วว. เชิญชม มหาพรหมราชินีบานนอกถิ่นกำเนิดครั้งแรก

ข่าวเทคโนโลยี Friday February 10, 2006 10:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--วว.
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) อวดโฉม “มหาพรหมราชินี” ดอกบานนอกถิ่นกำเนิดเป็นครั้งแรก เชิญชวนผู้สนใจชื่นชมความงดงาม พร้อมสนับสนุนคนไทยปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ ช่วยอนุรักษ์พรรณไม้ให้อยู่คู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า จากความสำเร็จของฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร ที่ได้ค้นพบ “มหาพรหมราชินี” พรรณไม้ในสกุลมหาพรหมชนิดใหม่ของโลก เมื่อปี 2547 และได้ทำการศึกษาวิจัย การขยายพันธุ์มหาพรหมราชินี โดยได้นำต้นกล้ามาทดลองปลูก ณ พื้นที่ราบต่ำภาคกลางและมีอุณหภูมิสูง โดยเฉพาะอย่างในกรุงเทพฯ ผลปรากฏว่า ต้นสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ได้เป็นอย่างดี และมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี และขณะนี้เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ต้นมหาพรหมราชินีซึ่งปลูก ณ แปลงทดลอง วว. เทคโนธานี คลอง 5 จ.ปทุมธานี มีดอกบานเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ได้ทำการปลูกในพื้นที่ภาคกลาง จึงนับเป็นการบานของดอกมหาพรหมราชินีนอกถิ่นกำเนิดเป็นครั้งแรก
ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น ผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. ผู้ค้นพบ “มหาพรหมราชินี” ชี้แจงเพิ่มเติมว่า มหาพรหมราชินี เป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่น (endemic) ที่อยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในบริเวณที่แคบของยอดเขาสูงชันที่ระดับความสูง 1,100 เมตร ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ลักษณะของต้นเป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 4-6 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-8 เซนติเมตร เปลือกลำต้นสีน้ำตาล กิ่งอ่อนมีขนอ่อนคลุมอยู่ ใบรูปหอก กว้าง 4-9 เซนติเมตร ยาว 11-19 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบเรียบเป็นมันทั้งสองด้าน โคนใบและปลายใบแหลม มีเส้นแขนงใบจำนวน 8-11 คู่
ดอก มีลักษณะเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นช่อ 1-3 ดอกใกล้ปลายยอด เป็นพรรณไม้ที่มีดอกใหญ่ที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับดอกของพรรณไม้ชนิดอื่นๆ ในสกุลมหาพรหม คือ เมื่อบานเต็มที่ดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เซนติเมตร โคนกลีบสีเขียวอ่อน ปลายกลีบสีม่วงเข้ม กระดกงอขึ้นและประกบติดกันเป็นรูปกระเช้า แต่ละดอกบานอยู่ได้ 3-5 วัน กลิ่นหอมอ่อนๆ มีฤดูดอกบานเต็มต้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ส่วนผล เป็นผลกลุ่ม มีผลย่อย 10-15 ผล รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.2-2.4 เซนติเมตร มีขนอ่อนปกคลุมหนาแน่น มีผลแก่ในช่วงเดือนตุลาคม
อนึ่ง วว. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระนามาภิไธย เป็นชื่อพืชชนิดใหม่ว่า Mitrephora siriketiae Weerassoriya, Chalermglin & M.K.R. Saunders
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงเพิ่มเติม ว่า วว.รู้สึกภูมิใจและปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็น ดอกของต้นมหาพรหมราชินีบานเป็นครั้งแรกนอกถิ่นกำเนิด แม้ว่าจำนวนของดอกจะมีไม่มากเมื่อเทียบกับถิ่นกำเนิดทางภาคเหนือ แต่ก็ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของการวิจัยเพื่ออนุรักษ์มหาพรหมราชินี ทั้งนี้ วว. จะได้เร่งส่งเสริมให้มีการปลูกมหาพรหมราชินีเพื่อเป็นไม้ดอกไม้ประดับ อันจะเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์พรรณไม้ชนิดนี้อยู่คู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน
พร้อมกันนี้ วว. ใคร่ขอเรียนเชิญท่านผู้สนใจทุกท่านมาร่วมชื่นชมความงดงามของดอกมหาพรหมราชินีได้ และ วว. ได้ขยายพันธุ์เพื่อจำหน่าย ณ เทคโนธานี นับแต่บัดนี้ ( 9 กุมภาพันธ์ 2549 ) เป็นต้นไป ทั้งนี้กรุณาแจ้งความจำนงในการเข้าชมล่วงหน้า ได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. โทร 0 2577 9004 — 5 ในวันและเวลาราชการ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ