ถนนคนเดิน เมืองกาญจนบุรี

ข่าวท่องเที่ยว Monday April 20, 2009 09:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 เม.ย.--ททท. ณ จุดที่แม่น้ำแควน้อยไหลมาบรรจบกับแม่น้ำแควใหญ่ เป็นชัยภูมิซึ่งสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงใช้สร้างเมืองใหม่ในปีพ.ศ. 2374 และได้ขยับขยายบ้านเมืองสืบทอดวิถีผู้คนผ่านยุคสมัยอาณานิคม สงครามโลก เรื่อยมาจนเป็นเมืองกาญจนบุรีในปัจจุบัน นับได้เป็นระยะเวลาถึง 177 ปีแล้ว ถนนปากแพรก ย่านชุมชนเก่าแก่ของเมืองกาญจน์ที่ขนานไปกับน้ำแควใหญ่ ใกล้กำแพงเมืองเก่า มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์พร้อมกับสร้างเมืองในยุคแรก ๆ บริเวณนี้เป็นย่านการค้าสำคัญ เนื่องจากใกล้ชุมทางขนส่งทางน้ำของกาญจนบุรี ปัจจุบันเป็นจุดที่เชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในตัวเมืองกkญจน์หลายแห่ง อาทิ กำแพงประตูเมืองเก่า ศาลหลักเมือง พิพิธภัณฑ์สงครามวัดใต้ และยังอยู่ใกล้ท่าน้ำหน้าเมืองที่มีเรือแพท่องเที่ยวมากมาย สิ่งก่อสร้าง และสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ มีทั้งโบราณสถาน บ้านเรือนร้านค้าแบบไม้และตึก ส่วนใหญ่เป็นรูปทรงแบบจีนและตะวันตก ก่อสร้างอยู่รวมกันตลอดเส้นทางสายนี้ เป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ประตูเมืองเก่า รัชกาลที่ 3 ได้ทรงย้ายเมืองกาญจนบุรีจากลาดหญ้า มาตั้งยังอยู่ที่ปัจจุบัน ประตูเมืองก่อด้วยอิฐ ด้านบนตัวอักษรระบุปี พ.ศ. 2374 ที่สร้างเมือง ด้านหน้าประตูมีพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 3 ส่วนด้านข้างเป็นแนวกำแพงเมืองเก่า บ้านแต้มทอง บ้านตึกหลังแรกของกาญจนบุรี สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 เดิมเป็นร้านค้าขายของหลายอย่าง รวมทั้งเครื่องยาจีน และทอง อยู่บริเวณช่วงกลางถนนปากแพรก ปัจจุบันเป็นบ้านพักอาศัย มีลูกหลานอาศัยอยู่นับเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว บรรพบุรุษคือ นายฮะฮ้อ แต้มทอง (แซ่อื้อ) ชาวจีนซึ่งมาตั้งรกรากที่เมืองกาญจน์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 และได้กลับไปเมืองจีนนำช่างจีนกลับมาสร้างบ้านพร้อมเตียงดำ ซึ่งปัจจุบันบ้านนี้มีอายุประมาณ 150 ปี สถาปัตยกรรมแบบจีนยัคงสภาพสมบูรณ์เหมือนเดิมทุกอย่าง บ้านสิทธิสังข์ ตึกเก่า 2 ชั้นติดกัน 3 คูหา สไตล์โคโลเนียล บานประตูเฟี้ยม ระเบียงชั้นบนทำเป็นช่องโค้ง ปัจจุบันได้รับการตกแต่งทาสีใหม่ให้เป็นร้านกาแฟร่วมสมัยภายใต้โครงสร้างเดิม มีบริการเครื่องดื่มและขนมหวานต่าง ๆ โรงแรมสุมิตราคาร โรงแรมแห่งแรกของจังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินกิจการแล้ว ลักษณะเป็นตึกแถว 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ 5 คูหา เป็นที่เช่านอนของทหารญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปัจจุบันด้านล่างเปิดเป็นร้านขายของชำทั่วไป บ้านบุญผ่อง แอนด์ บราเดอร์ เป็นตึก 3 ชั้น บ้านของนายบุญผ่อง สิริเวชชะพันธุ์ ผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้จัดหาสินค้าอุปโภคบริโภคให้กับทหารญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในเสรีไทยที่ได้แอบช่วยฝ่ายพันธมิตรและเชลยศึก นอกจากนี้ยังมีอาคารที่น่าสนใจอื่น ๆ อาทิ ศาลเจ้าแม่กวนอิม บ้านคชวัตร บ้านเดิมของสมเด็จพระสังฆราช บ้านชวนพานิช ร้านบุญเยี่ยมเจียระไน ฯลฯ แม้ถนนสายนี้จะผ่านกาลเวลาเนิ่นนานมาเกือบสองร้อยปี ชาวชุมชนที่อาศัยสืบทอดต่อเนื่องกันมานับแต่อดีตยังคงรักษาร่องรอยทางประวัติศาสตร์ไว้ได้ด้วยความภาคภูมิใจและได้ร่วมใจจัด ถนนคนเดิน โดยฟื้นความคึกคักมีชีวิตชีวาของถนนเก่าสายนี้ ในทุกวันเสาร์และอาทิตย์ ตั้งแต่ตอนเย็นแดดล่มลมตกไปจนถึงยามค่ำคืน ด้วยความเข้มขลังของตึกรามบ้านช่องแบบเก่า ๆ ดั้งเดิม ผสมผสานกับกิจกรรมการแสดงทางวัฒนธรรม งานศิลปะต่าง ๆ รวมทั้งสินค้าอาหารแบบโบราณและร่วมสมัยมากมาย ทำให้ถนนคนเดินแห่งนี้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาดบรรจุไว้ในโปรแกรมท่องเที่ยว ในยามที่มาพักผ่อนที่เมืองกาญจนบุรีในวันสุดสัปดาห์ TAT Call Center 1672

แท็ก สงคราม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ