มข. และไบโอเทคหนุน บ.อินโนว์ สมาชิกอุทยานวิทย์ฯ ใช้สิทธิ “microtube gel test” เสริมศักยภาพคลังเลือดไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday October 8, 2008 16:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--สวทช.
มหาวิทยาลัยขอนแก่นจับมือไบโอเทค สวทช. ถ่ายทอดเทคโนโลยีชุดทดสอบเพื่อใช้ตรวจหาปฏิกิริยาแอนติบอดีต่อแอนติเจนบนเม็ดเลือดแดง ให้กับบริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด สมาชิกฝ่ายบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อผลิตสู่เชิงพาณิชย์ ชี้ไม่เสียดุลเพราะราคาถูกกว่านำเข้า ทั้งแม่นยำ สะดวก และรวดเร็ว เพิ่มศักยภาพการตรวจเลือดของคลังเลือดไทย
งานหลักงานหนึ่งของคลังเลือดกลางในแต่ละโรงพยาบาล คือ การตรวจสอบปฏิกิริยาระหว่างแอนติเจนและแอนติบอดีของเม็ดเลือดแดง เพื่อทดสอบความเข้ากันได้ของเลือดก่อนนำไปให้ผู้ป่วย ซึ่ง รศ. ดร.อมรรัตน์ ร่มพฤกษ์ นักวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถพัฒนา “ชุดทดสอบเพื่อใช้ตรวจหาปฏิกิริยาแอนติบอดีต่อแอนติเจนบนเม็ดเลือดแดง” ที่มีความสะดวกและแม่นยำขึ้นมาได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งบริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด สมาชิกของฝ่ายบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย (Thailand Science Park) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. เล็งเห็นถึงความสำคัญของชุดทดสอบนี้ และประสงค์จะนำไปผลิตสู่เชิงพาณิชย์ จึงเกิดพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ชุดทดสอบเพื่อใช้ตรวจหาปฏิกิริยาแอนติบอดีต่อแอนติเจนบนเม็ดเลือดแดง หรือชุดทดสอบ microtube gel test ขึ้น ระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และบริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด
ศ. ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์
ศ. ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ รองผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการ TMC กล่าวว่า “วันนี้ถือเป็นความสำเร็จอีกครั้งหนึ่ง ที่มีการนำผลงานวิจัยจากภาคสถาบันการศึกษาไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม งานวิจัยนี้เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยจากไบโอเทค ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญของวงการแพทย์ไทย ที่จะได้ใช้ชุดทดสอบจากฝีมือของคนไทย และเป็นที่น่ายินดีว่า นอกจากบริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด จะเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้สิทธิเทคโนโลยีดังกล่าวนี้แล้ว บริษัทยังได้รับการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ซึ่งมีนักบ่มเพาะ (Incubator) คอยให้คำปรึกษาแนะนำด้านวิชาการ การตลาด และอื่นๆ เพื่ออุ้มชูให้บริษัทดำเนินกิจการ และเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและมั่นคง ฉะนั้น งานนี้จึงทำให้เห็นความสัมพันธ์สามส่วน ระหว่างการสนับสนุนงานวิจัยในมหาวิทยาลัยโดยไบโอเทค การถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เชิงพาณิชย์ และการบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ อันเป็นกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งเป็นอีกกลไกหนึ่งที่จะทำให้ประเทศก้าวสู่เศรษฐกิจฐานความรู้”
ดร.พลาเดช เฉลยกิตติ
ดร.พลาเดช เฉลยกิตติ ผู้อำนวยการฝ่ายบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย กล่าวว่า “สืบเนื่องมาจากการวิจัยและพัฒนาชุดทดสอบโดย รศ. ดร.อมรรัตน์ ที่ได้มีการนำไปใช้ใน รพ.ศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายของคณะแพทยศาสตร์ได้จำนวนมาก และเพื่อให้ผลงานดังกล่าวมีการนำไปใช้ประโยชน์สู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง มข. และไบโอเทคจึงได้ตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท อินโนว์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งที่เข้าร่วมการบ่มเพาะเทคโนโลยีของอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เพื่อให้งานวิจัยสามารถต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ รวมทั้งเกิดการเผยแพร่เทคโนโลยีไปสู่ภาคเอกชนในวงกว้าง ทั้งนี้ การสนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีชุดทดสอบดังกล่าว ถือเป็นความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเด่นชัด จากความร่วมมือระหว่างหน่วยงานหลายแห่ง ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทยมีความยินดี และพร้อมที่จะพัฒนาความร่วมมือในรูปแบบเช่นนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อสร้างเครือข่ายการวิจัยและพัฒนาที่มีความเข้มแข็งของประเทศในอนาคต”
รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย
รศ.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “ผลงานชุดทดสอบนี้มุ่งแก้ปัญหาการนำเข้าชุดทดสอบที่ใช้ในการตรวจหาปฏิกิริยาแอนติเจนและแอนติบอดีทางเม็ดเลือด โดยได้ผลิตใช้ใน รพ.ศรีนครินทร์ มาแล้วเป็นเวลา 4 ปี ซึ่งการใช้ผลงานวิจัยในการพัฒนาชุมชนถือเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งของ มข. ที่เรากำหนดนโยบายไว้ว่า จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย เป็นมหาวิทยาลัยของชุมชน ในการมุ่งพัฒนาภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีทัดเทียมกับภูมิภาคอื่น ซึ่งเรายินดีอย่างยิ่งที่จะให้ความร่วมมือ และถ่ายทอดเทคโนโลยีทุกอย่าง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำผลงานไปผลิตและจำหน่ายเพื่อลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ช่วยลดการสูญเสียเงินตรา ทั้งยังก่อให้เกิดการสร้างรายได้ การสร้างอาชีพในประเทศอีกด้วย”
ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร
ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าวว่า “โครงการนี้นับว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ของผู้ใช้ซึ่งต้องใช้ผลิตภัณฑ์นี้เป็นประจำได้ จากการที่ผู้วิจัยได้ทำงานอย่างเข้มแข็ง ประกอบกับการสนับสนุนของไบโอเทค ทำให้สามารถปรับปรุงและพัฒนาแนวทางที่เหมาะสมสำหรับพัฒนาชุดทดสอบ โดยดัดแปลงจากวิธีการที่มีอยู่เดิม และใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในห้องปฏิบัติการ ทำให้ได้ชุดทดสอบที่มีประสิทธิภาพ และใช้งานได้ในงานประจำวัน โดยที่ไม่ต้องลงทุนเพิ่มเติม และเหมาะกับการตรวจตัวอย่างจำนวนมาก”
โดยทั่วไปวิธีการตรวจเลือดแบบมาตรฐานเดิม เพื่อให้ทราบข้อมูลการเข้ากันได้ของเลือดระหว่างผู้ให้และผู้รับ จะทำในหลอดทดลอง ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติงานสูง ทั้งยังตรวจได้น้อย และต้องเตรียมอุปกรณ์มาก ด้วยเหตุนี้ รศ. ดร.อมรรัตน์ จึงศึกษา วิจัยและพัฒนา โดยนำหลักการ Gel Filtration มาพัฒนาเป็นชุดทดสอบ microtube gel test เพื่อใช้ตรวจหาปฏิกิริยาการจับกลุ่มของเม็ดเลือดแดง ซึ่งได้ผลเทียบเท่ากับวิธีหลอดทดลอง โดยสามารถลดข้อผิดพลาดจากเทคนิคเดิม ประหยัดบุคลากร ประหยัดเวลา ลดขั้นตอนการทำงาน เนื่องจากทดสอบได้ทีละ 1-12 ตัวอย่าง หรือนำ microstrip มาประกอบเป็นไมโครเพลต ที่ใช้ร่วมกับไปเปตต์อัตโนมัติแบบ 8 หรือ 12 ช่องได้ และผลทดสอบที่ได้ก็มีความถูกต้อง ปลอดภัย ส่งผลให้สามารถตรวจสอบความเข้ากันได้ของเลือดระหว่างผู้ใช้ และผู้รับได้อย่างแม่นยำ
คุณนพดล พันธุ์พานิช
คุณนพดล พันธุ์พานิช กรรมการบริษัท อินโนว์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เมื่อได้เห็นผลงานของ รศ. ดร.อมรรัตน์ จึงมีความสนใจที่จะนำมาพัฒนาทางการตลาด และเมื่อได้ไปดูงานที่คลังเลือดกลาง รพ.ศรีนครินทร์ ก็ยิ่งมีความประทับใจในผลิตภัณฑ์นี้มากขึ้น เพราะนอกจากผู้วิจัยจะคิดค้นชุดทดสอบขึ้นมาในห้องปฏิบัติการเองแล้ว ยังสามารถนำมาใช้จริงได้ด้วย ทั้งยังมีความถูกต้องแม่นยำ และรวดเร็ว ต้นทุนก็ถูกกว่าชุดทดสอบที่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงนำเสนอแผนธุรกิจให้กับไบโอเทค และ มข. จนกระทั่งมีความเห็นร่วมกันว่า เหมาะสมที่จะพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ จึงเกิดพิธีลงนามในวันนี้ ซึ่งบริษัทคาดว่าจะสามารถผลิตออกสู่ตลาดได้ภายในต้นปีหน้า”
ปัจจุบันชุดทดสอบเพื่อใช้ตรวจหาปฏิกิริยาแอนติบอดีต่อแอนติเจนบนเม็ดเลือดแดงนี้ ได้มีการยื่นขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทสิทธิบัตร เรียบร้อยแล้ว และนับจากนี้ประเทศไทยจะได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาและผลิตขึ้นจากฝีมือของนักวิจัยไทยอย่างแพร่หลายต่อไป
งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th
สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ : ธณาพร (เอ็ม), สุธิดา (ไก๋)
โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166 อีเมล : prtmc@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ