ศึกษาก่อน “สวย” หลีกเลี่ยงความ “เสี่ยง”

ข่าวทั่วไป Friday February 13, 2009 09:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--พีอาร์ เน็ทเวิร์ค เดี๋ยวนี้ นวัตกรรมความงามใหม่ๆ มีมาให้อัพเดทกันทุกวัน จนสาวๆอย่างเราไล่ตามกันแทบไม่ทัน ทั้งคาร์บ็อกซี่ กลูต้าไธโอนด์ โบท็อกซ์ เทอร์มาจ เดอมาร์โรลเลอร์ ไอพีแอล เลเซอร์ ซิลิโคน ไมโครเดอร์มาเบรชั่น ไฮยาลูโรนิค แอคซิด และอีกสารพัดเทคโนโลยีที่ช่วยให้เรา “ สวยเลือกได้ในเวลาอันรวดเร็ว ” แต่จะเลือกสวยอย่างไรให้รู้เท่าทัน นวัตกรรมความงาม ไม่ต้องมานั่งเจ็บใจทีหลัง เรามีคำแนะนำดีๆ จาก น.พ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย มาฝาก เพื่อเป็นตัวช่วยในการเตรียมตัว ก่อนคิดเสริมให้สวย หลีกเลี่ยงความเสี่ยง ศึกษาข้อมูลนวัตกรรมและเทคโนโลยีความงาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีทั้งผลดีและผลเสียแก่ผู้ใช้ ด้วยเหตุนี้ผู้บริโภคจึงจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องหาข้อมูลและศึกษาผลข้างเคียงอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจ โดยศึกษาจากข้อเท็จจริงมิใช่เพียง เชื่อคำโฆษณาเท่านั้น ยิ่งปัจจุบันมีการนำยาชนิดต่างๆมาใช้ทางการแพทย์หลากหลาย ผู้บริโภคจึงต้องรู้จักวิธีสืบค้นข้อมูล รวมทั้งแหล่งค้นหาความรู้ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ง่ายดายเพียงคลิกไปที่ www.fda.moph.go.th ก็สามารถตรวจสอบรายชื่อสารที่ได้รับอนุญาต ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย.) ได้ หรือ โทร 0 2590 7000 ก็สอบถามข้อมูลต่างๆ ได้เช่นกัน สิทธิผู้ป่วย...สิทธิพื้นฐานที่ควรรู้ สิทธิผู้ป่วย เป็นเรื่องที่ผู้ใช้บริการทางการแพทย์ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นความชอบธรรม ที่ผู้ป่วยจะพึงได้รับเพื่อคุ้มครองหรือรักษาผลประโยชน์ของตนเอง โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น แต่ทางการแพทย์ต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนา การรักษาโรคบางอย่างยังมีการถกเถียงว่าเป็นการทดลองในมนุษย์ใช่หรือไม่ ยิ่งในปัจจุบันที่มีการทดลองหรือทำผลงานวิจัยต่างๆในมนุษย์ การเรียนรู้ซึ่งสิทธิของผู้ป่วยจึงมีความจำเป็นอย่างมาก นพ. ชลธิศ ให้ความเห็นว่า “ ในการทำงานวิจัยทางการแพทย์ หัวใจสำคัญอยู่ที่จริยธรรม การแพทย์ ส่วนกฎหมายคือเครื่องชี้วัดความผิดความถูกเมื่อเกิดกรณีผิดพลาดขึ้น โดยในวงการแพทย์ การทดลองวิจัยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ Retrospective Study คือ การวิจัยทดลองที่อยู่ในแผนการรักษา อยู่แล้ว กล่าวคือ อาจเป็นยา สาร หรือขั้นตอนการรักษา ที่ผ่านการวิจัยทดลองมาแล้วและแพทย์ได้นำมาใช้กับผู้ป่วย การวิจัยประเภทนี้เป็นการเก็บสถิติและตัวชี้วัดเพื่อความสำเร็จในการรักษา จึงอาจไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก็ได้ ขณะที่ Prospective Study เป็นการศึกษาตามโรคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เช่น ผู้ป่วยเอดส์ จึงมีการค้นคว้าวิจัยทั้งตัวยาและแผนการรักษาขึ้นมาใหม่เพื่อนำมาใช้กับผู้ป่วย จึงเป็นการทดลองและวิจัยเพื่อหาผลสัมฤทธิ์ กรณีนี้แพทย์จำเป็นต้องแจ้งให้กับผู้ป่วยทราบอย่างละเอียดถึงการทดลองวิจัยตัวยา สาร หรือกรรมวิธีการรักษาดังกล่าว โดยผู้ป่วยมีสิทธิตัดสินใจยอมรับหรือปฏิเสธการทดลองดังกล่าวได้ ” นอกจากนี้ นพ. ชลธิศ กล่าวว่า “ สิทธิผู้ป่วย มีบัญญัติไว้อย่างชัดเจน เช่น ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับบริการจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ เนื่องจากความแตกต่างด้านฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคม ลัทธิการเมือง เพศ อายุ และ ลักษณะของความเจ็บป่วย , การตัดสินใจเข้าร่วมหรือถอนตัวจากการเป็นผู้ถูกทดลองในการทำวิจัยของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ , ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต มีสิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือรีบด่วนจากผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพโดยทันทีตามความจำเป็นแก่กรณี โดยไม่คำนึงว่าผู้ป่วยจะร้องขอความช่วยเหลือหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีสิทธิอีกหลายข้อ ที่ผู้ป่วยควรรู้สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากแพทยสภา ” พิจารณาความน่าเชื่อถือจากผู้ให้ข้อมูล คนรุ่นใหม่โชคดีที่มีหนังสือ ตำรา นิตยสารความงาม ให้เลือกอ่านมากมาย แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่ได้รับถูกต้อง ไม่ใช่เพียงคำโฆษณาชวนเชื่อ นพ. ชลธิศ แนะนำให้เลือกศึกษาข้อมูลจากผู้มีคุณสมบัติเหล่านี้ โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ กลุ่มที่ 1 บทความหรือข้อมูลเผยแพร่โดยแพทย์ของโรงเรียนแพทย์หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ กลุ่มที่ 2 โดยสมาชิกหรือคณะกรรมการของแพทยสภา , กลุ่มที่ 3 โดยสมาชิกหรือคณะกรรมการของราชวิทยาลัยต่างๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งอยู่ในหน่วยงานที่ไม่มุ่งแสวงหาผลกำไร แต่มุ่งเน้นในการให้ข้อมูลความรู้ที่เป็นประโยชน์และถูกต้องกับประชาชน หากผู้บริโภคเลือกศึกษาข้อมูลจากบุคคล 3 กลุ่มนี้ จะเป็นตัวช่วยสำคัญเพื่อลดทอนความเสี่ยงในการรับข้อมูลข่าวสาร หรือหากต้องการตรวจสอบรายชื่อแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ไปจนถึงกฎหมายซึ่งผู้ใช้บริการทางการแพทย์ควรรู้ รายละเอียดเหล่านี้สามารถศึกษาได้จาก www.tmc.or.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของแพทยสภา หรือ โทร 0 2590 1880 — 1 , 3 สั่งสมข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์ การสอบถามจากผู้มีประสบการณ์ เป็นอีกทางเลือกที่สามารถลดความเสี่ยงได้แต่ควรใช้เวลาพอสมควรในการเก็บข้อมูลจากผู้มีประสบการณ์หลายๆคน เพื่อรับฟังทั้งปัญหาและข้อคิดเห็น ตลอดจนศึกษาถึงผลดีผลเสียให้ดีจนมั่นใจก่อนตัดสินใจเลือกสวยด้วยนวัตกรรมความงาม การเลือกสอบถามจากคนใกล้ตัวหรือผู้มีประสบการณ์จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ใช้เก็บข้อมูลการรักษาเพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ข้อมูลที่สาวๆใช้ประกอบการตัดสินใจส่วนใหญ่คงหนีไม่พ้นการโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ทั้งการใช้นักแสดง นางแบบ เป็นพรีเซนเตอร์ การอวดอ้างสรรพคุณการรักษา เห็นผลทันใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแรงกระตุ้นให้สาวๆที่รักสวยรักงามเป็นทุนเดิมตกหลุมพรางอย่างง่ายดาย นพ.ชลธิศ ให้ข้อคิดทิ้งท้าย สำหรับคนที่เตรียมสวยด้วยแพทย์ว่า “ ความสวยงามเป็นสิ่งที่สาวๆทุกคนใฝ่ฝัน ซึ่งปัจจุบันมีนวัตกรรมต่างๆที่เอื้ออำนวยให้สวยได้ในเวลาอันรวดเร็ว อยู่ที่ว่าเราจะเลือกสวยอย่างมีสติได้อย่างไร ไม่ใช่เพียงหลงใหลไปกับรูปลักษณ์ภายนอกจนลืมพัฒนาจิตใจ ซึ่งจะช่วยให้เรางามพร้อมทั้งกายและจิตใจ ที่เป็นเสน่ห์ติดตัวที่กาลเวลาไม่สามารถพรากไปได้ ” สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 0 2682 9880

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ