ฟิทช์ ประกาศคงอันดับเครดิต ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 18, 2008 10:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) ดังต่อไปนี้ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ - อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น(Short-term Foreign Currency IDR) ที่ ‘F2’ - อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ - อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ - อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ - อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ ‘BBB+’ - อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกันซึ่งออกโดย EXIM ที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (IDR) ของ EXIM ได้ถูกปรับลดลงเป็น ‘ลบ’ ในเดือนธันวาคม 2551 หลังจากที่ได้มีการปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทย ทั้งนี้ปัจจัยหลักมาจากวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ยืดเยื้อของไทย และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง อันดับเครดิตของ EXIM มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับอันดับเครดิตของประเทศไทย เนื่องจาก EXIM เป็นธนาคารหลักที่กระทรวงการคลังใช้ในการดำเนินนโยบายการให้การสนับสนุนแก่ผู้ส่งออกไทยและนักลงทุนเพื่อการลงทุนในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาถึงการที่กระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมดและมีอำนาจควบคุมการบริหารงานในธนาคาร รวมถึงบทบาทของ EXIM ในการสนับสนุนนโยบายในด้านการพัฒนาประเทศ ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หากมีความจำเป็น EXIM มีทรัพย์สินรวม 59.6 พันล้านบาท (ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551) และเป็นผู้ให้บริการการประกันการส่งออกและการลงทุน จัดหาเงินทุนแก่ผู้ส่งออกไทยและนักลงทุนไทยในต่างประเทศ ในขณะที่ธุรกิจหลักของธนาคารยังคงเกี่ยวเนื่องกับภาคการส่งออก EXIM มีแผนที่จะเพิ่มการปล่อยสินเชื่อแก่โครงการลงทุนในประเทศไทยที่จะเป็นการอำนวยประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ (domestic national development projects) ซึ่งรวมถึงการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมพลังงาน ระบบสาธารณูปโภค ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ในปี 2550 EXIM มีผลการดำเนินงานดีขึ้น โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 0.5 พันล้านบาท หลังจากที่ธนาคารมีผลการดำเนินงานขาดทุน 1.3 พันล้านบาทในปี 2549 ทั้งนี้ผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นเป็นผลมาจากการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลงเป็นหลัก แต่สำหรับงวดครึ่งแรกของปี 2551 ผลการดำเนินงานของธนาคารนั้นกลับปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยธนาคารมีกำไรสุทธิเพียง 0.06 พันล้านบาท ลดลงถึง 75% จากกำไรสุทธิในงวดครึ่งแรกของปี 2550 ที่ 0.23 พันล้านบาท ทั้งนี้เป็นผลมาจากกำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (net interest income) ที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ลดลงและการหดตัวของยอดสินเชื่อของธนาคาร ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินของธนาคารส่วนใหญ่มีอัตราดอกเบี้ยคงที่ การตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารมีแนวโน้มที่จะอ่อนแอลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจโลกในปี 2552 ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 4.3 พันล้านบาท หรือ 8.5% ของสินเชื่อรวม จาก 2.9 พันล้านบาท หรือ 5.5% ณ สิ้นปี 2550 ทั้งนี้ธนาคารมีแผนที่จะตัดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวน 1 พันล้านบาท ออกจากบัญชีภายในสิ้นปี 2551 และคาดว่ายอดสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะลดลงต่ำกว่า 4 พันล้านบาท ธนาคารมีระดับสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญอยู่ที่ 3.7 พันล้านบาท หรือ 85.8% ของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งอยู่ในระดับที่พอเพียง แต่อย่างไรก็ตามสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่อาจจะเพิ่มขึ้นใหม่ อาจจะส่งผลให้มีการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เงินกองทุนของ EXIM อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 16.6% ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2551 นอกจากนี้ธนาคารคาดว่าจะมีการเพิ่มทุนอีก 1.3 พันล้านบาท จากกระทรวงการคลังภายในสิ้นปีนี้ และธนาคารยังคงมีแผนที่จะเสนอของบประมาณเพิ่มทุนอีก 10 พันล้านบาท เพื่อรองรับแผนการขยายสินเชื่อในระยะยาว หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน ติดต่อ พชร ศรายุทธ, กรุงเทพฯ +662 655 4761 Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ