14 ทศวรรษไปรษณีย์ไทย ไทม์ไลน์ส่งความสุขให้คนไทย ในจักรวาล POSTiverse โมเมนต์ "ความสัมพันธ์และการส่งคนไทยสู่ทุกความสำเร็จ"

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 3, 2023 14:07 —ThaiPR.net

14 ทศวรรษไปรษณีย์ไทย ไทม์ไลน์ส่งความสุขให้คนไทย ในจักรวาล POSTiverse โมเมนต์

ถ้าถามว่าใครที่คอยส่งความสุขให้กับคนไทยมายาวนานที่สุด หนึ่งในนั้นต้องยกให้กับไปรษณีย์ไทย ผู้ให้บริการสื่อสารและขนส่งของชาติ ที่สนับสนุนให้ทุกคนสื่อสารและเข้าถึงกันง่ายขึ้น ฉับไวขึ้น สุข - สำเร็จทุกครั้งที่ไว้ใจเลือกใช้บริการ โดยในวันนี้เราจะพาไปย้อนรอยกันว่าตลอด 14 ทศวรรษ ไปรษณีย์ไทยได้นำความสุขและสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับคนไทยในมิติไหนบ้าง

  • 2418 "โปศตแมน" สู่บุรุษไปรษณีย์ คำศัพท์ที่ทำให้ชีวิตคนไทยไม่เหมือนเดิม - คำว่าบุรุษไปรษณีย์มีจุดเริ่มต้นมาจาก บุรุษสวมเครื่องแบบสีน้ำเงินสะพายกระเป๋าเดินหนังสือนำส่ง "ข่าวราชการ" ให้สมาชิกทุกเช้า ซึ่งในอดีตมีคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า "โปศตแมน"" แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการบัญญัติศัพท์ขึ้นใช้ในภาษาไทยเพื่อทดแทนคำภาษาอังกฤษที่มักพบในการเรียกชื่อสิ่งใหม่ๆ ที่สังคมไทยแรกรับเข้ามา ซึ่งเป็นไปได้ว่าคำว่าบุรุษไปรษณีย์ถูกเรียกและเรียบเรียงให้ตรงตามคำศัพท์ภาษาอังกฤษ โดยโปสต์ (Post) ก็คือไปรษณีย์ และแมน (Man) แปลว่าบุรุษ รวมกันเป็นคำว่าบุรุษไปรษณีย์ แม้จะผ่านมาถึง 140 ปีแต่อาชีพนี้ยังคอยส่งความสุขให้กับคนไทยเหมือนเดิม
  • 2418 โทรเลข ปฐมบทการสื่อสารแบบฉับไว - สำหรับคนเจนเนอเรชั่นใหม่ที่เกิดในยุคไอที อาจไม่คุ้นหูกับคำว่า "โทรเลข" หรือที่คนไทยสมัยก่อนเรียกกันว่า "ตะแล้ปแก้ป" ซึ่งเป็นเรื่องน่าทึ่งสำหรับยุคสมัยแรก ๆ ที่โทรเลขนั้นสามารถทำหน้าที่ทางการโทรคมนาคมสื่อสารได้อย่างฉับไว ที่จัดส่งถึงมือผู้รับได้ภายใน 1 วัน ในรูปแบบข้อความสั้น ๆ ส่งผ่าน "บุรุษโทรเลข" ทั้งนี้ จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์พบว่า รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสให้สร้างระบบโทรเลข เพื่อนัดหมายเวลาและแจ้งข่าวเรือสินค้าหรือเรือต่างๆ ที่เข้ามาในสันดอนอ่าวไทย จากนั้นก็ได้ปรับให้มีการใช้งานส่วนบริการภาคประชาชนอย่างแพร่หลายในช่วงปี พ.ศ. 2460 - 2510 บ้างก็ใช้เพื่อแจ้งข่าวดี - ข่าวร้าย บ้างก็ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อรักแทนความคิดถึง และเป็นต้นแบบการสื่อสารที่เน้นความกระชับในทุกวันนี้
  • 2426 กำเนิดจดหมายและแสตมป์ไทย - การสื่อสารทางไกลผ่านจดหมายในอดีต เริ่มต้นจากการติดต่อราชการทางไกลตลอดจนถึงการส่งข่าวสารส่วนบุคคล และยังเป็นที่มาของจุดกำเนิดในการจัดทำตราไปรษณียากร "โสฬศ" แสตมป์ชุดแรกของประเทศไทยที่ถูกจัดทำขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2426 ที่ได้ริเริ่มใช้เพื่อเป็นสื่อกลางสำหรับชำระค่าฝากส่งจดหมายและไปรษณียภัณฑ์ต่าง ๆ และยังคงอยู่คู่แผ่นดินไทยตลอดจนถึงทุกวันนี้ แต่จะแตกต่างตรงที่ว่าฟังก์ชันการใช้งานมีมากกว่าเดิม โดยเฉพาะการเป็นของสะสมที่มีมูลค่า เป็นที่ระลึกในโอกาสวันสำคัญ และสะท้อนศิลปะ - ซอฟต์พาวเวอร์เวอร์ชันคนไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
  • 2426 ตู้ทิ้งหนังสือตู้แรก สู่ตู้ไปรษณีย์สีแดง - เมื่อมีจดหมายที่สื่อความคิดถึง อีกสิ่งที่ทุกคนต้องคุ้นตากันอย่างดีก็คือตู้รับจดหมายหน้าบ้านสีแดง ที่ไม่ว่าบ้านไหน ๆ เป็นต้องมีติดไว้ใช้คู่ครัวเรือน ซึ่งดีไซน์การออกแบบนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากตู้ไปรษณีย์แบบแขวน ที่ทำจากไม้และโลหะแผ่นซึ่งได้มีการผลิตใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2428 โดยพัฒนามาจากตู้ทิ้งหนังสือหรือ "Letter Box" ที่กรมไปรษณีย์สยามได้รับมอบเป็นของขวัญจากประเทศเยอรมนีเป็นตู้แรกของประเทศไทยเนื่องในวาระการเปิดให้บริการไปรษณีย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในสยามเมื่อปี พ.ศ. 2426 และหลังจากนั้นก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นตู้ไปรษณีย์สีแดงรูปแบบต่าง ๆ ถึง 11 รูปแบบเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยของไทยซึ่งแฝงไปด้วยคุณค่า ความผูกพันและความทรงจำที่ดี และเป็นตู้ไปรษณีย์ในรูปแบบปัจจุบันนี้ที่ทุกคนสามารถสังเกตเห็นได้ตามฟุตบาทริมถนนหนทางทั่วทุกแห่งหน
  • 2440 ธนาณัติ ต้นแบบนำคนไทยสู่ยุค cashless - นอกเหนือจากบริการจัดส่งจดหมายแล้ว กรมไปรษณีย์โทรเลขได้เปิดการธนาณัติในประเทศขึ้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2440 โดยให้บริการรับฝาก - ส่งเงินของประชาชนผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งถือเป็นยุคบุกเบิกของต้นแบบบริการทางธุรกรรม ที่สามารถอำนวยความสะดวกในพื้นที่ห่างไกล ปลอดภัยและน่าเชื่อถือได้มากที่สุดในสมัยนั้น จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีบริการธนาณัติออนไลน์ ด้วยระบบให้บริการแบบใหม่ ที่ให้ความทันสมัยยิ่งขึ้น ณ ที่ทำการไปรษณีย์ 8 แห่ง ได้แก่ หลักสี่ เม่ฮ่องสอน ปางมะผ้า ปาย แม่ลาน้อย แม่สะเรียง ขุนยวม และศูนย์ไปรษณีย์ลำพูน
  • 2469 ไปรสนียาคารสู่ไปรษณีย์กลางบางรัก อารยสถาปัตย์และซอฟต์พาวเวอร์ที่บ่งชี้ความเจริญทางการสื่อสารไทย - "ไปรสนียาคาร" ศูนย์กลางสถานที่รับฝากและนำจ่ายไปรษณีย์ในเขตกรุงเทพมหานครแห่งแรกในประเทศไทยได้รับความนิยมและมีกิจการเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่แรกให้บริการ ช่วง พ.ศ.2426 ต่อมาเพื่อเป็นการลดความแออัดจึงได้โยกย้ายไปรสนียาคารและออฟฟิศไปรสนีย์ที่ 2 มาอยู่รวมกันเป็นที่ทำการไปรษณีย์กลางบางรักโดยเริ่มก่อสร้างจริงช่วงปี พ.ศ. 2478 ซึ่งก่อนที่จะมาเป็นไปรษณีย์กลางบางรัก หนึ่งในแลนด์มาร์คสุดคลาสสิกย่านเจริญกรุงอย่างที่ทุกคนรู้จักในวันนี้ สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานและพื้นที่ตั้งของสถานกงสุลอังกฤษอันเก่าแก่มาก่อน ทั้งนี้ด้วยเอกลักษณ์อันโดดเด่นของรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่แนวนีโอคลาสสิกแบบตะวันตก ทำให้ใครที่ผ่านไปมาเป็นต้องแวะเช็คอิน ถ่ายรูป เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เมืองไทยที่มีความเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งก็ว่าได้
  • 2525 รหัสไปรษณีย์ แยกการนำจ่ายทุกพื้นที่อย่างเป็นระบบ - รหัสไปรษณีย์ของไทยมีการเริ่มใช้งานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 ซึ่งประกอบด้วยตัวเลข 5 หลัก เพื่อแยกการนำจ่ายทุกพื้นที่อย่างเป็นระบบ - รหัสไปรษณีย์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เมื่อต้องจ่าหน้าจดหมายหรือพัสดุ เสมือนเลขที่ชี้ชะตาพัสดุของเราว่าจะถึงปลายทางที่คาดไว้หรือไม่ เพราะรหัสไปรษณีย์จะเป็นเลขที่บ่งบอกพื้นที่ตั้งอย่างเป็นระบบโดยประกอบไปด้วยตัวเลขที่แทนภูมิภาค แทนจังหวัด แทนอำเภอ และแทนที่ทำการไปรษณีย์นั้น ๆ ซึ่งรหัสไปรษณีย์ในประเทศไทยถูกนำมาใช้แทนระบบแขวงไปรษณีย์ เพื่อช่วยให้การคัดแยกจดหมายและพัสดุแม่นยำและถึงปลายทางรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ถึงแม้ว่าจะไม่มีรหัสไปรษณีย์ ตัวเลขตกหล่อนเลือนราง แต่ไปรษณีย์ไทยก็ยังนำจ่ายได้อย่างแม่นยำเหมือนเดิม
  • 2529 EMS ระบบส่งด่วน ที่ทำให้ของถึงคนไทย เร็วทันใจไม่ว้าวุ่น - ใครที่ใช้บริการไปรษณีย์ไทยบ่อย ๆ คงจะทราบกันดีว่าไปรษณีย์ไทยมีบริการไปรษณีย์ด่วนพิเศษหรือ EMS เพราะด้วยดีมานด์ของผู้ใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้น และความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการให้สิ่งของที่จัดส่งถึงปลายทางอย่างรวดเร็ว ทำให้ไปรษณีย์ไทยได้เริ่มให้บริการส่งด่วนรายแรกของประเทศไทย ซึ่งบริการ EMS นอกจากจะการันตีความรวดเร็วแล้วยังการันตีความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการหมดห่วงเรื่องพัสดุตกหล่น โดยมีการอัปเดตสถานะสิ่งของแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชม. ช่วยตอบโจทย์ทั้งผู้ฝากส่งและผู้รับไม่ให้ต้องว้าวุ่นใจ ซึ่งหากนับอายุ EMS จนถึงวันนี้ก็มีอายุ 37 ปีแล้ว เรียกว่าอยู่มาอย่างสตรองทุกยุค และเป็นต้นแบบส่งด่วนในไทยนัมเบอร์วัน
  • 2546 "บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด" จุดเริ่มต้นแม่ค้าออนไลน์ยุคบุกเบิก - เมื่อ 20 ปีก่อนรัฐบาลมีความพยายามที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่ 'สังคมไทยไอซีที' โดยหนึ่งในสิ่งที่ต้องพัฒนาคือระบบ โลจิสติกส์เพื่อทำให้สามารถทัดเทียมกับต่างชาติ โดยได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของไปรษณีย์ไทยที่แต่เดิมทำหน้าที่ส่งจดหมาย โทรเลข และธนาณัติ ทำให้บุคลากรมีความใกล้ชิดและมีความแม่นยำตำแหน่งที่ตั้งของบ้านเรือนแต่ละชุมชน ซึ่งโครงการแรกเริ่มด้วยการส่ง คอมพิวเตอร์ไอซีทีถึงบ้าน
  • 2550 เปิดตัวบริการ Logispost ส่งของใหญ่ ไปรษณีย์ไทยก็ส่งได้ - ก้าวสำคัญในการขยายตลาดขนส่ง
    เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทั้งภาคธุรกิจ และประชาชนที่ต้องการส่งสิ่งของและสินค้าขนาดใหญ่ในราคาที่คุ้มค่า เป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการที่ต้องการฝากส่งสิ่งของที่มีขนาดและน้ำหนักเกินพิกัดน้ำหนักสูงสุดของบริการพัสดุไปรษณีย์ในประเทศซึ่งรับฝากได้เพียง 20 กก. โดยบริการ Logispost สามารถส่งได้น้ำหนักสูงสุดถึง 200 กิโลกรัม ไม่ว่าจะเป็นทีวี ตู้เย็น แอร์ มอเตอร์ไซค์ ไปรษณีย์ไทยก็ส่งได้ทุกที่ทั่วไทย
  • 2551 อร่อยทั่วไทย สั่งได้ที่ไปรษณีย์ ผู้เปิดตลาด Food Delivery เจ้าแรก - นอกจากภารกิจในการส่งพัสดุแล้ว ไปรษณีย์ไทยยังเคยทำหน้าที่ในการส่งมอบความอร่อยให้กับคนไทย โดยเลือกสรรอาหารอร่อยขึ้นชื่อจากทั่วทุกภูมิภาคส่งถึงมือผู้รับถึงหน้าบ้าน ถือเป็น Food Delivery เจ้าแรกของไทยก็ว่าได้ ก่อนจะพัฒนาขึ้นมาเป็นเว็บไซต์ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท ที่นอกจากจะรวบรวมของอร่อยจากทั่วไทยแล้ว ยังเป็นศูนย์รวมสุดยอดของดีของเด่นจากชุมชนทั่วไทย เป็นช่องทางการกระจายสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน และสินค้าโอทอปที่ครบวงจร มุ่งผลักดันให้สินค้าชุมชนเข้าถึงคนทั่วประเทศได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยลดปัญหาสินค้าทางการเกษตรล้นตลาดช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทยและชุมชนให้ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
  • 2560 iBox นวัตกรรมตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะ เลือกเวลารับพัสดุได้เองตลอด 24 ชั่วโมง - ไปรษณีย์ไทยมีการพัฒนาบริการให้หลากหลายและสะดวกต่อผู้ใช้บริการทุกกลุ่มมากที่สุด โดยในปี 2560 ไปรษณีย์ไทยต้องการตอบโจทย์กลุ่มคนที่ไม่สะดวกรับพัสดุที่บ้านและแก้ปัญหาพัสดุถูกตีกลับที่ทำการไปรษณีย์เนื่องจากไม่มีผู้รับ อำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถเลือกเวลารับพัสดุได้ด้วยตัวเองตลอด 24 ชั่วโมงผ่านตู้ iBox นอกจากนี้ยังมุ่งเจาะกลุ่มคนเมืองที่รีบเร่ง โดยได้ขยายจุดบริการไปรษณีย์ไดร์ฟทรู ให้ผู้ใช้บริการสามารถขับรถมาฝากส่งพัสดุได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องลงจากรถ
  • 2563 Pick Up Service รับฝากความสุขถึงบ้าน ชิ้นเดียวก็ไปรับ- สำหรับปีนี้เป็นปีที่ทุกคนมีวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุค New Normal ต้องมีการรักษาระยะห่างจึงจำเป็นต้องกักตัวอยู่บ้าน แต่แน่นอนว่าธุรกิจ/การส่งพัสดุยังคงต้องดำเนินการต่อไป ไปรษณีย์ไทยจึงได้ออกบริการรับพัสดุนอกสถานที่ทำการไปรษณีย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนไทย ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็เรียกพี่ไปรฯ เข้ารับพัสดุไปรับพัสดุได้โดยไม่มีขั้นต่ำ โดยเรียกใช้บริการได้ทั้งรายย่อยและรายใหญ่ ครอบคลุมทั่วประเทศ
  • 27 พ.ย. - 3 ธ.ค. 2566 POSTiverse ส่งสุขไปทุกเวิร์ส - โลกรู้จักกับคำว่า Universe ซื่งเป็นตัวแทนและเป็นคำขยายความยิ่งใหญ่ระดับจักรวาล เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็ได้รู้จักกับคำว่า มัลติเวิร์ส สิ่งที่สะท้อนความเป็นคู่ขนานระหว่างโลกหนึ่งกับอีกโลกหนึ่ง ส่วนในปีที่ผ่านมาคุ้นชินกันดีกับคำว่า "เมตาเวิร์ส" ระบบ Mixed Reality ที่นำโลกแห่งความเป็นจริงไปอยู่บนโลกออนไลน์ แต่ได้ประสบการณ์และความรู้สึกร่วมเสมือนเป็นเหตุการณ์จริงส่วนในปีนี้คนไทยจะได้รู้จักกับคำว่า "Postiverse : โพสติเวิร์ส" ศัพท์ใหม่ที่บัญญัติโดยไปรษณีย์ไทย ซึ่งเป็นการเนรมิตพื้นที่ไปรษณีย์กลาง บางรัก จัดอีเว้นต์ใหญ่เฉลิมฉลองครบรอบ 140 ปีกิจการไปรษณีย์ไทย และงานแสดงตราไปรษณียากรโลก 2566 เพื่อกระจายความสุขให้คนไทยช่วงท้ายปี ผ่านดินแดนที่อบอวล ไปด้วยความสุข จัดเต็มความสนุกกับกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เวิร์คชอป พื้นที่แสดงศิลปะสมัยใหม่ เช่น อาร์ตทอย แฟชันคอลเลคชันพิเศษ พร้อมชวนย้อนรอยความทรงจำ 'กว่าจะเป็นไปรษณีย์ไทย' ในทุกวันนี้

ติดตามข่าวสารไปรษณีย์ไทยเพิ่มเติมได้ที่
เว็บไซต์ : www.thailandpost.co.th
เฟซบุ๊ก : บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
X : @Thailand_Post
ไลน์ออฟฟิเชียล : @Thailand Post
ติ๊กต็อก : @thailandpost


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ