“ อพท. ร่วมพัฒนาต้นแบบธุรกิจสีเขียว พร้อมต่อยอดสู่มาตรฐานสากล ” ตั้งเป้าเชื่อมโยงเครือข่ายใยแมงมุมสร้างตลาดเพื่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

ข่าวทั่วไป Thursday June 12, 2008 10:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--
“ของดีในของเสีย — ของเสียในของดี” : จุดคลิกเล็กๆ ของธุรกิจ (ที่ไม่หวังแค่การสร้างกำไรจากยอดขายโดยมิได้ใส่ใจระบบสิ่งมีชีวิตจรดจนสิ่งแวดล้อมรอบข้าง) จะถูกต่อเติมสู่มาตรฐานสากล และเพิ่มพลังพื้นที่สีเขียวได้ด้วยการเชื่อมเครือข่ายธุรกิจเข้าด้วยกัน จะเป็นจริงได้หรือไม่ — ขึ้นอยู่ที่ใคร (ถ้าไม่ใช่เฒ่าแก่ธุรกิจที่จริงใจทำเพื่อสังคม !)
อพท. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กับงานพัฒนาการท่องเที่ยวในแบบยั่งยืน ที่แตกต่างไปจากการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นเพียงรายได้อย่างเดียวนั้น โดย อพท. มีแนวทางการทำงานที่เดินหน้าไปพร้อมกับภาคี กลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ โดยตรง ซึ่งงานสำคัญหนึ่งคือการสร้างฐานเศรษฐกิจชุมชนจากรายได้การท่องเที่ยวที่ต้องมาพร้อมกับการอนุรักษ์ดูแลสิ่งแวดล้อมให้อยู่ดีมีความยั่งยืนเป็นแนวคู่ขนานไปพร้อมๆ กัน
แนวคิดเครือข่ายใยแมงมุมธุรกิจสีเขียว โปรเจ็คที่มีเป้าหมายท้าทายหนึ่งที่ อพท. กำลังเตรียมศึกษาค้นหาความเป็นไปได้และริเริ่มขยับจากกลไกกลางของ อพท. เองในการทำหน้าที่ประสานต่อเชื่อมเครือข่ายธุรกิจต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายชวนผู้คนทำธุรกิจให้หันมาสนใจการนำแนวคิดเรื่องการตลาดสีเขียว หรือธุรกิจรักษาสิ่งแวดล้อม ภายใต้การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐานในระดับสากล มาใช้เป็นหลักในการทำธุรกิจของตน
โรงแรมอัยยะปุระ รีสอร์ท แอนสปา ผู้นำหนึ่งของธุรกิจสีเขียว ที่มีรางวัลความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย เป็นเครื่องการันตีธุรกิจในเรื่องความใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งใน 14 โรงแรมที่ได้รับรางวัลนี้จากทั้งหมด 160 โรงแรมทั่วประเทศ จากเพียงจุดคลิกเรื่องไม่ง่ายให้เป็นเรื่องสบายๆ ในการจัดการ ภายใต้แนวคิดเรื่อง “ของดีในของเสีย — ของเสียในของดี” เป็นจุดเริ่มที่ถูกนำมาใช้ในการทำธุรกิจโรงแรมนี้
พล.ท.ปรีชา วรรณรัตน์ ประธานบริหารโรงแรมอัยยะปุระ รีสอร์ท แอนสปา ให้ความเห็นว่า “เราได้นำเอาของเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงแรม เช่น เศษอาหาร ขยะมูลฝอยต่างๆ มาหมักร่วมกับการใช้เทคโนโลยีไบโอแอคแทค และการสนับสนุนความรู้ด้านงานวิจัยจากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ทำของเสียดังกล่าวให้เป็น “น้ำชีวภาพ” กลับไปบำบัดน้ำเสีย รดน้ำต้นไม้ และกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่างๆ นอกจากนั้นยังมีการเก็บขยะในโรงแรมออกจำหน่ายเพื่อนำไปรีไซด์เคิลใช้ใหม่ การใช้ระบบ IT ควบคุมดูแลสต๊อกต่างๆ ช่วยลดพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนมากได้ จนได้รับรางวัลจากการไฟฟ้า นอกจากนั้นมีการนำศิลปวัฒนธรรมไทยมาเป็นจุดขายสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับโรงแรม เช่น การแสดงรำไทย มวยไทย เป็นต้น ทั้งหมดภายใต้ 3 หลักนำการจัดการธุรกิจของเรา คือความมุ่งมั่นในเรื่องความปลอดภัย สุขาภิบาลหรือสุขอนามัย และความพึงพอใจในบริการนั่นเอง”
นายวรสิทธิ์ โรจนพานิช กล่าวว่า “ อพท. ได้ร่วมศึกษาต้นแบบธุรกิจสีเขียวของโรงแรมอัยยะปุระ รีสอร์ท แอนสปา เพื่อต่อยอดแนวคิดการดำเนินธุรกิจควบคู่การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน พร้อมพัฒนามาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมสู่มาตรฐานสากล รวมทั้งมองโอกาสในการเชื่อมต่อแนวคิดนี้กับผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมรายอื่นๆ เพื่อขยายวงพื้นทีสีเขียวบนเกาะช้างที่กว้างขวางและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจเองเกิดกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กำลังขยายขนาดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อยอดขาย ภาพลักษณ์ของธุรกิจ ที่สำคัญส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยรวม”
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมได้ร่วมศึกษาและพัฒนาการทำธุรกิจสีเขียวร่วมการดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกันกับ อพท. และมูลนิธิใบไม้สีเขียว เพื่อร่วมค้นหาแนวทางการดำเนินงานและการต่อยอดมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมสู่สากล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ