นายแพทย์ศัลยเวทย์ เลขะกุล คว้ารางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล-บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ประจำปี ๒๕๕๑

ข่าวทั่วไป Tuesday June 24, 2008 10:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยมหิดล
นายแพทย์ศัลยเวทย์ เลขะกุล กรรมการบริหารราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย เจ้าของผลงานโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ มูลนิธิหู คอ จมูกชนบท คว้ารางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล - บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ประจำปี ๒๕๕๑
ศาสตราจารย์คลินิก ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท บี บราวน์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดให้มีรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล - บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ขึ้นเป็นปีที่ ๑๖ เพื่อให้รางวัลแก่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้อุทิศตน เสียสละ มีความยึดมั่นในจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ปฏิบัติงานเพื่อการวิจัย ค้นคว้า คิดเทคนิควิธีการรักษา ซึ่งยังประโยชน์อย่างยิ่งต่อชาวไทย และมนุษยชาติ ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับเงิน ๗๐๐,๐๐๐ บาท (เจ็ดแสนบาทถ้วน) และเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ณ หอประชุมกองทัพเรือ โดยปีนี้ผู้ได้รับรางวัล ได้แก่ นายแพทย์ศัลยเวทย์ เลขะกุล กรรมการบริหารราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย เจ้าของผลงานโครงการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ มูลนิธิหู คอ จมูกชนบท เนื่องจากประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู คอ จมูก เพียง ๒๖ คน นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นอาจารย์สอนอยู่ตามคณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในขณะที่มีคนไทยในชนบทจำนวนมากต้องเสียชีวิตเพราะฝีในสมอง ซึ่งแทบทั้งหมดมีสาเหตุมาจากโรคหูน้ำหนวก โดยเป็นผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการหนองไหลเรื้อรัง เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดโอกาสในการเดินทางเข้ามารักษาที่กรุงเทพฯ นายแพทย์ศัลยเวทย์ เลขะกุล เป็นผู้รวบรวมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมก่อตั้งมูลนิธิหู คอ จมูก แห่งประเทศไทย และได้สร้างสรรค์ดัดแปลงอุปกรณ์การแพทย์ที่มีขนาดใหญ่ ให้มีขนาดเล็กลง สะดวกต่อการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ อาทิ กล้องไมโครสโคปผ่าตัดหูที่มีน้ำหนักเบา สามารถแยกชิ้นส่วน และประกอบเพื่อใช้งานได้ง่าย, อุปกรณ์ตู้ตรวจหู คอ จมูก ที่ดัดแปลงให้มีขนาดเล็กสามารถหิ้วไปใช้งานได้ทั้งการตรวจและการผ่าตัด และได้ร่วมพัฒนาและผลิตเครื่องตรวจวัดการได้ยิน (Digital Screening Audiometers) ให้ใช้ง่ายและราคาถูก นำขึ้นถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อใช้ในงานค้นหาเด็กหูหนวกหูตึงในโรงเรียนทั่วประเทศ นับเป็นเวลากว่า ๓๐ ปีที่นายแพทย์ศัลยเวทย์ เลขะกุล และมูลนิธิหู คอ จมูกชนบท หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ได้ร่วมออกหน่วยเคลื่อนที่ให้การรักษาผู้ยากไร้ในชนบทที่มีอาการพิการทางหูทั้งในประเทศ และประเทศที่ด้อยโอกาส อาทิ ประเทศอินเดีย ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศสหภาพพม่า ประเทศกัมพูชา ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้ ประเทศภูฏาน และ ประเทศเคนยา โดยไม่คิดค่าตอบแทน ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ป่วยได้มาขอรับการตรวจรักษาจำนวนมากกว่า ๑๒๐,๐๐๐ ราย และได้รับการผ่าตัดหูด้วยกล้องผ่าตัด ไปแล้วไม่น้อยกว่า ๑๒,๐๐๐ ราย ผลจากการดูแลรักษาผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคหูหนองเน่าเหม็น ซึ่งเป็นโรคที่สังคมรังเกียจ และยังป้องกันหูหนวก หูตึง ป้องกันไม่ให้เสียชีวิตจากการเป็นฝีแตกขึ้นสมอง สามารถสื่อสารได้ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากผลงานดังกล่าวได้ส่งผลให้ นายแพทย์ศัลยเวทย์ เลขะกุล ได้รับประกาศคำชมเชยจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และ United Nation Development Program ได้นำเรื่องไปถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี แปลเป็นภาษาเยอรมัน ฝรั่งเศส และ สเปน เผยแพร่ไปยังประเทศต่างๆ ๗๐ ประเทศ รวมทั้ง Reader’s Digest Magazine ได้มีการตีพิมพ์เรื่องเกี่ยวกับชีวิตและการทำงานในชนบทของ นายแพทย์ศัลยเวทย์ เลขะกุล อีกด้วย ศาสตราจารย์คลินิก ปิยะสกล สกลสัตยาทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลจากการทุ่มเททำงานรักษาผ่าตัดโรคหูน้ำหนวกแก่ผู้ป่วยในชนบททั้งในประเทศและประเทศที่ด้อยโอกาส ตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ ปีทำให้ นายแพทย์ศัลยเวทย์ เลขะกุล ได้รับการยอมรับทั้งระดับชาติและนานาชาติ และจากผลงานดังกล่าวจึงสมควรได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล - บี บราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๑ และจะเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรประกาศเกียรติคุณ จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑ ณ หอประชุมกองทัพเรือ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ