finbiz by ttb แนะ 9 เคล็ดลับให้ธุรกิจพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง และเติบโตอย่างยั่งยืน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 14, 2023 09:09 —ThaiPR.net

finbiz by ttb แนะ 9 เคล็ดลับให้ธุรกิจพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลง และเติบโตอย่างยั่งยืน

ในยุคที่อุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งด้วยนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลง และแนวคิด ESG ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีความตระหนัก ทั้งในเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจในยุคดิจิทัล พร้อมก้าวผ่านความท้าทาย มุ่งสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน finbiz by ttb ได้รวบรวม 9 เคล็ดลับ โดยได้ถอดจากกรณีศึกษา อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ จากหลักสูตร LEAN for Sustainable Growth by ttb รุ่นที่ 18 ซึ่งสามารถปรับใช้ได้ทุกธุรกิจ ทุกอุตสาหกรรม ในยุคที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลง

  • ต้องรู้ทันเทรนด์โลกที่เปลี่ยนไป
    ปัจจุบันเทรนด์โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ด้วยการเข้ามาของนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภค ดังนั้น การปรับตัวจะต้องเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ ทั้งนวัตกรรมการผลิต ไปจนถึงเทคนิคและโมเดลทางการตลาด อย่างในอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่กำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาป (ICE: Internal Combustion Engine) เป็นยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV: Electric Vehicle) ซึ่งกระทบทั้งอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้กระทั่งวิธีการขาย ยกตัวอย่าง ในขณะที่ค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่รวมกันอยู่ที่งาน Bangkok International Motor Show ปี 2023 แต่มีค่ายรถยนต์แห่งหนึ่งที่ไม่ได้เข้าร่วม แต่กลับสามารถทำยอดจองภายในวันเดียวได้ใกล้เคียงกับยอดจองของบางค่ายรถที่เข้าร่วมตลอดทั้งงาน นั่นเพราะการใช้วิธีทางออนไลน์ โซเชียลมีเดีย รวมถึงการเปลี่ยนลูกค้าเป็น Marketer
  • การปรับตัวเป็นสิ่งจำเป็น เมื่ออุตสาหกรรมถูกพลิกโฉม
    จากสถิติในช่วงปี 2022 - 2023 การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความต้องการทำให้โลกอยู่อย่างยั่งยืน ทำให้การรักษาทรัพยากร และใช้พลังงานทางเลือกในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมในหลายอุตสาหกรรม เช่น การเข้ามาของยานยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นเมกะเทรนด์ที่จะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งโลกอย่างแท้จริง ทั้งด้านการผลิต การตลาด และคาดว่าอีก 3-4 ปีข้างหน้า รถยนต์สันดาป จะค่อย ๆ โดนกลืนในตลาด สวนทางกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่ทะยานขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ จนกระทั่งปี 2030 จะเกิดจุดตัดที่เห็นได้ชัด และอุตสาหกรรมยานยนต์จะเปลี่ยนโฉมไปจากนี้แน่นอน ดังนั้น การวางแผนพัฒนาธุรกิจให้เข้ากับระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลง เป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสนใจอย่างยิ่ง
  • ข้อได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ และมาตรฐานควบคุมคุณภาพ ส่งให้ไทยมีโอกาสในระดับโลก
    ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ ประกอบกับความมีประสบการณ์ในภาคอุตสาหกรรม ทำให้ไทยมีมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพ ที่พร้อมจะยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจให้สูงขึ้น อย่างในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในปีที่ผ่านมาไทยมีส่วนแบ่งตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนสูงสุดที่ 58.3% รองลงมาคืออินโดนีเซีย 19.50% และเวียดนาม 15.80% ถือว่ายังมีโอกาสเติบโตอีกมากสำหรับภูมิภาคนี้ และไทยยังมีข้อได้เปรียบโดยเป็นประเทศแรก ๆ ในอาเซียน ที่รัฐบาลมีนโยบายและ Road Map ที่ชัดเจนในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสัดส่วน 30% ของการผลิตรถยนต์ในประเทศทั้งหมดภายในปี 2030 ทำให้ประเทศไทยมีโอกาสจะขยับขึ้นไปเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก
  • จับกระแสระบบนิเวศในอุตสาหกรรมได้เร็ว สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ
    เมื่ออุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลง ระบบนิเวศต่าง ๆ ที่มารองรับจะมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ซึ่งหากผู้ประกอบการจับกระแสได้เร็ว และคอยติดตามข่าวสารการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน จะสร้างความได้เปรียบอย่างมาก อย่างในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้า การเปลี่ยนแปลงหลักคือ นวัตกรรมยานยนต์ แต่ระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีการชาร์จพลังงานไฟฟ้าให้กับยานยนต์ก็จะต้องขยับตามกันไปและต้องเพียงพอต่อการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต รวมทั้งมีการสนับสนุนจาก BOI ในการสร้างสถานีบริการชาร์จไฟฟ้า กรณีที่มีหัวจ่ายประจุไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 40 หัวจ่าย เป็นประเภท DC Quick Charge ไม่น้อยกว่า 25 % จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี เป็นต้น และยังมีสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพื่อกระตุ้นระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า สร้างโอกาสแข่งขันให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ในไทยได้
  • สร้างโอกาสจากการทำลาย Waste Management ให้ครบ จบทั้งระบบนิเวศ
    การสร้างระบบนิเวศให้ครบจริง ๆ จะต้องรวมถึงการทำลายด้วย ดังนั้น การจัดการกับขยะต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การทำลายที่สอดคล้องกับแนวคิด ESG เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก หากผู้ประกอบการสามารถทำลายเศษซากจากอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี มีนวัตกรรมการทำลายเพื่อความยั่งยืนจะยิ่งได้เปรียบ Waste Management ที่มีประสิทธิภาพ จะสร้างโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ได้ด้วย อย่างในธุรกิจยานยนต์ ไม่น่าเชื่อว่าแบตเตอรี่ที่เสื่อมแล้ว ปัจจุบันมีประเทศเดียวในโลก คือเบลเยี่ยมที่สามารถแยกชิ้นส่วนและทำลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ภาครัฐจะต้องหามาตรการควบคุมขยะที่กำลังจะเกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปฏิบัติตามและจัดการได้
  • นวัตกรรมต้องพัฒนาอย่างรวดเร็ว รอบคอบ และต้องคำนึงถึงความยั่งยืน
    ในยุคที่เทคโนโลยีทุก ๆ ด้าน มีการเปลี่ยนแปลง และต้องคำนึงถึงความยั่งยืนของโลกให้มากขึ้น นวัตกรรม หรือ Innovation จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ การพยายามสร้างและปรับปรุงในการทำนวัตกรรม เมื่อเริ่มต้นอาจยากและผิดพลาดบ้าง แต่ประสบการณ์จากการค้นคว้า การทดลอง ปรับปรุงและพัฒนาจะทำให้เกิดนวัตกรรมได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคเปลี่ยนผ่าน ที่ต้องเร่งนำนวัตกรรมมารองรับและสร้างความยั่งยืนให้กับโลก โดยต้องทำอย่างรอบคอบ และรวดเร็วขึ้น เพื่อตอบสนองให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
  • "ความยั่งยืน" ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้อุตสาหกรรมแข่งขันได้
    การจะนำพาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนได้จำเป็นต้องมีแนวคิด "ESG" ซึ่งมาจาก Environment, Social และ Governance เข้ามาเกี่ยวข้อง และ ESG ได้กลายเป็นกติกาใหม่ในการทำธุรกิจ ซึ่งในปัจจุบันผู้ประกอบการต้องเร่งทำ ESG เพราะด้วยมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของ EU ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวสู่ธุรกิจสีเขียวมากขึ้นภายใต้แนวคิด ESG เช่น การใช้ชิ้นส่วนวัสดุรีไซเคิลในการผลิต เพื่อตอบโจทย์การค้าโลกที่มุ่งสู่การลดก๊าซคาร์บอน ความท้าทายคือ ไม่ใช่การปรับตัวแค่บริษัทเดียว แต่ต้องทำให้ทั้ง Value Chain อยู่ในแนวคิด ESG และต้องเตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ หากไม่ปรับตัว สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็น "ต้นทุน" เป็น "ราคา" ที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายในอนาคต
  • ความยั่งยืนที่มาจากการ "บริหารคน" สร้างระบบนิเวศแบบ Joyful Organization และกระตุ้นให้บุคคลากรมีทัศนคติเชิงบวก
    ทุกวันนี้ การบริหารคนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ผู้บริหารต้องใช้ "การบริหารคน" เพื่อเปลี่ยนเกม และสร้างอิมแพ็คให้กับธุรกิจ โดยสร้างระบบนิเวศในการทำงานเป็น Joyful Organization ดึงดูดให้คนอยากมาทำงานด้วย และสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่นำไปสู่ความยั่งยืน ตลาดแรงงานที่มีคนในหลาย ๆ Generation ผู้ประกอบการต้องจะหลอมรวมทุกคนให้เข้ากัน และมีความสุขในการทำงานร่วมกัน บนพื้นฐานความแตกต่างและความหลากหลาย การพัฒนาด้าน "ทัศนคติ" ของบุคลากรเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อพนักงานมีความสุขและมีความเชื่อว่าทุกอย่างปรับปรุงพัฒนาได้โดยตลอด จะนำไปสู่การสร้างบุคคลากรทักษะสูง และทำให้อุตสาหกรรมพัฒนาสู่การเป็น Smart Factory ได้โดยง่าย
  • LEAN ยังคงเป็นหัวใจหลักที่เพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน
    LEAN ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับธุรกิจ แต่หัวใจหลัก คือการเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขัน LEAN สามารถพัฒนาวิธีคิดอย่างมีประสิทธิภาพให้แตกต่างจากคู่แข่ง ธุรกิจจึงมีแรงดึงดูดมากขึ้น หรือ เพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้ แต่เหนืออื่นใดคือ ธุรกิจต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม ต้องพยายามรักษาสมดุลธุรกิจให้ยังเติบโตได้ดี พร้อมกับการแสวงหาโอกาสธุรกิจใหม่ ๆ ซึ่ง LEAN จะช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแรง เพื่อให้ธุรกิจสามารถรักษาสมดุลไว้ได้
  • ด้วยข้อได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ แรงงานทักษะสูง และการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ประเทศไทยจึงมีโอกาสที่จะยกระดับอุตสาหกรรมให้มีความก้าวหน้าขึ้น ผู้ประกอบการจึงต้องบริหารงานด้วยทัศนคติที่ดี พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และให้ความสำคัญกับบุคลากร นวัตกรรม และระบบนิเวศของอุตสาหกรรม เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในยุคที่ทุกการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

    ติดตามสาระความรู้ดี ๆ สำหรับธุรกิจ ได้ที่ https://www.ttbbank.com/th/finbiz


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ