ผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนปี 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 24, 2008 08:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 พ.ย.--ตลท. Corporate Governance Report of Thai Listed Companies 2008 รายงานผลสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนฉบับนี้ นำเสนอผลการสำรวจปีล่าสุดที่ IOD ได้สำรวจข้อมูลบริษัทจดทะเบียน 448 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (MAI) โดยหลักเกณฑ์ในการสำรวจ ครอบคลุมประเด็นด้านการกำกับดูแลกิจการ 132 ข้อ ใน 5 หมวดตามหลักการกำกับดูแลกิจการของกลุ่มประเทศ OECD (Organization for Economic Cooperation and Development) ได้แก่ - สิทธิของผู้ถือหุ้น (Rights of Shareholders) - การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน (Equitable Treatment of Shareholders) - การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย (Role of Stakeholders) - การเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส (Disclosure and Transparency) - ความรับผิดชอบของคณะกรรมการ (Board Responsibilities) ทั้งนี้ การสำรวจการกำกับดูแลกิจการตามรายงานนี้ ใช้ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะ อันเป็นแหล่งข้อมูลที่ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนโดยทั่วไปจะสามารถเข้าถึงได้ ทำให้รายงานนี้เป็นรายงานที่สะท้อนมุมมองของผู้ลงทุนและบุคคลทั่วไปจะมีต่อมาตรฐานการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียน โดยแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการสำรวจ ได้แก่ - รายงานประจำปีของบริษัท - แบบ 56-1 - หนังสือนัดประชุมและรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น - เว็บไซต์ของบริษัท - ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่เผยแพร่ผ่าน ตลท. และ ก.ล.ต. - ข้อมูลอื่น ๆ ที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ผลการสำรวจภาพรวมปี 2551 โดยภาพรวม บริษัทจดทะเบียนไทยมีพัฒนาการด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดีขึ้น โดยผลสำรวจในภาพรวมมีคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นเป็นร้อยละ 75 เปรียบเทียบกับร้อยละ 71 ในปี 2549 โดยประเด็นที่มีการพัฒนาดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ได้แก่ สิทธิของผู้ถือหุ้น และการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใส โดยในเรื่องของการเปิดเผยข้อมูลและความโปร่งใสนี้ บริษัทไทยมีผลการสำรวจอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 88) รองลงมาได้แก่ สิทธิของผู้ถือหุ้น (ร้อยละ 86) และ การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน (ร้อยละ 79) ส่วนคะแนนในหมวดการคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสียและความรับผิดชอบของคณะกรรมการยังคงมีช่วงห่างของคะแนนสูงสุด-ต่ำสุดค่อนข้างมาก ทำให้มีคะแนนเฉลี่ยไม่ดีเท่าที่ควร ผลการสำรวจตามกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีบริษัทในกลุ่มติดอันดับกลุ่มที่มีคะแนนดี-ดีเลิศในสัดส่วนมากที่สุด 3 กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มการเงิน และกลุ่ม MAI โดยมีบริษัทที่มีผลการสำรวจอยู่ในระดับดี-ดีเลิศถึงร้อยละ 87, 84 และ 74 ตามลำดับ จุดเด่นของบริษัทไทย โดยรวมแล้วบริษัทไทย มีแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในหลายด้าน ทั้งนี้จุดเด่นที่บริษัทไทยส่วนใหญ่มีการปฏิบัติเป็นอย่างดีแล้ว ได้แก่ - บริษัทร้อยละ 87 มีการแยกตำแหน่งระหว่างประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) - บริษัทร้อยละ 72 มีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหารมากกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการ - บริษัทร้อยละ 65 มีกรรมการอิสระมากกว่า 1 ใน 3 ของคณะกรรมการ - บริษัทเกินกว่าร้อยละ 90 ของบริษัทที่ทำการสำรวจมีการขออนุมัติค่าตอบแทนกรรมการจากผู้ถือหุ้นเป็นประจำทุกปี และมีการใช้บัตรลงคะแนนในการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งการบันทึกมติและผลการลงคะแนนอย่างชัดเจนในรายงานการประชุม - บริษัทร้อยละ 91 มีฝ่ายตรวจสอบภายในที่รายงานตรงต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ประเด็นที่ควรปรับปรุง ประเด็นที่จะช่วยให้บริษัทไทยมีผลการสำรวจโดยรวมที่ดีขึ้น และสามารถพิจารณาปรับปรุงได้โดยไม่ยากนัก ได้แก่ - การสนับสนุนให้กรรมการทุกคน โดยเฉพาะประธานกรรมการ กรรมการผู้จัดการ ประธานอนุกรรมการชุดต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้นทุกครั้ง - เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถเสนอวาระการประชุมผู้ถือหุ้นล่วงหน้า และสามารถเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการ เช่น เสนอชื่อผ่านคณะกรรมการสรรหาล่วงหน้า - นำหนังสือเชิญประชุม และวาระการประชุมผู้ถือหุ้นแสดงไว้บนเว็บไซต์ของบริษัทก่อนการประชุมมากกว่า 30 วัน - จัดให้มีช่องทางให้ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย/ร้องเรียนต่อคณะกรรมการ - จัดให้มีการประชุมระหว่างกรรมการที่ไม่เป็นผู้บริหาร โดยไม่มีฝ่ายจัดการ - แต่งตั้งเลขานุการบริษัท พร้อมเปิดเผยข้อมูล คุณสมบัติและบทบาทหน้าที่ไว้อย่างชัดเจนในรายงานประจำปี ก้าวต่อไปในการพัฒนาการกำกับดูแลกิจการที่ดี จากผลการศึกษาตามรายงานนี้ แสดงให้เห็นว่า ผลจากความพยายามในการผลักดันการกำกับดูแลกิจการที่ดีโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระยะที่ผ่านมา ได้ทำให้บริษัทจดทะเบียนไทยตระหนักถึงความสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดี และได้มีการปฏิบัติได้เทียบเท่ากับมาตรฐานสากลไปแล้วในหลายเรื่อง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการกำกับดูแลกิจการเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่จะต้องทำต่อไป โดยควรมุ่งเน้นในประเด็นที่บริษัทจดทะเบียนไทยจำนวนหนึ่งยังมีผลการสำรวจในระดับต่ำ เช่น การคำนึงถึงบทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย และความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ซึ่งถึงแม้จะมีบริษัทจำนวนไม่น้อยที่ปฏิบัติได้ดี แต่ยังคงมีบริษัทจำนวนหนึ่งที่ละเลยในประเด็นเหล่านี้ ทั้งนี้ในส่วนของคณะกรรมการ การฝึกอบรมและพัฒนากรรมการยังคงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องดำเนินการให้ต่อเนื่องต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม : วีรวรรณ มันนาภินันท์ นักวิเคราะห์ CG อาวุโส สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย โทรศัพท์ 02-264-0870 ต่อ 300 โทรสาร 02-264-0872

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ