพิ่มมูลค่าของผ้าขอเอื้อ ได้มีการนำเอาไม้มงคล 9 ชนิดซึ่งปลูกในท้องถิ่น ได้แก่ ต้นสัก ต้นพะยูง ต้นราชพฤกษ์ ต้นขนุน ต้นยอ ต้นมะยม ต้นจานเหลือง ต้นกล้วย และครั่ง มาย้อมสีผ้าขอเอื้อ เพื่อเสริมพลังแห่งการเป็น "ผ้ามหาอำนาจ" ซึ่งสอดคล้องกับชื่อของจังหวัด และเสริมบารมีให้กับผู้สวมใส่ ทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 3 เท่า 

ซึ่งสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ จะได้เรียนรู้ตั้งแต่วิธีการปลูกฝ้าย การย้อมสีจากธรรมชาติ การทอมือ การแปรรูป การตลาด และการปรับปรุงคุณภาพผ้า ตลอดทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ ของที่ระลึก ฯลฯ รวมทั้งในอนาคตจะเปิดตลาดออนไลน์เพื่อจำหน่ายสินค้าให้แพร่หลายวงกว้าง 

และจะเป็นการพัฒนาสู่การบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDG8 Decent Work and Economic Growth เพื่อลดปัญหาการว่างงาน และ SDG11 Sustainable Cities and Communities เพื่อพัฒนาชุมชนจังหวัดอำนาจเจริญให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th

สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210

ภาพผ้าขอเอื้อจากเพจ OTOP อำนาจเจริญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ