เสียงสะท้อนจากหัวใจ “คนช้าง” วอนให้ความสำคัญ “ช้าง” สัตว์ประจำชาติไทย

ข่าวทั่วไป Tuesday March 8, 2005 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์
ช้าง มีความสำคัญและมีความสัมพันธ์กับคติความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณีของไทยอย่างลึกซึ้งมาแต่โบราณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวความสัมพันธ์กับองค์พระมหากษัตริย์ ความสัมพันธ์ของคนกับช้าง ถูกถ่ายทอดสู่ลูกหลานไทย รุ่นแล้ว รุ่นเล่า เสมือนหนึ่งเป็นตำนานการกอบกู้แผ่นดินไทยสู่อิสรภาพให้ลูกหลานชาวไทยได้ภาคภูมิใจในความเป็นเอกราชจนทุกวันนี้
เมื่อวันอังคาร ที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้ “ช้างไทย” เป็นสัตว์ประจำชาติไทย ซึ่งได้รับการขานรับจากคนไทยถ้วนทั่วทุกวงการ เนื่องด้วยต่างตระหนักในความสำคัญประดามีของ “ช้าง” และในโอกาสวันช้างไทย 13 มีนาคม ที่จะกำลังจะมาถึงนี้ “คนช้าง” ได้ฝากถ้อยคำถึงผู้เกี่ยวข้องและลูกหลานไทยให้ได้ระลึกถึง และกระตุ้นให้มีการสืบสานต่อ หาใช่เพียงโห่ร้องแซ่ซ้องยินดีแต่มิมีใครปฏิบัติให้เกิดผลสมดังที่เชิดชูว่าเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย นายลายทองเหรียญ มีพันธุ์ คนช้างที่ทุ่มเทกำลังทุกด้านเพื่อช้างไทยและชาวช้าง แม้จะต้องพบกับอุปสรรคนานัปการกับภารกิจการก่อตั้งวังช้างอยุธยา แล เพนียด และ เป็นที่รู้จักกันดี ในฐานะผู้ช่วยเหลือ “พังมะลิ” ที่ติดยาบ้า โดยนำออกมาจากป่าดูแลจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต, การอุปการะ “น้องอุ้ม” ช้างน้อย กำพร้าแม่วัย 1 เดือน และที่น่าสนใจคือ รื้อฟื้น การจัดงาน “คล้องช้างตำราหลวง” ที่วังช้างอยุธยา แล เพนียด เมื่อวันมรดกโลก ปลายปี 2540 กิจกรรมเหล่านี้
นายลายทองเหรียญ บอกว่า คือชีวิต ที่ผูกพันกับช้าง จนแทบเรียกได้ว่า เป็นลมหายใจ ซึ่งกันและกัน ทีเดียว “ผมมองว่าสถานการณ์ช้างไทยในปัจจุบัน ดูโดยทั่วไปเหมือนกับเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหา นอกจากนานๆ ครั้ง จะมีข่าวช้างประสบอุบัติเหตุ หรือ ล้มหายตายจากไปบ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้ว มีผู้ใด ใครทราบหรือบอกได้ไหมว่า ช้างไทยที่ถูกใช้งาน ชักลากไม้ ผิดกฎหมาย ในป่าลึก มีจำนวนมากน้อยเพียงไร มีสภาพความเป็นอยู่อย่างไร และจะมีชะตากรรมเช่นไร เหมือนตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับช้างมะลิ นอกจากนี้ยังมีปัญหาช้างเร่ร่อน ซึ่งเป็นทั้งปัญหาสังคม และปัญหาด้านมนุษยธรรม ขอจงมองและคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ ด้วยใจที่เป็นธรรมเถิด”
ช้างไทยที่เคยร่วมสร้างบ้านแปงเมือง เป็นยุทธปัจจัยสำคัญในการสงครามแต่โบราณ เป็นสัญลักษณ์ เอกลักษณ์ของความเป็นไทย กลับต้องร่อนเร่พเนจรหากินดุจวนิพก ต้องเสี่ยงภัยกับยวดยาน ถนนหนทาง และ อากาศร้อนในเมือง ช้างเร่ร่อนหลายเชือก ต้องประสบอุบัติเหตุ เป็นที่น่าเวทนา จตุบาททหารกล้าผู้พิทักษ์ช้างศึก ผู้องอาจในอดีต กลับกลายเป็นชาวช้าง ที่ต้องหิ้วถุง พืช ผัก ผลไม้ เร่ขายเลี้ยงช้าง เลี้ยงชีพ ช้างเร่ร่อน ซึ่งส่วนใหญ่ มาจากสุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ที่ทยอยเวียนเข้ามา หารายได้ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลนั้น เป็นชีวิตที่หลายฝ่ายมองด้วยความเป็นห่วง ขณะที่ทางด้านสถานการณ์ช้างป่าในประเทศไทย ก็มีจำนวนลดน้อยลงไปมาก ด้วยถูกรังควาญ ไล่ล่า อย่างทารุณ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยการรุกล้ำ ตัดไม้ทำลายป่า ที่ซึ่งเปรียบประดุจบ้านของช้าง รวมทั้ง การลอบทำร้าย จากคนที่มีทั้งศาสตราวุธ และยาเบื่อยาพิษ หากปัญหาเกี่ยวกับช้างไม่ได้รับการแก้ไข อย่างเป็นรูปธรรม อีกไม่นานเราคงพอมองเห็นภาพแห่งอนาคตของช้างไทย ได้ไม่ยาก
และเสียงจากผู้เกี่ยวข้องกับช้างอีกคน คือ นางอัจฉรา กิจกัญจนาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์กราฟฟิก บริษัท กันตนา แอนนิเมชั่น จำกัด ที่กำลังขะมักเขม้นกับผลงานชิ้นโบว์แดง “ก้านกล้วย” ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องแรกของไทยที่กำลังจะโกอินเตอร์ให้ชาวต่างชาติได้ทึ่งในฝีมือคนไทย โดยสอดแทรกความเป็นไทยไว้อย่างแยบยลในตัวละครเอก “ช้างก้านกล้วย” ซึ่งเป็นช้างทรงของ สมเด็จพระนเรศวร และนำเสนอเกร็ดประวัติศาสตร์ผ่านความสนุกสนาน น่ารัก น่าลุ้น ของตัวละครในเรื่อง “ได้ศึกษาเรื่องของช้างอย่างใกล้ชิด เพื่อนำรายละเอียดมาทำงานตรงนี้ จนอยากเป็นคนช้างกับเขาเหมือนกัน ที่รู้ๆ คือ ช้างไทย เป็นช้างสัตว์บกสี่เท้าร่างใหญ่สง่ากล้าหาญทนงานหนักเคยได้รับเกียรติสูงให้เป็นพาหนะยาม ออกศึกของพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตและเป็นสัตว์คู่บุญพระบารมีอีกด้วย สมัยหนึ่งภาพของสัตว์นี้เคยปรากฏเด่นเป็นสีขาวบนผืนธงชาติสีแดงของไทย นอกจากนี้ส่วนหัวเมื่อประกอบเข้าเป็นสามเศียรก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของตราแผ่นดินในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนปัจจุบันที่ไม่มีศึกสงคราม ช้างถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการแข่งขันกีฬา และการจัดกิจกรรมต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายไปทั่วโลก และในปี 2541 เป็นปีที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 และได้กำหนดให้นำช้างมาใช้เป็นสัญญลักษณ์ คือ ช้างไชโย”
จากตำนานปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นประจักษ์พยานถึงความสำคัญของช้าง ที่เป็นสัตว์ประจำชาติไทย ได้เป็นอย่างดี บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทคนไทยที่ดำเนินธุรกิจบันเทิงครบวงจร เล็งเห็นความสำคัญของการเผยแพร่และปลูกฝัง ให้เด็กและเยาวชนไทยเห็นถึงความสำคัญของช้าง ได้เรียนรู้ ได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด โดยมุ่งหวังให้เกิดความรัก ความผูกพัน ความหวงแหนช้างไทย ในฐานะที่เป็นสัตว์ประจำชาติไทยและเป็นสัตว์คู่บารมีของพระมหากษัตริย์ไทย จึงได้ร่วมกับ องค์การสวนสัตว์ดุสิต จัดกิจกรรมเนื่องในวันช้างไทย ภายใต้ชื่องาน “สนุก....สร้างสรรค์วันช้างไทย” ระหว่างวันที่ 12-13 มีนาคม 2548 ตั้งแต่เวลา 10.00-17.00 น. ณ ลานอเนกประสงค์ ขององค์การสวนสัตว์ดุสิต โดยจะจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ จัดนิทรรศการรายละเอียดข้อมูลสายพันธุ์ช้างไทย คุณลักษณะของช้างคู่บ้านคู่เมือง, จัดกิจกรรมสำหรับเด็กและประชาชน อาทิ การสอนวาดภาพ-ระบายสีช้างไทย, สอนวิธีการวาดช้างให้เป็นภาพเคลื่อนไหวแบบการ์ตูนแอนิเมชั่นจาก แอนิเมเตอร์ผู้อยู่เบื้องหลัง “ก้านกล้วย” พร้อมการเล่นเกมแจกของรางวัลมากมาย และพิเศษสุดสำหรับผู้ที่ร่วมผจญภัยไปกับเกมก้านกล้วย Walk Rally ทุกคนในงานจะได้เป็นสมาชิก “ก้านกล้วยแฟนคลับ” ซึ่งจะได้รับสิทธิพิเศษในกิจกรรมของก้านกล้วยครั้งต่อๆ ไป
คนไทยไม่ควรพลาด !! 12-13 มีนาคมนี้ ที่สวนสัตว์ดุสิต จูงมือลูกหลาน
ร่วมแรงร่วมใจ ให้ความสำคัญ “ช้างไทย” ให้สมกับเป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยอย่างแท้จริง
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์
นิลธรา มะเดชา, วีรยา หมื่นเหล็ก, อุมา พลอยบุตร์
โทรศัพท์ 0 2691 6302-4, 0 2274 4782
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ