ม.ทักษิณ เปิดตัวบริษัท ทีเอสยู เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด นิติบุคคลร่วมลงทุนของมหาวิทยาลัย (Holding company) แห่งแรกในภาคใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 29, 2024 14:07 —ThaiPR.net

ม.ทักษิณ เปิดตัวบริษัท ทีเอสยู เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด นิติบุคคลร่วมลงทุนของมหาวิทยาลัย (Holding company) แห่งแรกในภาคใต้

มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดตัวบริษัท ทีเอสยู เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด สร้างระบบนิเวศนวัตกรรมและทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้กับอาจารย์ นิสิต บุคลากร รวมทั้งศิษย์เก่า ให้มีโอกาสได้สร้างธุรกิจฐานนวัตกรรมเกิดใหม่ โดยนำความรู้จากมหาวิทยาลัยและผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ช่วยเกษตรกรและชุมชน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม มุ่งสร้างระบบนิเวศในการขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า บริษัท ทีเอสยู เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด เกิดขึ้นภายใต้นโยบายการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ในปี 2566 ซึ่งมหาวิทยาลัยทักษิณได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 5.3 ล้านบาท จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ผ่านสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนขั้นสูงด้าน ววน. เพื่อขับเคลื่อนการพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษาตามกลุ่มยุทธศาสตร์ภายใต้โปรแกรม 25 (P25) แผนงานย่อยพัฒนาระบบและกลไกสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศ ววน. ภายใต้ชื่อโครงการ "การเพิ่มสมรรถนะและระบบนิเวศสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ มหาวิทยาลัยทักษิณ สู่การใช้ประโยชน์และขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรม"

รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง ได้อธิบายถึงการจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน (holding company) ว่า มหาวิทยาลัยทักษิณมุ่งพัฒนาสมรรถนะและระบบนิเวศสนับสนุนทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ของมหาวิทยาลัยภายใต้ฐานธุรกิจฐานนวัตกรรม ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวง อว. ที่ทางมหาวิทยาลัยทักษิณพยายามผลักดันรวมทั้งเป็นนโยบายของรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ให้มากขึ้น แต่สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีระบบและกลไกในการขับเคลื่อนและสนับสนุน โดยเฉพาะ Holding Company ของมหาวิทยาลัยทักษิณ หรือนิติบุคคลร่วมลงทุนกับมหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่ออยู่ภายใต้โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย จึงมีการขยับในการจัดตั้ง TSU Holding Company ของมหาวิทยาลัยทักษิณ ใช้เวลา 1 ปี 2 เดือน เริ่มกระบวนการด้วยการปรึกษาหารือกับหน่วยงาน สอวช. เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงาน และทีมคณะกรรมการบริหารนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน มหาวิทยาลัยทักษิณ ทั้งในส่วนของการวางระบบและกลไกสนับสนุน แนวทางการจัดตั้งบริษัท มีระเบียบและกลไกรองรับ

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 สภามหาวิทยาลัยทักษิณได้อนุมัติระเบียบการจัดตั้ง TSU Holding Company ของมหาวิทยาลัยทักษิณ และจดทะเบียนจัดตั้ง ทีเอสยู เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด บริษัทนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน ถือเป็นนิติบุคคลร่วมลงทุนของมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ ในขณะเดียวกันจะดำเนินการขับเคลื่อนเชิงพาณิชย์ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะทำให้มองเห็นภาพของการขยับระบบนิเวศใหม่ สภาพการดำเนินงานรูปแบบใหม่ๆ โดยมุ่งเน้นการสร้างระบบ Ecosystem สนับสนุนผู้ประกอบการและมุ่งเสริมสมรรถนะของนิสิตและนักวิจัยให้เป็นผู้ประกอบการ

มหาวิทยาลัยทักษิณ มีทรัพย์สินทางปัญญาที่มีการจด IP มากกว่า 300 เรื่อง มีนักวิจัย คณาจารย์ ที่มีอนุสิทธิบัตร สิทธิบัตร สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ และลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ถือว่าเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่ยังไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง ส่วนใหญ่อยู่ในลักษณะของต้นแบบซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์หรือสร้างมูลค่าเพิ่มไปสู่คุณค่า มูลค่าในเชิงพาณิชย์ เกิดเป็นรายได้ให้กับบริษัทของมหาวิทยาลัย จึงจะเห็นเป็นภาพ New Ecosystem ชัดเจนมากขึ้น รองศาสตราจารย์ ดร.สมัคร แก้วสุกแสง กล่าว

สำหรับแนวทางการดำเนินงานและการขับเคลื่อนเครือข่ายความร่วมมือธุรกิจนวัตกรรม Holding Company มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องมีการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือกับภาคเอกชนในพื้นที่ภาคใต้ ร่วมมือกันนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือจากหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้แก่ สถาบันวิจัยและนวัตกรรม ที่ทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัย อุทยานวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมสังคม ทำหน้าที่เชื่อมโยงเครือข่ายความร่วมมือผู้ประกอบการ และการหารือกับนักวิจัยที่มีผลงานวิจัยโดดเด่น ทำให้เห็นถึงระดับการใช้เทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การขยับในเชิงพาณิชย์

นอกจากนี้ได้หารือกับหน่วยงานคณะและส่วนงานต่าง ๆ ที่สนใจเข้าร่วมขับเคลื่อนในภาพของ ทีเอสยู เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ซึ่งคาดว่ามหาวิทยาลัยทักษิณจะเริ่มก่อตั้งบริษัทลูกภายใต้หน่วยงานคณะ และส่วนงานต่าง ๆ โดยใช้ฐานนวัตกรรมที่แต่ละคณะร่วมมือกันสร้างสรรค์ขึ้นมา อีกทั้ง ได้มีการวางแผนในการบ่มเพาะ Startup ที่มาจากนิสิตหรือนักวิจัยของมหาวิทยาลัยทักษิณ เพื่อสร้างให้ Startup เห็นภาพของการบ่มเพาะตัวเอง และเห็นภาพรวมของการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ต่อการพัฒนาในเชิงพาณิชย์มากขึ้น

ในปีแรกได้กำหนดเป้าหมายที่จะเข้าระบบของการเป็น Hub ในลักษณะศูนย์กลางนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยทักษิณ TSU Innovation Hub เพื่อทำการบ่มเพาะ Startup โดยเริ่มจากการบ่มเพาะนักวิจัย และคัดเลือก IP ที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเห็นภาพของการขยับในเรื่องของการจัดตั้งบริษัทลูก ของ ทีเอสยู เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ที่จะร่วมลงทุนกับหน่วยงานระดับคณะและส่วนงานต่าง ๆ โดยการตั้งเป้าหมายสร้างผู้ประกอบการในฐานธุรกิจนวัตกรรมประมาณ 50-100 ราย หลังจากนั้นจะเริ่มขยับไปในเรื่องของการเปิดบริษัทลูกภายใต้ ทีเอสยู เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ประมาณ 1-2 บริษัท ที่มีความเฉพาะ และโดดเด่น ด้านนวัตกรรมที่พุ่งเป้าไปสู่เชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง ผลผลิตที่สำคัญน่าจะเป็นฐานของการร่วมลงทุน ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ประมาณ 50 ล้านบาท ซึ่งคงจะเห็นภาพของการพัฒนากำลังคน การพัฒนานิสิต นักศึกษา นักวิจัย ให้เป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม มีรายได้ที่ดีขึ้น เป็นกลไกผลักดันระบบนิเวศในฐานธุรกิจนวัตกรรมให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ