2 หนุ่มเหนือเดินตามพ่อ “พอเพียงเป็น”

ข่าวทั่วไป Wednesday September 10, 2008 17:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานแก่คนไทยมากว่า 30 ปี วันนี้ การน้อมนำมาปฏิบัติเริ่มผลิดอกออกผลให้เป็นที่ชื่นใจ ใครจะคิดว่าเด็กเหนือยุคใหม่จะเข้าใจและเข้าถึงเศรษฐกิจพอเพียงพร้อมนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง เพิ่มรายได้ อุดรายจ่ายจนเห็นผลไม่เฉพาะตัวเอง แต่รวมไปถึงคนรอบข้าง
“พิทักษ์ ลีลาศีลธรรม” และ “ยงยุทธ เลาว้าง” สองหนุ่มนักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนสองแคววิทยา จ.เชียงใหม่ คนแรกใฝ่ฝันจะเป็นเภสัชกร ส่วนอีกคนมองอนาคตถึงการเป็นครูวิทยาศาสตร์ ที่ตอนนี้เป็นแนวร่วมเยาวชนรุ่นใหม่ที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้จนขึ้นใจ เผยว่า เศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง คือ “การมีเหตุผล ความพอประมาณ และการมีภูมิคุ้มกัน” ภายใต้ 2 เงื่อนไข คือ “ความรู้คู่คุณธรรม” ทำให้เขารู้จักคิดก่อนใช้มากขึ้น
“เมื่อก่อนพอเห็นเพื่อนซื้อรองเท้าตามแฟชั่นก็จะซื้อตามโดยไม่ได้คิดอะไรเลย แต่พอนำหลักพอเพียงมาใช้ เวลาจะซื้ออะไร ผมจะคิดก่อนทุกครั้งว่าเราจะซื้อด้วยวัตถุประสงค์อะไร จะถามตัวเองก่อนว่ารองเท้ามีไว้ทำไม ถ้ามีไว้ป้องกันเท้าเวลาเดิน ความสวยงามก็ไม่สำคัญ เราก็จะไม่ซื้อเพิ่มอีก ใช้เหตุผลในการซื้อ รู้จักฉุกคิด เพราะที่มีอยู่ก็มีมากพอใส่อยู่แล้ว รวมไปถึงการซื้อของอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า หรือนำสมุดที่ใช้เหลือจากปีที่แล้วมาใช้ต่อได้ คุณครูก็ไม่ว่าและยังส่งเสริมให้ใช้อีกด้วย ครูจะบอกว่ามันช่วยไม่ทำให้โลกร้อน” พิทักษ์เล่า
สองหนุ่มยังบอกด้วยว่า คนไทยโดยมากซึ่งมีฐานอาชีพเกษตรกรรมมักเข้าใจไม่ครบถ้วนเมื่อเอ่ยถึงเศรษฐกิจพอเพียง ว่าจะหมายถึงการเกษตร ผลิตพอกิน เหลือก็แบ่งขายเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายที่กว้างกว่านั้น สามารถปรับใช้กับทุกกิจกรรมในชีวิต เช่น การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น เหล้า บุหรี่ การพนัน หรือการมีโทรศัพท์มือถือมากกว่า 1 เครื่อง เป็นต้น
“ปกติแล้ว คนเราจะไม่รู้จักความพอเพียง เพราะเรามีความโลภ แต่ถ้าเรารู้จักความพอเพียง ความโลภก็จะลดลง ปัญหาต่างๆ ก็จะลดลงมาก หากพูดในทางศาสนา ความพอเพียงก็คือทางสายกลาง ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป ยิ่งบ้านเรามีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว ผมเชื่อว่าในหลวงทรงเห็นจุดนี้จึงพระราชทานเศรษฐกิจพอเพียงมาให้คนไทยใช้การเกษตรพัฒนาคุณภาพชีวิต บางครั้งเราไม่มีความจำเป็นต้องใช้เงินทองเลยก็ได้” พิทักษ์กล่าวย้ำ
“การรู้คิด” ของ 2 เยาวชนข้างต้นใช่ว่าจะเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนของโรงเรียนซึ่งน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนานักเรียน ตั้งแต่ครูใหญ่ที่มีความศรัทธามุ่งมั่น ครูน้อยที่ผสานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการสอนและกิจกรรมต่างๆ อาทิ คาบวิชาจริยธรรม การจัดทำธนาคารโรงเรียน การปลูกผักสวนครัว การทำน้ำหมักชีวภาพจากผลมะกรูด รวมถึงการเลี้ยงปลาดุกของพิทักษ์ ยงยุทธ และเพื่อนๆ อีกกว่าสิบคน
พิทักษ์กล่าวว่า เขาและเพื่อนได้รวมเงินกันซื้อไข่ปลาดุกมาฟัก เลี้ยง และผสมเทียมในบ่อของโรงเรียนซึ่งได้รับอนุญาตเป็นที่เรียบร้อย เมื่อปลาดุกสาวรุ่นแรกโตเต็มวัยจะได้รับการฉีดฮอร์โมนเร่งให้ไข่สุกเพื่อรีดไข่ไปผสมกับน้ำเชื้อของปลาดุกตัวผู้ ทำให้เปอร์เซ็นต์การรอดของปลาดุกมีมากถึง 90% เทียบกับวิธีธรรมชาติที่มีเปอร์เซ็นต์รอดน้อยมาก ทั้งนี้ตัวอ่อนปลาดุกล็อตแรกจะถูกขายตั้งแต่แรกฟักในราคา 100 ตัว 50 บาท แน่นอนว่าลูกปลาดุกตัวโตกว่าก็จะมีราคาดีกว่า และสำหรับปลาดุกโตเต็มวัยจะถูกขายให้โรงเรียนทำอาหารกลางวันตามราคาท้องตลาด กิโลกรัมละ 35-40 บาท ปลาดุกกว่า 300 กิโลฯ จึงแปรเปลี่ยนเป็นเงินนับหมื่นบาทด้วยมือน้อยๆ ที่มีความสามัคคี
ยงยุทธเล่าว่า พวกเขายังได้รับคำแนะนำจากครูให้ยึดแนวเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับการเลี้ยงปลาดุก โดยมีการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่ชัดเจน รู้จักความพอประมาณ ใช้ทรัพยากร “บ่อเลี้ยงปลาดุก” และ “น้ำ” ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า ทั้งเมื่อนำน้ำหมักชีวภาพไปพัฒนาสูตรอาหารปลาดุกยังทำให้น้ำในบ่อไม่เน่าเสียง่าย สร้างภูมิคุ้มกันให้กับปลาดุก รายได้เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วก็นำกำไรมาแบ่งปันกันในหมู่เพื่อนสมาชิก แต่ก็ไม่ลืมที่จะแบ่งปันให้เพื่อนพ้องนอกกลุ่มได้ลิ้มรสปลาดุกที่ลงแรงเลี้ยงเสมอๆ ด้วย นอกจากนั้นปลาดุกบางส่วนยังนำกลับบ้านทำอาหารเย็น จนพ่อแม่ต้องประหลาดใจที่ลูกชายคนเดิมใช้จ่ายน้อยลง แถมแบ่งเบาภาระทางบ้านได้ด้วย
“ที่บ้านก็มีมาถามนะว่าทำไมเดือนนี้ใช้เงินประหยัดไปเยอะเลย ผมคิดว่าเราเป็นลูก เราก็มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นในครอบครัว บอกแม่ว่าของที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปซื้อ พ่อแม่ฟังและทำด้วย น้องตัวเล็กๆ พอเห็นพ่อแม่ทำ เราให้เหตุผลเขา เขาก็เชื่อฟังเราง่ายขึ้น ครอบครัวของเราจึงมีความประหยัดมัธยัสถ์ และของที่เราทำได้เองอย่างน้ำหมักชีวภาพก็นำมาใช้ที่บ้าน ลดรายจ่ายในบ้านได้อีกทางหนึ่ง” พิทักษ์ว่า
สุดท้าย เมื่อถามถึงความอิ่มเอมจากดอกผลแห่งความพอเพียง สองหนุ่มเมืองเหนือตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า มีผลดีแน่นอน พิสูจน์ได้จากประสบการณ์ตรงที่ได้ประจักษ์แล้ว และไม่เพียงผลดีจะตกแก่เขาสองคนเท่านั้น แต่เมื่อสมาชิกในบ้านได้นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ก็ช่วยให้อุดรูรั่วรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ฐานะการเงินจึงดีขึ้น ปัญหาและความบีบคั้นในบ้านก็ลดน้อยลง ความอบอุ่นในบ้านก็เพิ่มมากขึ้น
ก่อนแยกย้ายกันไป ยงยุทธเสริมอย่างปลาบปลื้มว่า หลังจากรู้จักความพอเพียง พ่อของเขาที่เคยซื้อข้าวเขากินทั้งที่มีที่นาของตัวเอง มาวันนี้พ่อคนเดิมได้ลุกขึ้นมาจับจอบจับเสียมปลูกข้าวกินเองแล้ว.
ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์มูลนิธิสยามกัมมาจล
สมเกียรติ พุทธิจรุงวงศ์ (เซ้ง)
เจ้าหน้าที่สื่อสารสังคม
มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
0-2564-5692, 086-547-2884
scbf_somkeait@scb.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ