อินโดรามา เวนเจอร์ส และพันธมิตร ประกาศผลรางวัลชนะเลิศการประกวด Circular Innovation Challenge 2023 ชูนวัตกรรมอิฐก่อสร้างจากขยะ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 1, 2023 14:29 —ThaiPR.net

อินโดรามา เวนเจอร์ส และพันธมิตร ประกาศผลรางวัลชนะเลิศการประกวด Circular Innovation Challenge 2023 ชูนวัตกรรมอิฐก่อสร้างจากขยะ

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมด้วย 5 องค์กรพันธมิตร ได้แก่ วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บริษัท TikTok ประเทศไทย โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) SDG Lab และ GLab ประกาศผลผู้คว้ารางวัลชนะเลิศจากโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ปี 2566 (Circular Innovation Challenge 2023) คือ ทีม SCPB จากประเทศไทย เจ้าของผลงานสร้างสรรค์นวัตกรรมอิฐก่อสร้างที่ใช้ประโยชน์จากขยะ

โครงการ Circular Innovation Challenge 2023 เป็นการแข่งขันแฮ็กกาธอน ระยะเวลา 5 สัปดาห์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังให้เกิดผู้นำทางความคิดในอนาคตผ่านนวัตกรรมที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Innovation โดยกิจกรรมนี้ถูกออกแบบให้มีเวิร์คช้อปและกิจกรรมที่เข้มข้นเพื่อเตรียมนวัตกรให้พร้อมด้วยทักษะที่จำเป็นสำหรับการคิดค้นโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมก่อนที่จะเริ่มการแข่งขันรอบสุดท้าย ซึ่งรวมถึงการเปิดเวทีอภิปรายในหัวข้อ "Securing our Future with Circular Economy and Achieving Circularity through Innovation" และหัวข้อ "Sustainable Consumption and Production Session" นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการด้าน design thinking โดย United Nations Development Program (UNDP), กิจกรรมเวิร์คช้อปด้านการสร้างคอนเทนต์ โดย Tiktok ตลอดจนการอบรมเกี่ยวกับการนำเสนอผลงาน และการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ

โครงการนี้เปิดรับสมัครนวัตกรที่มีอายุระหว่าง 16-30 ปี จากประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีทีมสมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 830 ทีม รวมจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 3,333 คน จาก 11 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ มีทีมที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าสู่การแข่งขันในรอบสุดท้ายทั้งหมด 10 ทีม ได้แก่ ทีมจากราชอาณาจักรกัมพูชา (1 ทีม) อินโดนีเซีย (3 ทีม) ฟิลิปปินส์ (2 ทีม) ประเทศไทย (3 ทีม) และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (1 ทีม) ซึ่งทั้ง 10 ทีมนี้จะได้เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันรอบสุดท้าย

โดยทีมผู้ชนะเลิศในปีนี้ คือ ทีม SCPB จากประเทศไทย ซึ่งได้รับรางวัลจากผลงานนวัตกรรมที่เรียกว่า "Semi-Calcite Passive Brick" หรืออิฐบล็อกประสานกึ่งแคลไซต์ ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างที่ผสานความแข็งแรงทางโครงสร้างให้สามารถใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติในการควบคุมสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน อาทิ ความสามารถในการควบคุมความชื้น และการควบคุมอุณหภูมิ ผลิตภัณฑ์นี้มอบประโยชน์ที่เหนือชั้นให้กับทั้งแก่ช่างก่อสร้างและสิ่งแวดล้อมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยช่วยเสริมประสิทธิภาพในการก่อสร้าง ลดการใช้พลังงานผ่านฉนวนกันความร้อนที่มีคุณภาพดีขึ้น และเอื้อต่อสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นด้วยการนำแนวคิดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ โดยวัสดุต้นทางที่ใช้ในการทำอิฐบล็อกนั้นมาจากระบบการหมุนเวียนภายในท้องถิ่น กระบวนการนี้เริ่มต้นด้วยเปลือกหอย พลาสติก และเศษแก้ว ที่เก็บรวบรวมจากชายฝั่ง ริมฝั่งแม่น้ำ หรือร้านอาหารต่างๆ

นางสุจิตรา โลเฮีย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทฯ และประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า "เรามีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในความร่วมมือครั้งนี้ เพื่อสนับสนุนและบ่มเพาะศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในการรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมโลกที่ยั่งยืนสำหรับอนาคตพวกเขาต่อไป พร้อมขอแสดงความยินดีกับทีมชนะเลิศที่ได้พัฒนานวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ความท้าทายด้านการลดขยะและส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนได้อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของอินโดรามา เวนเจอร์ส ในการค้นหาโซลูชั่นที่สามารถพัฒนาและปรับใช้ผลิตภัณฑ์จาก PET ได้อย่างยั่งยืน รวมถึงแนวคิดที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคม"

ดร. ศิรสา กันตรัตนากุล ผู้จัดการโครงการ Circular Innovation Challenge 2023 และอาจารย์ประจำที่วิทยาลัยโลกคดีศึกษา กล่าวว่า "โครงการ Circular Innovation Challenge 2023 ได้จัดขึ้นเป็นปีที่สาม เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างวิทยาลัยโลกคดีศึกษา และองค์กรพันธมิตรที่นับถือของเรา ซึ่งได้มารวมตัวกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เรารู้สึกยินดีที่ได้เห็นเยาวชนจำนวนมากที่ตระหนักดีถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและได้เข้าร่วมในโครงการนี้อย่างแข็งขันจากทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการให้ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนถือเป็นภารกิจสำคัญของวิทยาลัยโลกคดีศึกษา ในการผลิตนักคิดเชิงนวัตกรรมที่พร้อมจะสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วมในการพัฒนาในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม"

นางสาวชนิดา คล้ายพันธ์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะ (Head of Public Policy) บริษัท TikTok ประเทศไทย แสดงความเห็นว่า "TikTok มุ่งมั่นที่จะปลดล็อกโอกาสทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ครีเอเตอร์ และชุมชนทั่วทุกภูมิภาค เพื่อมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัล ควบคู่ไปกับการสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดการดำเนินการเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน TikTok ยังรู้สึกยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการ Circular Innovation Challenge ซึ่งภายใต้ความร่วมมือนี้ TikTok ได้มอบความรู้และทักษะด้านดิจิทัลให้กับคนหนุ่มสาวเพื่อสร้างเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นที่พวกเขาสนใจ ความพยายามนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้คนรุ่นใหม่และธุรกิจที่ยั่งยืนได้เชื่อมต่อกับชุมชนผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์ม TikTok ด้วย ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างครอบคลุมและส่งเสริมการพัฒนารากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง"

นอกจากนี้ นางสาว Young Ran Hur เจ้าหน้าที่บริหารโครงการ Global Opportunities for Sustainable Development Goals (GO4SDGs) Initiative ภายใต้ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ซึ่งเป็นพันธมิตรจากองค์กรระหว่างประเทศ เน้นย้ำว่า "ปี 2573 กำลังใกล้เข้ามาแล้ว และเราจำเป็นต้องดำเนินการให้มากขึ้นบนพื้นฐานในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในขณะนั้น โครงการ Circular Innovation Challenge ไม่เพียงแต่สร้างแรงบันดาลใจและบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ผ่านการสนับสนุนการสร้างขีดความสามารถ และการเชื่อมโยงคนหนุ่มสาวที่มีความคิดเหมือนกัน แต่ยังส่งเสริมการเปลี่ยนแนวคิดเหล่านี้ให้เป็นการปฏิบัติเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงโลกที่แท้จริง"

ประวัติของทีมผู้ชนะเลิศ SCPB ในโครงการ Circular Innovation Challenge 2023

นายคงภัทร์ ไพบูลย์นุกูลกิจ

นายคงภัทร์ สำเร็จการศึกษาจาก University of Creative Arts ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ก่อตั้ง และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี บริษัทสตาร์ทอัพ Phytavaren ซึ่งเป็นผู้ผลิตอิฐก่อสร้างจากผลึกกึ่งแคลไซต์ (Semi-Calcite Passive Brick) ปัจจุบันรับตำแหน่งสถาปนิกและวิศวกรที่บริษัทสตาร์ทอัพ Phytavaren ก่อนหน้านี้เคยทำงานในฝ่ายออกแบบพลังงานที่สถาบันวิจัย Passive Haus ในทวีปเอเชีย และทำงานด้านการบริหารสถาปัตยกรรมที่ Lawray's ในสหราชอาณาจักร

นายกลย์ธัช ไพบูลย์นุกูลกิจ

นายกลย์ธัช จบการศึกษาปริญญาตรีด้านอสังหาริมทรัพย์ ปริญญาโทด้านการวางแผนและพัฒนาเมืองจาก University of Reading เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นประธานบริหารของบริษัท Phytavaren Technology ผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจขนาดเล็ก สตาร์ทอัพที่เน้นนวัตกรรมการพัฒนาธุรกิจและเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงความยั่งยืน กลธัชเคยทำงานด้านบริหารจัดการทรัพย์สินที่ The Crown Estate ในสหราชอาณาจักร และการบริหารจัดการพลังงานที่ Schneider Electronic

นางสาววาสิตา บุญนวล

วาสิตา จบการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาด้านกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (LLB) จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง Ambassador และทนายที่ Phytavaren Technology วสิตาเชี่ยวชาญในการประสานงานระหว่างองค์กรไม่แสวงกำไรเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และปัจจุบันทำงานร่วมกับผู้แทนราษฎรไทย และสหประชาชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ