ฟิทช์จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ชุดใหม่ของ บมจ ปูนซิเมนต์ไทยที่ระดับ ‘A+(tha)’

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 25, 2008 14:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้อันดับเครดิตแก่หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของ บมจ. ปูนซีเมนต์ไทย หรือ SCC ครั้งที่ 2/2551 มูลค่าไม่เกิน 2.0 หมื่นล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2555 ที่ระดับ ‘A+(tha)’ โดยเงินที่ได้รับจากหุ้นกู้ชุดใหม่จะนำมาใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระและนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ แนวโน้มเครดิตของบริษัทเป็นลบ
อันดับเครดิตของ SCC สะท้อนถึงการที่บริษัทมีการกระจายตัวของรายได้ที่ดี ความเป็นผู้นำทางด้านส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจหลัก เครือข่ายการตลาดที่กว้างขวางและชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มลูกค้าในประเทศ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และทีมผู้บริหารที่มีประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตสะท้อนถึงแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทเพื่อขยายกำลังการผลิต SCC มีแผนการลงทุนหลักจำนวน 5.7 หมื่นล้านบาทระหว่างปี 2551 ถึงปี 2553 ประกอบด้วยเงินลงทุนในโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่สองและโครงการปิโตรเคมีปลายน้ำ โครงการสร้างโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์แห่งใหม่ในประเทศเวียดนาม โครงการเพิ่มกำลังการผลิตภายในประเทศของกระดาษพิมพ์เขียน และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของธุรกิจปูนซีเมนต์ นอกจากนี้ บริษัทยังมีโครงการลงทุนเพิ่มเติมอีก 3.5 หมื่นล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าว โดยขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งประกอบด้วย โครงการปิโตรเคมีครบวงจรในเวียดนาม การขยายกำลังการผลิตซีเมนต์ในกัมพูชาและโรงงานซีเมนต์แห่งใหม่ในอินโดนีเซีย และรวมถึงแผนการเข้าซื้อกิจการในภูมิภาคนี้ โดยโครงการเพิ่มเติมดังกล่าวนี้ SCC มองว่าสามารถที่จะปรับลดระดับของการลงทุนหรือเลื่อนเวลาการลงทุนออกไปได้ ถ้าหากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมองว่าอาจจะมีผลกระทบต่ออัตราส่วนหนี้สินในระยะยาวของ SCC ปัจจัยความเสี่ยงอื่นของบริษัทยังรวมถึงผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งกระทบต่อรายได้จากการส่งออก และ ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการก่อสร้าง (Execution Risk) ในส่วนของการลงทุนใหม่
ในครึ่งแรกปี 2551 SCC มีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) (ก่อนเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) ลดลง 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาที่ระดับ 19.7 หมื่นล้านบาท โดยเป็นผลจากส่วนต่างกำไรที่ลดลงเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบและพลังงาน รวมถึงผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทต่อสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในส่วนของรายได้จากการส่งออก อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าต่อรายได้ (EBITDA Margins) ลดลงมาอยู่ที่ 12% ในครึ่งแรกปี 2551 จาก 16% ในครึ่งแรกปี 2550 SCC คาดว่าแนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งหลังปี 2551 น่าจะดีขึ้นเนื่องจากแนวโน้มของต้นทุนพลังงานที่อ่อนตัวลง ในขณะเดียวกัน บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย (รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) (Net Debt to EBITDA) ที่ลดความแข็งแกร่งลงมาที่ระดับ 2.2 เท่า ณ สิ้นไตรมาสสองปี 2551 จากระดับ 2.1 เท่า ณ สิ้นปี 2550 เนื่องจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นและ EBITDA ที่ลดลง บริษัทคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (รวมเงินปันผลรับจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม) น่าจะเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ในระดับ 2.5-3.0 เท่า ในช่วงปี 2551-2552 ในขณะที่การเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่ายจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น จะช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินให้ลงมาที่ระดับต่ำกว่า 2.5 เท่าได้ภายในสิ้นปี 2553
แนวโน้มอันดับเครดิตที่เป็นลบสะท้อนถึงสภาวะที่อ่อนตัวลงในธุรกิจหลักของ SCC อันเนื่องจากผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบและพลังงาน รวมถึงอุปทานที่ล้นตลาดและความไม่แน่นอนของอุปสงค์ในระดับโลกในส่วนของธุรกิจหลัก ซึ่งทำให้ระดับของอัตราส่วนกำไรของบริษัทลดความแข็งแกร่งลง ปัจจัยเสี่ยงนี้เกิดขึ้นในช่วงที่ SCC กำลังมีแผนการลงทุนในระดับที่สูงเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตในธุรกิจหลักในช่วงปี 2551-2553 ถึงแม้ว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะถูกลดทอนลงบ้างจากความสามารถในการปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนของบริษัทในช่วงปี 2552-2553 และความสามารถของ SCC ที่จะสร้างกระแสเงินสดจากการขายการลงทุนที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป นอกจากนี้แนวโน้มที่อ่อนตัวลงของเศรษฐกิจโลกซึ่งเกิดจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐน่าจะทำให้ธุรกิจหลักของ SCC โดยเฉพาะในธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 50% ของ EBITDA ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นและมีช่วงวัฎจักรอุตสาหกรรมขาลงที่ยาวนานขึ้น
ฟิทช์กล่าวว่าการลดลงของอัตราส่วนกำไรอย่างต่อเนื่องและระดับของหนี้สินสุทธิที่สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตของ SCC ได้ ในทางตรงกันข้าม ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งซึ่งส่งผลให้ระดับของอัตราส่วนหนี้สินปรับลดลงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอัตราส่วนหนี้สินระยะยาวที่บริษัทกำหนดไว้ที่ 2.5 เท่า หรือต่ำกว่านั้นได้อย่างต่อเนื่อง จะช่วยทำให้แนวโน้มอันดับเครดิตของ SCC มีเสถียรภาพมากขึ้น
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ: วสันต์ ผลเจริญ, สมฤดี ไชยวรรัตน์, Vincent Milton + 662 655 4755
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของฟิทช์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ