สมาคมประกันวินาศภัยไทย จับมือ กรมส่งเสริมการเกษตร และไทยคม นำระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้ช่วยเกษตรกรและสร้างความยั่งยืนให้การประกันภัยพืชผลของไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 1, 2024 09:06 —ThaiPR.net

สมาคมประกันวินาศภัยไทย จับมือ กรมส่งเสริมการเกษตร และไทยคม นำระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้ช่วยเกษตรกรและสร้างความยั่งยืนให้การประกันภัยพืชผลของไทย

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ผนึกกำลังร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร และ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ลงนามความร่วมมือในโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย ด้วยการนำระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการประกันภัยพืชผล พร้อมยกระดับมาตรฐานการประกันภัยด้านการเกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยีอวกาศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีลงนาม ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือของกรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมประกันวินาศภัยไทย และไทยคม ทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาการนำระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการประกันภัยพืชผล ด้วยการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก (Earth Observation Satellite) ระบบวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics System) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence/Machine Learning) มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น ข้อมูลแปลงเกษตรกร พันธุ์ข้าว พื้นที่ประสบภัยพิบัติ และอื่น ๆ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการวางแผนและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติให้ได้รับเงินสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง ทำให้ต้นทุนของเกษตรกรลดลง อีกทั้งยังช่วยให้ภาครัฐมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ เพื่อนำใช้ในการวางแผนรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างทันถ่วงที และช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนช่วยให้ภาครัฐบริหารจัดการงบประมาณได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการ บูรณาการความร่วมมือ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลสารสนเทศ ข้อมูลภูมิสารสนเทศ และงานวิจัย เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรทั้งสามหน่วยงานให้มีความรู้ความสามารถ อันจะนำไปสู่การช่วยขับเคลื่อนให้ภาคอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศก้าวหน้าต่อไปได้ในอนาคต

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร วางแนวทางการขับเคลื่อนภารกิจในปี 2567 โดยเน้นขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ สร้างสินค้าเกษตรมูลค่าสูง (High Value) ควบคู่ไปกับการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Low Carbon) และเพิ่มพื้นที่สีเขียวในภาคการเกษตรรวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และขับเคลื่อน BCG Model รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital DOAE) เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ถือเป็นหน่วยงานหลักในการรับขึ้นทะเบียนเกษตรกร รับแจ้งข้อมูลเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติ ร่วมเป็นคณะกรรมการประเมินความเสียหายในแปลงของเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ และการดำเนินการด้านอื่น ๆ เช่น วางแผนช่วยเหลือและพัฒนาการเกษตรและเกษตรกร ซึ่งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายภายหลังเกิดภัยแล้ว พร้อมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและสมาคมประกันวินาศภัยไทยไปใช้ประกอบการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรที่ทำประกันภัยไว้ ซึ่งต้องใช้เวลาในการดำเนินการพอสมควร

ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท ไทยคมจำกัด (มหาชน) และ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อนำความรู้ และความเชี่ยวชาญ สร้างความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกันบูรณาการและพัฒนาแนวทางการนำระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการประกันภัยพืชผล ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้น และโอกาสที่ดีที่จะร่วมกัน ในการพัฒนาระบบประกันภัยพืชผลอย่างยั่งยืน มีความถูกต้อง แม่นยำ โดยการนำเทคโนโลยีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลขนาดใหญ่มาใช้ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาใช้การประกันภัยเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการบริหารจัดการความเสี่ยงในการทำการเกษตร และเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐและประชาชน และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ด้วยความมั่นคง เพราะภาคเกษตรกรรมเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า สมาคมประกันวินาศภัยไทย เป็นองค์กรที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการนำระบบประกันภัยมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับภาครัฐและเกษตรกร โดยเฉพาะโครงการประกันภัยพืชผล ซึ่งเป็นโครงการที่ธุรกิจประกันวินาศภัยมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นในการทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการบริหารความเสี่ยง ให้กับภาคการเกษตรของไทย เพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพมากยิ่งขึ้น โดยสมาคมฯ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารโครงการประกันภัยพืชผลให้กับภาครัฐในโครงการประกันภัยข้าวนาปี และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลารวมกว่า 12 ปี ซึ่งมีภาพรวมของผลการดำเนินงานในการรับประกันภัยครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกกว่า 210 ล้านไร่ และมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เป็นจำนวนกว่า 15,066 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • โครงการประกันภัยข้าวนาปี ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปี 2565 มีพื้นที่รับประกันภัย จำนวน 203.7 ล้านไร่ มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน จำนวน 14,611 ล้านบาท
  • โครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ปี 2552 จนถึง ปี 2566 มีพื้นที่รับประกันภัย จำนวน 5.5 ล้านไร่ มีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน จำนวน 455 ล้านบาท
  • ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้มีการพัฒนาโครงการประกันภัยพืชผล โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนโครงการประกันภัยพืชผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์การดำเนินงานให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรวมถึงเกษตรกรผู้เอาประกันภัยให้ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและรวดเร็ว เพื่อให้การประกันภัยพืชผลของไทยเกิดความยั่งยืน ดังนี้

  • พัฒนาเทคโนโลยีในการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลการรับประกันภัย การขึ้นทะเบียนเกษตรกร และการรายงานความเสียหาย ระหว่างกรมส่งเสริมการเกษตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กับสมาคมฯ เพื่อให้มีการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น
  • พัฒนาระบบการรายงานความเสียหายด้วยการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายโดยมิได้อยู่ในพื้นที่ประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ผ่านแอปพลิเคชัน "มะลิซ้อน" เพื่อให้เกษตรกรผู้เอาประกันภัยสามารถใช้แอปพลิเคชันนี้รายงานความเสียหายด้วยโทรศัพท์มือถือ ต่อยอดการเป็น Smart Farmer ซึ่งจะช่วยให้การประกอบอาชีพการเกษตรในประเทศไทยมีความยั่งยืนต่อไป
  • การนำเทคโนโลยีดาวเทียม ระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และระบบ AI & Machine Learning มาใช้ในการประกันภัยพืชผล โดยร่วมกับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในการวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจสอบความเสียหายเพื่อดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในโครงการประกันภัยพืชผลต่อไป ซึ่งได้เริ่มนำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช ร้อยเอ็ด และสุโขทัย โดยผลการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวนั้นสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางที่ใช้ในการพัฒนา ต่อยอด และขยายผลในการดำเนินงานเพิ่มเติมในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศต่อไป ซึ่งจะมีการดำเนินงานขยายพื้นที่การทดสอบ จากเดิม 6 จังหวัด จำนวน 3 ล้านไร่ เป็น 16 จังหวัด จำนวน 13 ล้านไร่ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการสำรวจความเสียหายให้มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
  • การลงนามบันทึกความเข้าใจในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นผลต่อเนื่องจากการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวของสมาคมฯ ในการนำระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการประกันภัยพืชผลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย ที่มีเป้าหมายร่วมกันเพื่อผลักดันการนำเทคโนโลยีมาใช้ประเมินความเสียหายทั่วประเทศต่อไป

    นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า ไทยคมมีเจตนารมณ์สำคัญในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง ควบคู่ไปกับการช่วยพัฒนาประเทศชาติให้เกิดความยั่งยืน ด้วยการพัฒนาโซลูชันที่ได้ข้อมูล Big Data จากอวกาศ มาวิเคราะห์ร่วมกับ Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning (ML) เพื่อนำไปใช้วางแผนในการบริหารจัดการให้กับประเทศในหลายมิติ โดยเฉพาะภาคการเกษตรไทย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ ดังนั้น การผนึกกำลังกับกรมส่งเสริมการเกษตร และสมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงเป็นการตอกย้ำพันธกิจของไทยคม ที่ได้นำความเชี่ยวชาญในธุรกิจดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศ มาต่อยอดให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มในการประกันภัยพืชผล เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการนี้


    เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ