“อ่าข่า”ผลักดันตั้งโรงพยาบาลชนเผ่า ช่วยคนจน-สืบทอดภูมิปัญญาดั้งเดิม

ข่าวทั่วไป Friday October 3, 2008 16:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--
กลุ่มอ่าข่า เร่งผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ตั้งเป้าเปิดโรงพยาบาลชนเผ่า เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากจนให้เข้าถึงการรักษามากขึ้น พร้อมทั้งสืบทอดภูมิปัญญาด้านการแพทย์อ่าข่าที่สั่งสมมานานนับพันปี
นายไกรสิทธิ์ สิทธิโชดก หัวหน้าโครงการวิจัยเคลื่อนงานวิจัยและพัฒนาการการแพทย์ชนเผ่าอ่าข่าในพื้นที่เป้าหมาย ระยะที่ 2 ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวในงานประชุมปฏิบัติการเพื่อสังเคราะห์งานวิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเด็นการแพทย์พื้นบ้าน ที่วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ว่าชนเผ่าอ่าข่ามีองค์ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอานามัย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการใช้สมุนไพร แร่ธาตุต่างๆ ด้านการทำกายภาพบำบัดในการรักษาโรค และในด้านพิธีกรรม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมานับพันปี
“แม้จะมีโรงพยาบาล และการแพทย์สมัยใหม่จำนวนมาก หากลักษณะพื้นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าอ่าข่าตั้งอยู่บนดอยสูง ห่างไกลจากตัวเมือง ทำให้ต้องใช้เวลาในการเดินทางเข้ามารักษา ประกอบกับส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ดังนั้นถึงจะได้รับการรักษาโรคฟรีตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พักอาศัย และค่าอาหาร ก็ล้วนเป็นภาระหนักที่ชนเผ่าจำเป็นต้องแบกรับ” นายไกรสิทธิ์ อธิบาย และว่า
โรคบางอย่างต้องใช้เวลาในการรักษาแรมเดือน หรือบางครั้งก็นานเป็นปี แต่คนไข้ไม่สามารถอยู่ในโรงพยาบาลนานๆ ได้ ก็มักจะกลับไปให้พ่อหมอในชนเผ่าช่วย ทั้งวิธีกินยาสมุนไพร บีบนวด เช็ด เป่า ใช้ตะขอสับเลือดเสียออก ทำพิธีกรรม ตามแต่อาการของโรค ปรากฏว่าผู้ป่วยหนักหลายราย เช่น อำมะพฤกษ์ อำมะพาต โรคกระดูก หายเป็นปกติได้ ปัจจุบันจึงปรากฏว่านอกเหนือจากชนเผ่าแล้ว คนพื้นเมืองที่เจ็บป่วยด้วยโรคบางอย่าง ก็เดินทางเข้าไปรักษากับพ่อหมอในชนเผ่า
ตั้งแต่ปี 2547 ทางชนเผ่าอ่าข่า ได้มีโอกาสทำวิจัยและรวบรวมหมอชนเผ่า ตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆ จึงทราบว่า หากไม่มีการสืบทอดและอนุรักษ์ไว้ วิธีการรักษาแบบดั้งเดิมของชนเผ่าอาจสูญหายไปได้ เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ที่รุกเข้ามา ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจศึกษาและรับมรดกทางภูมิปัญญาทางด้านนี้ แต่หันเหวิถีการดำรงชีวิตแบบพึ่งพาภายนอกมากขึ้น จึงได้ผลักดันสร้างโรงพยาบาลการแพทย์อ่าข่าขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยทั้งในชนเผ่า และผู้ป่วยทั่วไป
หน้าหน้าโครงการวิจัยฯ ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการ โดยจัดทำเป็นศูนย์การเรียนรู้ และศูนย์บริการทางการแพทย์อ่าข่า 3 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้แก่ ที่ อ.แม่ฟ้าหลวง 1 แห่ง อ.แม่สรวย 1 แห่ง และ อ.เมือง 1 แห่ง พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการสืบสานทั้งในโรงเรียน และชุมชน ด้วยการส่งเสริมให้ปลูกพืชสมุนไพรไว้ใช้ภายในบ้าน พร้อมทั้งจัดทำเป็นหลักสูตรวิชาเกี่ยวกับหมอชนเผ่า และโรค ต่างๆ ไว้สอนในโรงเรียน เด็กและชาวบ้านบนดอยสูงจะได้มีความรู้ และสามารถรักษาตัวเอง หรือปฐมพยาบาลโรคอย่างถูกวิธี ก่อนถึงมือหมอชนเผ่า
“ความต้องการจริงๆ คืออยากทำเป็นโรงพยาบาลชุมชน ช่วยให้ชาวบ้านที่เจ็บป่วยมีที่รักษาพยาบาลโดยไม่ต้องเดินทางไกล แต่เนื่องจากต้องดำเนินการซับซ้อนหลายขั้นตอน ในเบื้องต้นคงต้องยกระดับจากศูนย์บริการทางการแพทย์อ่าข่าที่มีอยู่แล้วขึ้นมาก่อน ซึ่งขณะนี้ได้ส่งเยาวชนอ่าข่าหลายคน เข้าไปศึกษาในวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เพื่อยกระดับความรู้ให้สามารถสอบใบผู้ประกอบโรคศิลป์ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้ออกมาบริหารงานโรงพยาบาลได้ ส่วนทุนในการจัดตั้งโรงพยาบาลนั้น ทางสถานทูตญี่ปุ่นสนใจให้ความสนับสนุน แต่ยังไม่ได้คุยรายละเอียด เพราะต้องรอความพร้อมของบุคลากรก่อน” นายไกรสิทธิ์ กล่าว.
ผู้ส่ง : saichol
เบอร์โทรศัพท์ : 0815685072

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ