ธนาคารกรุงเทพ แนะนักลงทุนที่จะไปลงทุนในอินโดนีเซีย

ข่าวทั่วไป Friday September 15, 2006 15:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--ธนาคารกรุงเทพ
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นเกี่ยวกับอินโดนีเซีย ว่าเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่นักลงทุนไทยน่าจะเข้าไปลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มเหมืองแร่ การแปรรูปสินค้าเกษตรและประมง การรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานและกิจการบริการ เนื่องจากอินโดนีเซียมีทั้งทรัพยากร แรงงาน และตลาดขนาดใหญ่
สำหรับพื้นที่ที่นักลงทุนไทยจะเข้าไปลงทุนนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ข้อเสนอแนะว่าควรขึ้นกับอุตสาหกรรมที่ลงทุนเป็นหลัก เนื่องจากอินโดนีเซียมีภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะที่มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติและสภาพทางภูมิศาสตร์ ทำให้แต่ละท้องถิ่นมีความเหมาะสมในการผลิตสินค้าแตกต่างกันไป เช่น ด้านอุตสาหกรรม อาทิ สิ่งทอ โรงงานประกอบรถยนต์ ปูนซีเมนต์ อาหารแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล เครื่องหนัง ฯลฯ บนเกาะชวา และสุมาตรา ภาคเกษตร อาทิ กาแฟ โกโก้ ยางพารา บนเกาะสุมาตราและชวา ประมง แหล่งจับปลามีทั่วประเทศ เนื่องจากมีชายฝั่งทะเลที่ ทอดยาว เหมืองแร่ อาทิ ถ่านหิน บนเกาะกะลิมันตัน สุมาตรา และชวา ทองแดง บนเกาะสุมาตรา และ อิเรียนจายา นิกเกิล บนเกาะสุลาเวสี และมาลุกุ ดีบุก บนเกาะสุมาตรา ชวา และฟลอเรส ก๊าซธรรมชาติ บนเกาะสุมาตรา ชวา ลอมบอก ฟลอเรส ติมอร์ตะวันตก กะลิมันตัน และอิเรียนจายา น้ำมันปิโตรเลียม บนเกาะ สุมาตรา ชวา ซุมบาวา ฟลอเรส ติมอร์ตะวันตก กะลิมันตัน สุลาเวสี และอิเรียนจายา ป่าไม้ บนเกาะสุมาตรา กะลิมันตัน ชวา มาลุกุ ซุมบา ติมอร์ตะวันตก และอิเรียนจายา เป็นต้น แต่ทั้งนี้ การสำรวจพื้นที่จริงด้วยตนเองเป็นสิ่งจำเป็น
อินโดนีเซียเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้ 100% เกือบทุกสาขา ยกเว้นเพียงบางสาขาที่สงวนไว้สำหรับธุรกิจในประเทศหรือมีเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ อาทิ เหมืองแร่ ประมง และการเกษตร เช่น มีข้อกำหนดว่าอย่างน้อยร้อยละ 70 ของผลผลิตการเกษตรต้องมีการแปรรูปในประเทศก่อนส่งออก อย่างไรก็ตาม การร่วมทุนกับท้องถิ่นจะได้รับความสะดวกมากกว่า โดยเฉพาะในการติดต่อราชการและการดำเนินการต่างๆ สำหรับเงินลงทุนขั้นต่ำของธุรกิจทุกประเภทอยู่ที่ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงนักลงทุนต่างชาติต้องขออนุมัติจาก Investment Coordinating Board ในสังกัด Badan Koordinasi Penanaman Modal หรือ BKPM ซึ่งทำหน้าที่คล้ายสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย ขณะที่นักลงทุนท้องถิ่นไม่จำเป็น ยกเว้นต้องการสิทธิประโยชน์ในการลงทุน ด้านการจ้างแรงงานต่างชาติ ต้องระบุตำแหน่งงานให้ตรงกับรายการที่ BKPM อนุญาต และในอนาคตอาจต้องสอบภาษาอินโดนีเซียด้วย ส่วนการจ้างงานในระดับล่างกำหนดให้เฉพาะคนท้องถิ่น
อนึ่ง ปัจจุบันกฎหมายการลงทุนของอินโดนีเซียยังแบ่งเป็นกฎหมายการลงทุนสำหรับนักลงทุนในประเทศและกฎหมายการลงทุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ แต่ในอนาคตจะรวมกฎหมายทั้งสองฉบับเป็นฉบับเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำ จึงยังไม่มีรายละเอียดและกำหนดเวลาที่แน่นอนในการประกาศใช้ นอกจากนี้สิทธิประโยชน์ที่ BKPM ให้กับนักลงทุนต่างชาติมีไม่มากเท่าประเทศไทย โดยมีเพียงการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร และวัตถุดิบเป็นเวลา 2 ปีเท่านั้น ไม่มีการยกเว้นภาษีเงินได้แต่อย่างไร แต่นักลงทุนก็ยังตัดสินใจลงทุน เนื่องจากผลตอบแทนที่ได้รับค่อนข้างดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ