4 ปีสึนามิ บทเรียนจากพิบัติภัย แรงผลักสู่การฟื้นฟูและพัฒนาอันเข้มแข็ง

ข่าวทั่วไป Wednesday December 24, 2008 11:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ประเทศไทยได้ประสบพิบัติภัยสึนามิ ในปลายปี 2547 ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะชุมชนผู้ประสบภัย ได้พยายามตั้งหลัก ร่วมกันแก้ไขปัญหา และฟื้นฟูความเสียหายต่างๆ ทั้งด้านชีวิต ความเป็นอยู่ และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะผ่านมาหลายปี แต่ชุมชนและคนในพื้นที่ภัยพิบัติยังคงต้องการการฟื้นฟูและเยียวยาในระยะยาว ที่ผ่านมามีหลายองค์กรทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคมเข้าไปให้ความช่วยเหลือ แต่ ณ ปัจจุบันหลายหน่วยงานเริ่มถอนตัวออกจากพื้นที่ แต่ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือต่อเนื่องกระทั่งปัจจุบัน “4 ปี ของสึนามิ” ปีนี้จึงยังคงมี “รอยยิ้ม และน้ำใจ จากการให้” อยู่ให้เห็น โดยในปีนี้ มูลนิธิสยามกัมมาจล ภายใต้การสนับสนุนจากธนาคารพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับองค์กรภาคี ได้แก่ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิเด็ก มูลนิธิกระจกเงา มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดนิทรรศการรำลึกครบรอบ 4 ปีสึนามิ “รอยยิ้ม น้ำใจ จากการให้” ขึ้น เพื่อเผยแพร่ผลงานความก้าวหน้าโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยการสนับสนุนจองกองทุนไทยพาณิชย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย รณรงค์ให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปได้ตระหนักถึงความสำคัญของภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นและการเตรียมความพร้อมรับมือและป้องกันภัย อีกทั้งเปิดโอกาสให้สาธารณชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมจิตอาสา ช่วยเหลือผู้ประสบภัย และบำเพ็ญประโยชน์ต่อส่วนรวมโดยการสมัครเป็นอาสาสมัครในโครงการต่างๆ คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวในการเปิดงานนิทรรศการครบรอบ 4 ปีสึนามิฯ ว่า ในส่วนของ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ก่อตั้ง “กองทุนไทยพาณิชย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย” ขึ้น เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ ผ่านการสนับสนุนโครงการขององค์กรพัฒนาเอกชน 3 องค์กร คือ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และมูลนิธิเด็กนับตั้งแต่ปี 2548 —ปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ สตรี เด็ก และเยาวชน รวมทั้งผู้สูงอายุ ผู้สูญเสียเสาหลักในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มคนผู้ตกหล่นจากการช่วยเหลือของหน่วยงานองค์กรต่างๆ ให้ฟื้นฟูตนเอง และชุมชน สามารถลุกขึ้นตั้งหลักเริ่มต้นชีวิตใหม่ และพึ่งพาตนเองได้ และสนับสนุนกระบวนการพัฒนาศักยภาพของผู้นำชุมชนแกนนำกลุ่มสตรี และแกนนำเยาวชนให้มีความรู้ มีทักษะในการบริหารจัดการกลุ่มอาชีพ และมีการเชื่อมเครือข่าย ระบบการจัดการทรัพยากรเพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการที่ชุมชนเป็นผู้ริเริ่มและร่วมลงมือปฏิบัติ ที่ผ่านมา การดำเนินโครงการเข้าไปมีส่วนร่วมสร้างศักยภาพด้านการบริหารจัดการกองทุน และกลุ่มธุรกิจ อาทิ อู่ซ่อมสร้างเรือ กลุ่มซื้อขายเครื่องมือประมง กลุ่มแพปลา ซึ่งไม่เพียงลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้สมาชิกเท่านั้น หากแต่ยังมีการจัดระบบสวัสดิการที่เอื้อประโยชน์ให้กับสมาชิก และชุมชนอีกด้วย ในส่วนการเตรียมความพร้อมรับมือกับพิบัติภัย ได้มีการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นป้องกันภัยพิบัตินำร่อง ที่โรงเรียนบ้านเกาะมุกด์ จ.ตรัง ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ด้านการพัฒนาศักยภาพเยาวชนรุ่นใหม่ มีความก้าวหน้าไปมาก เยาวชนหลายพื้นที่ได้รับการยอมรับจากผู้นำชุมชน และเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง หลายคนได้รับคัดเลือกเป็นกรรมการเยาวชนในระดับจังหวัด ในขณะที่ศูนย์เด็กเล็กบ้านทุ่งหว้า ชุมชนมอแกน จ.พังงานั้น ครูพี่เลี้ยงซึ่งเป็นชาวมอแกนเอง ได้รับการพัฒนาศักยภาพและทักษะในการดูแลเด็กก่อนวัยเรียนทำหน้าที่ได้ดี ทั้งยังสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการร่วมมือกับศูนย์เด็กเล็กในการดูแลสุขภาพและพัฒนาเด็กๆชาวมอแกนได้ในระยะยาว คุณอำนวย ชูหนู หัวหน้าศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสาน สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน จ.กระบี่ เปิดเผยว่า โครงการจัดตั้งองค์การบริหารหมู่บ้านเยาวชน (อบย.) ซึ่งมีมูลนิธิสยามกัมมาจลให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมใน 20 หมู่บ้านจากพื้นที่ดำเนินการทั้งหมด 45 หมู่บ้าน โดยกระจายอยู่ใน จ.กระบี่ และ จ.พังงา ที่ผ่านมาได้พัฒนาแกนนำเยาวชนซึ่งเป็นตัวแทนจากหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 8 คน ผ่านกิจกรรมค่ายเรียนรู้ทักษะการเป็นผู้นำ ได้เรียนรู้ประสบการณ์จริง คิดจริง และลงมือทำจริงในหมู่บ้าน เยาวชนจากทุกๆ หมู่บ้านได้ใช้ศักยภาพของตนเองในการคิดและทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เช่นปลูกป่า พัฒนาสุสาน มัสยิด ถนน และกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ รวมถึงการวางแผนดำเนินธุรกิจได้เอง โดยร่วมกับชุมชนในการก่อตั้งและดำเนินการ อาทิ การเลี้ยงปลา ร้านถ่ายเอกสาร ปลูกผัก เลี้ยงแพะ และที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคือ ที่หมู่บ้านหินร่ม ต.คลองเคียน อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา เยาวชนสามารถรวมกลุ่มกันเปิดกิจการ “ขายแก๊สหุงต้ม” ซึ่งการดำเนินธุรกิจกำลังไปได้ดีได้รับการตอบรับจากชาวบ้านในชุมชนและใกล้เคียงเป็นอย่างมาก นับเป็นเวลา 2 ปีแล้วที่ เยาวชนกว่า 360 ชีวิตที่ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพ ได้มีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อส่วนรวม และมีเยาวชนอย่างน้อย 135 คนที่พัฒนาตนเองขึ้นมาเป็นแกนนำ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการพัฒนาชุมชนของตนเอง และที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งก็คือองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.)ในหลายพื้นที่ เมื่อได้เห็นผลงานของเยาวชน เปิดโอกาสให้เยาวชนเขียนโครงการเข้าไปและบรรจุเป็นแผนงานของท้องถิ่นด้วย คุณวรรณวิมล เอโกบล เจ้าหน้าที่มูลนิธิเด็ก กล่าวถึงโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กก่อนวัยเรียนบ้านทุ่งหว้า ว่าภายหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ วิถีชีวิตของชาวมอแกนบ้านทุ่งหว้ากว่า 70 ครอบครัวเปลี่ยนไป แต่เดิมวิถีชีวิตของชาวมอแกนจะเรียบง่าย มีกระต๊อบหลังเล็กๆ ที่ปลูกขึ้นมาเองใช้น้ำจากบ่อไม่จำเป็นต้องมีไฟฟ้า ออกเรือหาสัตว์น้ำมาดำรงชีพและเหลือขายบ้างเพื่อนำเงินมาซื้อข้าว แต่เมื่อพวกเขาประสบภัยพิบัติส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตชาวมอแกน บ้านที่รัฐสร้างให้ใหม่คล้ายบ้านจัดสรร มีระบบสาธารณูปโภค น้ำประปา ไฟฟ้า เป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นแบบเลี่ยงไม่ได้ทำให้ชาวมอแกนต้องออกไปทำงานรับจ้างขายแรงงานเพิ่มขึ้น ประกอบกับชาวมอแกนมักมีบุตรมากในขณะเดียวกันผู้เป็นแม่ก็ต้องออกไปทำงานช่วยหัวหน้าครอบครัวอีกแรงทำให้เด็กๆ ชาวมอแกนไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร และแม้จะมีศูนย์เด็กเล็กอยู่ในชุมชน แต่เด็กๆ ชาวมอแกนก็แทบจะไม่มีโอกาสได้เข้าถึงการบริการของรัฐได้ด้วยสาเหตุหลายประการ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนบ้านทุ่งหว้าจึงเกิดขึ้นเมื่อปี 2549 โดยมูลนิธิเด็กภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสยามกัมมาจล ซึ่งเป็นศูนย์เด็กเล็กที่สอดรับกับความต้องการและวิถีชีวิตของชาวมอแกนมากที่สุด ซึ่งแตกต่างออกไปจากศูนย์เด็กเล็กของท้องถิ่นและรัฐบาล อาทิ สามารถรับเด็กได้ตั้งแต่ 1 ปี 8 เดือนถึง 5 ปี ดูแลเด็กได้ตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็น ไม่มีวันหยุดปิดเทอม ทำให้ผู้ปกครองมีเวลาในการทำงานมากขึ้น มีอาหารกลางวันและอาหารเสริมให้ทานพร้อมอุปกรณ์ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนบ้านทุ่งหว้า ยังทำให้ความกังวลของผู้ปกครองชาวมอแกนในเรื่องครูพี่เลี้ยงที่อาจรังเกียจบุตรหลานของพวกเขาให้หมดไป เพราะศูนย์ฯจะพัฒนาชาวมอแกนในพื้นที่เป็นครูพี่เลี้ยงที่มีศักยภาพสามารถสร้างหลักสูตรและทำสื่อการสอนให้เหมาะกับช่วงวัย อีกทั้งยังสร้างรายได้ที่มั่นคงให้กับชาวมอแกนได้ คุณภาคภูมิ วิธารติรวัฒน์ กรรมการบริหารเครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชายฝั่งอันดามัน กล่าวถึงโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนผ่านอาสาสมัครเพื่อการฟื้นฟูชุมชนและการพัฒนาชายฝั่ง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ให้ดำเนินการในพื้นที่ 44 หมู่บ้าน 5 จังหวัด สตูล กระบี่ พังงา ภูเก็ต และตรังว่า ภาพรวมกิจกรรมที่เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชายฝั่งอันดามันดำเนินการอยู่นั้น มี 3 ด้านหลักคือเรื่องเศรษฐกิจชุมชน, การรักษาทะเลและทรัพยากรชายฝั่งและการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมในการับมือกับภัยพิบัติ ขณะที่แนวคิดในการทำงานของเครือข่ายฯ ต้องการให้แนวทางในการฟื้นฟูและพัฒนางานต่างๆ ทั้ง 3 ด้าน ถูกออกแบบจากคนในชุมชนเองไม่ใช่การให้ความช่วยเหลือแบบคิดจากคนข้างนอกแล้วตีกรอบให้คนในชุมชน ดังนั้นการได้มาซึ่งแนวทางการพัฒนาจากคนในชุมชน จึงต้องอาศัยคนหนุ่มสาวที่มีจิตอาสาลงไปเกาะติดอยู่ในชุมชน เพื่อชวนคิด ชวนคิด และจัดกระบวนการให้เกิดความร่วมมือนำไปสู่เป้าหมายที่เครือข่ายฯและชาวบ้านเห็นพ้องต้องกัน จึงเกิดเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนผ่านอาสาสมัครเพื่อการฟื้นฟูชุมชนและการพัฒนาชายฝั่ง ขึ้นตั้งแต่ปี 2548 โดยมีเครือข่ายฯ ทำหน้าที่ในการพัฒนาหนุ่มสาวที่มีจิตอาสาเป็นทุนเดิม ให้มีศักยภาพมากขึ้นเพื่อมอบหมายหน้าที่ให้ลงไปอยู่ในชุมชนจัดกระบวนการชวนคิด ชวนคุย กระทั่งเห็นภาพความต้องการที่แท้จริงของชุมชน จากนั้นจึงคิดแผนงานพัฒนาขึ้นมาจากมุมมองของชุมชน ถือเป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนพร้อมๆ กับการพัฒนาชุมชน กว่า 2 ปีแล้วที่หนุ่มสาวจิตอาสากว่า 50 คนได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาผู้ประสบภัย สึนามิ แม้วันนี้จะเหลืออาสาสมัครในพื้นที่เพียง 14 คน แต่ผลที่เกิดขึ้นกับชุมชนผู้ประสบภัยมีมากเหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็นแพปลาชุมชน อู่ซ่อมสร้างเรือของชุมชน กลุ่มแปรรูปสัตว์น้ำ กลุ่มประดิษฐ์ของใช้จากเปลือกหอย ทำให้ชุมชนผู้ประสบภัยในวันนี้สามารถปลดหนี้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์จากการทำแพปลาและธุรกิจชุมชนอื่นๆ อย่างไรก็ตามแม้ว่าภาพของชุมชนผู้ประสบภัยวันนี้ อยู่ดีมีสุขกลับไปใกล้เคียงในช่วงก่อนเกิดเหตุการณ์ สึนามิ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดการยกระดับของชุมชนให้ก้าวไปข้างหน้าพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม ยังต้องร่วมมือกันประคองชุมชนในพื้นที่ประสบภัยให้เข้มแข็ง กระทั่งสามารถหยัดยืนด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืนกว่าที่เคย รำลึก 4 ปีสึนามิยังต้องการ รอยยิ้ม และน้ำใจ จากทุกๆ ท่าน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร. 02-2701350

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ