หนุนกองทุนใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น หวังเป็นกลไกยกระดับบรรษัทภิบาล

ข่าวทั่วไป Friday February 11, 2005 08:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--ก.ล.ต.
ก.ล.ต. ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อยกระดับบรรษัทภิบาลที่ดีของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ล่าสุด กำหนดเกณฑ์ให้บริษัทจัดการ ในฐานะผู้แทนกองทุน ทั้งกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล
ต้องไปใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น ในนามของกองทุน (proxy voting) เพื่อรักษาผลประโยชน์
สูงสุดของกองทุน และต้องเปิดเผยแนวทางการใช้สิทธิออกเสียง เพื่อให้ผู้ลงทุนตรวจสอบได้
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยถึงการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวว่า “ การที่กองทุนไปใช้สิทธิออกเสียงในฐานะผู้ถือหุ้น นอกจากจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ลงทุนแล้ว
ยังช่วยสนับสนุนบทบาทของผู้ถือหุ้นในการทำหน้าที่อนุมัติการทำธุรกรรมสำคัญ ๆ ที่ผู้ลงทุนจะได้รับ
ผลกระทบ และตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน ก.ล.ต. จึงได้กำหนดเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำให้บริษัทจัดการในฐานะผู้แทนกองทุน ต้องไปใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น หรือ มูลค่าหุ้น อาทิ การจ่ายเงินปันผล การเพิ่ม / ลดทุน การปรับโครงสร้างหนี้ การทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน การแต่งตั้ง / ถอดถอน กรรมการบริษัท หรือ ผู้สอบบัญชี เป็นต้น ”
“เรื่องนี้ ถือเป็นหนึ่งในแผนงานด้านบรรษัทภิบาลของ ก.ล.ต. และเป็นความพยายามที่จะให้ผู้ลงทุนประเภทสถาบัน เป็นกลไกส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนมีการบริหารจัดการที่ดีตามหลักบรรษัทภิบาล
ซึ่งจะนำมาทั้งคุณภาพและความน่าเชื่อถือแก่บริษัทจดทะเบียน และตลาดทุนไทย ” นายธีระชัย กล่าวสรุป
(สรุปสาระสำคัญของเกณฑ์ดังกล่าวปรากฏตามเอกสารแนบ)
ประกาศที่เกี่ยวข้อง
1. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ สน. 1/2548 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยบริษัทจัดการในนามกองทุน และการเปิดเผยข้อมูล
2. ประกาศสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ อน. 1/2548 เรื่อง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยบริษัทจัดการในนามกองทุน และการเปิดเผยข้อมูล
สาระสำคัญของประกาศ
กรณีกองทุนรวม บริษัทจัดการจะต้องดำเนินการ :
กำหนดแนวทางการใช้สิทธิออกเสียงอย่างชัดเจน โดยแนวทางดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของบริษัทจัดการ
ใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประโยชน์ของกองทุนรวม เช่น การจ่ายเงินปันผล การเพิ่ม / ลดทุน การปรับโครงสร้างหนี้ การทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน การซื้อขายทรัพย์สินสำคัญ ๆ การแก้ไขข้อบังคับบริษัท และการแต่งตั้ง / ถอดถอนกรรมการบริษัท หรือ ผู้สอบบัญชี เป็นต้น
มีระบบงานที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการดำเนินการใช้สิทธิออกเสียง
เปิดเผยแนวทาง และการดำเนินการใช้สิทธิออกเสียง
จัดเก็บเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการใช้สิทธิออกเสียงเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
ระบุข้อความในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญว่า ผู้ลงทุนสามารถตรวจดูแนวทางและการดำเนินการใช้สิทธิออกเสียงได้จากวิธีใดบ้าง
ในกรณีที่ลูกค้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล ได้มอบหมายให้บริษัทจัดการใช้สิทธิออกเสียงแทนตน บริษัทจัดการจะต้องปฏิบัติในทำนองเดียวกับกรณีของกองทุนรวม และรายงานให้ลูกค้าทราบเมื่อได้มีการใช้สิทธิออกเสียงแล้ว
สำหรับกรณีที่ลูกค้าไม่ได้มอบหมายให้บริษัทจัดการใช้สิทธิออกเสียง หากเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บริษัทจัดการจะต้องเสนอความเห็นเกี่ยวกับการใช้สิทธิออกเสียง ให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทราบทุกครั้ง หากเป็นกองทุนส่วนบุคคล บริษัทจัดการอาจเสนอความเห็นเกี่ยวกับการใช้สิทธิออกเสียงให้ลูกค้าทราบก็ได้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ