2 ซาวด์ เอ็นจิเนียร์ ชื่อดัง เผยเบื้องหลังความสำเร็จของงานดนตรี

ข่าวทั่วไป Monday April 10, 2006 12:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สถาบันเจน เอ็กซ์ อคาเดมี่
ความสำเร็จของศิลปินเพลง นักดนตรี ตลอดจนวงการเพลงนั้น ต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่าง หนึ่งในนั้นคือ Sound Engineer ซึ่งทำงานอยู่เบื้องหลังแต่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าส่วนอื่นๆ เลย ส่วนจะสำคัญอย่างไรนั้น ต้องลองฟังจากรุ่นใหญ่ที่คร่ำหวอดในแวดวงนี้มานาน
โสฬส ปุณกะบุตร นักแต่งเพลง นักดนตรี ที่เรียบเรียงเพลงดังมากมาย เช่น ยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บ ของอินคา, รักเธอเสมอ ของ อัสนี-วสันต์ และเป็นโปรดิวเซอร์ให้ศิลปินดังอีกหลายอัลบั้ม เช่น วงนูโว, ปีเตอร์ คอร์ปไดเรนดัล, วง FLY, โบ-สุนิตา ฯลฯ นอกจากนี้ยังเป็นอาจารย์ประจำวิชา Studio Sound Engineering (วิศวกรเสียงในสตูดิโอ) สถาบัน เจน เอ็กซ์ อคาเดมี่ อีกด้วย ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพ SE หรือ ซาวด์ เอ็นจิเนีย ไว้อย่างน่าสนใจ
“ปัจจุบันบุคลากรที่มีความรู้ด้านนี้ เริ่มเยอะขึ้น ผิดกับเมื่อก่อน ที่ต้องศึกษาเองจากตำรา หรือสอบถามจากผู้มีประสบการณ์ คนที่เก่งจริงๆ จะมีค่อนข้างน้อย แต่สมัยนี้มีการเรียนการสอนค่อนข้างมาก คนรุ่นใหม่ที่อายุไม่เยอะ จึงสามารถเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์ที่มาถ่ายทอดให้ ทำให้เดี๋ยวนี้วงการ SE ดีขึ้นกว่าเดิม มีคนเก่งๆ มากขึ้น ในความคิดของผม คนที่จะเป็น SE ที่เก่งที่สุด ต้องมีพื้นฐานทางซาวด์ เอน แน่น และมีรสนิยมในการทำงาน คือต้องมีคนส่วนมากชอบผลงานเรา ทั้ง 2 อย่างนี้ จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในอาชีพได้”
ติ๊ด-โสฬส ยังได้กล่าวถึง วัฒนธรรมของเพลง ในบ้านเราด้วยว่า ทั้งรูปแบบ และซาวด์ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากประเทศแถบตะวันตก แสดงถึงความมีรสนิยมที่ใกล้เคียงกัน แต่การทำเพลงอาจไปอ้างอิงกับตะวันตกค่อนข้างเยอะ อาจเป็นเพราะซาวด์ของเพลงของฝั่งตะวันตกมีความแน่น ความสมบูรณ์ในสุ้มเสียงมากกว่าเพลงไทยในปัจจุบัน
“ซึ่งที่จริงเพลงไทยที่ดีก็มี แต่ยังมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ผมคิดว่าถ้าเรายึดซาวด์แบบของฝั่งตะวันตกไว้ แล้วพยายามทำตามแต่ไม่ใช่เลียนแบบนะ ผมก็หวังว่าวันหนึ่งเราจะสามารถทำได้เท่าเขาหรือดีกว่า เพราะเทคโนโลยีของเรากับเขาใกล้เคียงกันมาก แต่สิ่งที่ทำให้สุ้มเสียงของเพลงแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดระหว่างเพลงสากลกับเพลงไทย คือ know how ของคนฟัง หมายถึงประสบการณ์ที่สั่งสมกันมาเป็น 10-20 ปี ที่ถ่ายทอดกันมาระหว่างบุคคลสู่บุคคล”
สำหรับคนที่สนใจก้าวสู่อาชีพ SE ในอนาคต โปรดิวเซอร์มือโปรผู้นี้บอกว่า ไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานด้านดนตรีมากก็ได้ เพียงขอให้นับจังหวะเป็น และชอบฟังเพลงก็น่าจะเพียงพอ
“อย่างผมก็จะสอนตั้งแต่พื้นฐานเบื้องต้น การบันทึกเสียงเบื้องต้น เช่น การตั้งไมโครโฟน เส้นทางการเดินของสัญญาณ อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในสตูดิโอ รวมถึงคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการบันทึกเสียง ฯลฯ คือสอนให้มีความเข้าใจ และวิธีคิดที่น่าจะเป็นสิ่งถูกต้อง สอนภาคปฏิบัติขั้นเบสิค ให้รู้ขั้นตอนการทำงาน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ผมทำงานมา 20-30 ปี แต่สิ่งที่ให้ไม่ได้คือ ประสบการณ์ ซึ่งต้องใช้ความรู้ที่มีอยู่ไปหาเอาเอง” ติ๊ด-โสฬส กล่าว
งานด้าน ซาวด์ เอ็นจิเนียร์ ที่สำคัญยิ่งอีกอย่างคือ ไลฟ์ ซาวด์ เอ็นจิเนียร์ (Live Sound Engineer) หรือ วิศวกรเสียงสำหรับการแสดงสด ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมการแสดงสด ที่มีระบบ เสียงต่างๆ เป็นองค์ประกอบ อาทิ เวทีปราศรัย การเปิดตัวสินค้า งาน Event คอนเสิร์ต ฯลฯ
เต้-ณัฐพงษ์ สุขะตุงคะ ผู้มีประสบการณ์ในการทำงานด้านนี้มากว่า 11 ปี ร่วมงานกับศิลปินต่างๆมากมาย เช่น Y Not 7, พลพล, ปีเตอร์, Mr.Team, ปาล์มมี่, Big Ass ล่าสุดขณะนี้ กำลังอยู่ในช่วงออกทัวร์คอนเสิร์ตกับ วงโปเตโต้ และยังเป็นอาจารย์สอนหลักสูตร Live Sound Engineer ที่สถาบันเจนเอ็กซ์ อคาเดมี่ ได้กล่าวแนะนำผู้ที่ต้องการเป็น ไลฟ์ ซาวด์ ฯ ที่ดี ว่าควรเรียนรู้ทฤษฎีขั้นต้นให้รู้ว่าปัญหาต่างๆ ในการทำงานที่เกิดขึ้นคืออะไรจะได้แก้ไขทัน
“ถึงแม้จะทำงานมานานแค่ไหน แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สำหรับปัญหาหลักๆ ที่เจอบ่อยเวลาทำงานคือ ไมโครโฟนดับบนเวที ไวร์เลสหลุด ปลั๊กหลุด ฯลฯ เราต้องเตรียมตัวแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ได้เร็วที่สุด อาชีพนี้ต้องมีหูที่ดีด้วย คือ การเข้าใจในการฟัง ว่าเสียงที่เกิดขึ้นต้องแยกแยะให้ได้ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือเสียงจากอิเลคทรอนิกส์”
ณัฐพงษ์ กล่าวว่า งานไลฟ์ ซาวด์ ฯ อาจดูเป็นงานค่อนข้างยาก แต่ก็น่าสนใจและท้าทาย ใครที่อยากเข้ามาทำงานด้านนี้ ควรมีพื้นฐานด้านดนตรี รู้เรื่องอิเลคทรอนิกส์เบื้องต้นเพื่อช่วยในการควบคุมเครื่องมือการทำงานต่างๆ และซ่อมแซมอุปกรณ์เวลาเสีย ต้องตั้งใจ ขยัน อย่าเพิ่งถอดใจเรื่องเทคโนโลยี ฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ฝึกฟังเสียงต่างๆ ให้แม่นยำ จะช่วยให้เก่งขึ้นได้
“เรื่องแบบนี้เรียนไม่มีวันจบหรอก ผมเองถึงทำงานมานานเป็นสิบปี แต่ก็ยังต้องหาคู่มือมาศึกษาว่าเขาพัฒนาอะไรใหม่ๆ มา ตราบใดที่คนยังสนใจดูการแสดงสด ละคร คอนเสิร์ต อาชีพนี้ไม่ตันหรอก แต่คนที่อยากเป็นมือโปรต้องอดทนในการสร้างประสบการณ์เพราะเป็นงานที่ก้าวกระโดดไม่ได้ ต้องค่อยๆ ก้าวไปเรื่อยๆ” เต้-ณัฐพงษ์ สุขะตุงคะ กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจเรียนรู้อาชีพ Sound Engineering สอบถามรายละเอียดได้ที่สถาบัน เจน เอ็กซ์ อคาเดมี่ โทร.0-2203-1001หรือ www.genxacademy.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

แท็ก engineer   ศิลปิน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ