อลิอันซ์มั่นใจฐานะการเงินแกร่ง เผยยอดเบี้ยประกันรวมกว่า 5.89 แสนล้านบาท พร้อมมุ่งทำตลาดกำลังเติบโต คาดการณ์วิกฤติเศรษฐกิจพลิกฟื้นเร็ว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 22, 2009 16:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.ค.--ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ กลุ่มอลิอันซ์โชว์ศักยภาพผู้นำธุรกิจประกันระดับโลกพร้อมเผยฐานะการเงินสุดแข็งแกร่งผ่านยอดเบี้ยประกันรวมกว่า 5.89 แสนล้าน เล็งตลาดกำลังเติบโตในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กลุ่มประเทศยุโรป และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง/ อาฟริกาเหนือ คาดการณ์เศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้ภายในครึ่งปีหลัง ดร.แวร์เนอร์ เซดีเลียส กรรมการบริหารของกลุ่มอลิอันซ์ เปิดเผยข้อมูลทางทางการเงินของเครืออลิอันซ์ล่าสุด พร้อมกล่าวถึงความสำคัญของตลาดที่กำลังเติบโตว่า “กลยุทธ์ของเราชัดเจน เป็นรูปธรรมและยั่งยืน เพราะตลาดดังกล่าวมีความสำคัญอย่างมากกับธุรกิจของอลิอันซ์ทั่วโลก และถือว่าเป็นตลาดที่บริษัทสามารถเติบโตได้อย่างมีผลกำไร ทั้งนี้วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกไม่มีผลทำให้ความมุ่งมั่นของกลุ่มอลิอันซ์เปลี่ยนแปลงไป เพราะบริษัทฯ มีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนคือมุ่งเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดในส่วนนี้ให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังมุ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งในฐานะผู้ให้บริการธุรกิจประกันระดับแนวหน้าของโลก ที่ให้บริการครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าในตลาดที่กำลังเติบโตทั่วโลก” 5 ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต ประมาณร้อยละ 13 ของรายได้ของกลุ่มอลิอันซ์มาจาก 3 ตลาดหลักที่กำลังเติบโต ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กลุ่มประเทศยุโรป และกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง/อาฟริกาเหนือ ในปี 2551 กลุ่มอลิอันซ์ มียอดเบี้ยประกันรวมคิดเป็น 12.3 พันล้านยูโร หรือประมาณ 5.89 แสนล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2552, 1 ยูโร = 47.94 บาท) มีผลกำไรจากการดำเนินงาน 800 ล้านยูโร หรือประมาณ 38.43 พันล้านบาท (รวมผลกำไรจากบริษัทในอินเดียด้วย) ทั้งนี้ กลุ่มอลิอันซ์มีลูกค้าในตลาดที่กำลังเติบโตอยู่มากกว่า 29 ล้านราย มีการจ้างพนักงานทั้งสิ้นกว่า 50,000 ราย และมีตัวแทนที่ให้บริการลูกค้าอยู่กว่า 320,000 ราย กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ดร. เซดีเลียส เชื่อว่าตลาดที่กำลังเติบโตจะยังคงมีความสำคัญต่อกลุ่มอลิอันซ์มากยิ่งขึ้นในอนาคตเนื่องจากเหตุผล 5 ประการ คือ เหตุผลทางด้านสถิติประชากร เนื่องจากในตลาดที่กำลังเติบโตมีประชากรที่มีอายุเกินกว่า 65 ปีอยู่เพียงร้อยละ 9 เท่านั้น เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรในกลุ่มดังกล่าวในตลาดยุโรป ซึ่งมีอยู่กว่าร้อยละ 18 การคาดการณ์อัตราการเติบโตของจีดีพี จำนวนประชากรและภาวะการค้าโลกจะช่วยผลักดันให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้นควบคู่ไปกับความต้องการทำประกันชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้น อัตราการออมเงินที่สูง ระบบประกันสังคมในประเทศที่กำลังพัฒนาจำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในการดูแลด้านสาธารณสุขและผู้สูงอายุ เสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงมากขึ้น โลกาภิวัฒน์และนโยบายทางเศรษฐกิจที่สมเหตุผลจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศที่เป็นตลาดที่กำลังเติบโตให้มั่นคงยิ่งขึ้น การคาดการณ์เรื่องการผ่อนปรนกฎระเบียบ ขณะนี้ไม่สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับการผ่อนปรนเรื่องกฎระเบียบได้อย่างชัดเจน แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อาจเกิดขึ้นและกลายเป็นโอกาสครั้งสำคัญได้ “แต่ละปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ความต้องการในการทำประกันชีวิต และประกันวินาศภัยเพิ่มสูงยิ่งขึ้น และเราก็จะได้ประโยชน์จากจุดนั้น เพราะตามที่กล่าวไปแล้วว่า กลยุทธ์ของเรามีความชัดเจนที่จะมุ่งแสวงหาตลาดที่มีการเติบโตอย่างมีผลกำไร ในฐานะที่เราเป็นผู้นำ จึงสามารถเลือกและดำเนินธุรกิจที่เหนือกว่า” ดร. เซดีเลียส กล่าว ช่องทางจำหน่ายที่เข้มแข็ง โฟกัสลูกค้าเป็นหลัก และการดำเนินงานที่เต็มประสิทธิภาพคือปัจจัยสำคัญในการเติบโตในตลาดเอเชีย ดร. เซดีเลียส กล่าวถึงแผนงานในอนาคตของอลิอันซ์ในเอเชียว่า สิ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญอันดับแรกก็คือ บริษัทฯ จะยังคงเดินกลยุทธ์ทางการตลาดที่มุ่งให้ความสำคัญกับการขยายช่องทางจำหน่ายให้มีความหลากหลาย สร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายของตัวแทนและแบงค์แอสชัวรันส์ทั่วภูมิภาคเอเชีย โดยจะรีครูทตัวแทนใหม่ๆ เพิ่มขึ้น พร้อมทั้งจัดอบรมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้แก่ตัวแทนเพื่อการทำงานที่เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังได้รับประโยชน์จากการที่ตัวแทนสามารถขายผลิตภัณฑ์ได้ในเวลาที่เกิดวิกฤติทางการเงินเช่นนี้ เนื่องจากลูกค้าเห็นถึงความสำคัญของการเป็นพันธมิตรที่ดีของอลิอันซ์ตลอดเวลานั่นเอง สิ่งที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญรองลงมาเป็นอันดับสองได้แก่ การปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถส่งมอบบริการที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า “เราจำเป็นต้องสร้างกระบวนการการทำงาน ปรับปรุงพร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ตรงตามความต้องการของลูกค้าให้มากที่สุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสองกลยุทธ์ที่เราใช้กันทั่วโลก คือ การให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลัก (Customer Focus) และรูปแบบการดำเนินงานที่เน้นเป้าหมายเป็นหลัก (Target Operating Model) โดยจะเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานให้เต็มประสิทธิภาพ เช่น การแลกเปลี่ยนระบบการปฏิบัติงานที่ดีเยี่ยม การรวมศูนย์ปฏิบัติงาน และการทำให้งานมีมาตราฐานเดียวกัน” สถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง คือจุดแข็งที่สุดของอลิอันซ์ นอกจากปัจจัยบวกภายนอกและกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในองค์กรอย่างต่อเนื่องแล้ว มร. เซดีเลียสเชื่อมั่นว่าความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินของอลิอันซ์จะเป็นปัจจัยบ่งชี้ถึงขีดความสามารถในการแข่งขันที่สำคัญอีกประการหนึ่ง โดยเขาชี้ให้เห็นว่าปัจจัยหลักต่างๆ ที่บ่งบอกถึงสถานภาพที่แข็งแกร่ง ได้แก่ ผลกำไรจากการปฏิบัติงาน, ความสามารถในการชำระหนี้, การได้รับการจัดอันดับ ตลอดจนมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด ล้วนยืนยันได้ถึงสถานภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งของกลุ่มอลิอันซ์ “สิ่งที่ลูกค้าของเราให้ความไว้วางใจก็คือ สถานภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง เพราะมันทำให้พวกเขาเกิดความสบายใจ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่แม้เราจะเผชิญกับวิกฤติทางการเงินมาอย่างหนัก แต่อลิอันซ์ก็ยังคงรักษาตำแหน่งบริษัทประกันชั้นนำของโลกเอาไว้ได้อย่างมั่นคง ซึ่งสิ่งนี้เองที่ทำให้ลูกค้า พนักงาน ตัวแทน พันธมิตรธุรกิจตลอดจนคู่ค้าของเราเกิดความสบายใจได้ตลอดเวลา” “เราได้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติทางการเงินและเศรษฐกิจมาแล้ว และเราก็ได้จัดสรรเงินของลูกค้าเพื่อนำไปลงทุนอย่างรอบคอบ จากทิศทางทั่วๆไปของตลาดที่กำลังเติบโต ผสานกับกลยุทธ์หลักของเราในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านช่องทางการจัดจำหน่ายและการปฏิบัติการ รวมกับความแข็งแกร่งทางด้านการเงินที่ดีมากๆของเรา เราเชื่อมั่นว่าเราจะขยายศักยภาพของเราในฐานะผู้นำในตลาดที่กำลังเติบโตนี้” ดร. เซดีเลียส กล่าวสรุป ครึ่งหลังของปี 2552 ถึงเวลาที่เศรษฐกิจฟื้นตัว จากการที่เศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมได้ส่งผลกระทบต่อตลาดประกันชีวิตทั่วโลก ผลการวิจัยครั้งล่าสุดโดยสำนักเศรษฐกิจของกลุ่มอลิอันซ์ ได้ประมาณการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในกลุ่มสหภาพยุโรปจะลดลงร้อยละ 3.5 ในปี 2552 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ในปี 2553) ในสหรัฐจะลดลงร้อยละ 2.3 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ในปี 2553) สำหรับในเอเชีย นักเศรษฐศาสตร์ของอลิอันซ์กลับมองในแง่บวกมากกว่า โดยได้พยากรณ์การเติบโตไว้ที่ร้อยละ 2.7 ในปี 2552 และเติบโตขึ้นร้อยละ 5.6 ในปี 2553 มร. ไมเคิล ไฮนส์ ประธานเจ้าหน้าที่เศรษฐกิจอาวุโสของกลุ่มอลิอันซ์ประเทศเยอรมนี กล่าวในงานแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ เมื่อไม่นานนี้ว่า “เอเชียจะรอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจฝืดเคืองในเวลาไม่นานนัก” ในประเทศไทยนั้น ได้เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวอย่างฉับพลันเมื่อปลายปี 2551 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจการค้าโลกที่ตกต่ำถึงขีดต่ำสุด ทำให้ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 75 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ แต่ปัญหาการเมืองภายในประเทศยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงในช่วงปลายปี 2551 ซึ่งคาดว่าตัวเลขจีดีพีที่แท้จริงสำหรับปี 2552 นี้จะหดตัวประมาณร้อยละ 3.5 โดยในปี 2553 นี้ นักเศรษฐศาสตร์ของกลุ่มอลิอันซ์ได้คาดการณ์ว่าตัวเลขจีดีพีจะสามารถดีดกลับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3 ได้อย่างแน่นอน อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.รากฐานธุรกิจที่มั่นคงในประเทศไทย มร. สตีเฟ่น แอปเปิ้ลยาร์ด กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. กล่าวว่า “สถานภาพทางการเงินของอยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. มีความแข็งแกร่งอย่างมาก และเรามองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของลูกค้าที่เริ่มมองหาบริษัทประกันชีวิตที่มีคุณภาพเพราะลูกค้ากำลังมองหาการลงทุนที่ปลอดภัยเพื่อความมั่นคงในอนาคต ขณะนี้บริษัทฯ มีมูลค่าสินทรัพย์ทั้งสิ้น 83 พันล้านบาท ขณะที่มีเงินทุนสำรองอยู่ที่ 77 พันล้านบาท” นอกจากนี้ สถานะทางการเงินของกลุ่มอลิอันซ์ ซึ่งเป็นบริษัทประกันชั้นนำของโลกยังได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้อยู่ในระดับ AA โดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Standard & Poor’s จากการที่อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. มีกลุ่มอลิอันซ์ที่แข็งแกร่งและเป็นผู้นำประกันภัยระดับโลกสนับสนุน มีส่วนช่วยอย่างมากที่ทำให้ลูกค้าของ อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. มีความมั่นใจและอุ่นใจในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจนี้ “ปีที่แล้ว เราได้จ่ายเงินชดเชยและเงินเมื่อครบกำหนดสัญญาให้ลูกค้ากว่า 500,000 ราย เป็นวงเงินมูลค่า 7.5 พันล้านบาท เพื่อหยิบยื่นความช่วยเหลือในยามที่พวกเขากำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติ ซึ่งนับเป็นสถิติใหม่และถือเป็นผลงานสำคัญในการก้าวไปสู่เป้าหมาย ที่อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี.มุ่งมั่นที่จะมอบความมั่นคงให้แก่ทุกครอบครัวไทย “ยอดเบี้ยประกันรับปีแรกของเราในช่วงห้าเดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจถึงร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นี่คือกำลังใจสำคัญที่จะทำให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายของเราภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน” มร. สตีเฟ่น กล่าวสรุป มิ่งขวัญ พัฒนวงศ์ บมจ. อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต โทร: 0-2305-7457 อีเมล์: mingkwan.p@aacp.co.th คริสโตฟ จอห์น Allianz Insurance Management Asia Pacific Pte Ltd โทร: +65-6297-2724 มือถือ: +65-9237-8954 อีเมล์: christoph.john@allianz.com.sg

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ