บลจ.กสิกรไทย ลงนามแต่งตั้งผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาดรอง ผู้ร่วมค้า ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน และ ผู้ทำหน้าที่อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับ “กองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ”

ข่าวทั่วไป Thursday January 26, 2006 08:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ม.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต
บลจ.กสิกรไทย ลงนามแต่งตั้งผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาดรอง (Market Makers) ผู้ร่วมค้า (Authorized Participant) ผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน (Underwriters) และ ผู้ทำหน้าที่อื่นๆที่เกี่ยวข้องกับ “กองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ” หรือ ABF Thailand Bond Index Fund (ABFTH) ก่อนเตรียมประเดิม IPO กองทุนรวม ที่จัดตั้งในรูปแบบ Exchange Traded Fund เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ภายในไตรมาสแรกของปีนี้
บลจ.กสิกรไทย ในฐานะผู้จัดการกองทุน “กองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ หรือกองทุน ABFTH” ที่ตั้งขึ้นภายใต้โครงการกองทุนพันธบัตรเอเชีย ระยะที่ 2 (Asian Bond Fund II) ได้จัดพิธีลงนาม ในสัญญาเพื่อแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ในด้านต่างๆ ของกองทุน ABFTH รวม 6 ด้าน ได้แก่ ผู้ดูแลสภาพคล่อง ในตลาดรอง (Market Makers) ผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุน (Authorized Participant) ผู้จัดจำหน่าย หน่วยลงทุน (Underwriters) ผู้ดูแลผลประโยชน์ (Fund Supervisor) นายทะเบียน (Registrar) และ คณะกรรมการกำกับดูแล (Supervisory Committee) เพื่อเตรียมเปิดการจองซื้อ (IPO) กองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบ Exchange Traded Fund หรือ ETF เป็นครั้งแรกในประเทศไทยในไตรมาสที่ 1/ 2549 นี้
นางดัยนา บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยว่า “หลังจากที่ บลจ.กสิกรไทย ได้รับความไว้วางใจจากธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารกลางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิคอื่นๆ รวม 11 ธนาคารในกลุ่ม EMEAP (Executives’ Meeting of East Asia and Pacific Central Banks) ตามโครงการกองทุนพันธบัตรเอเชียระยะที่ 2 หรือ ABF2 ให้เป็นผู้บริหารกองทุนพันธบัตรเอเชียในส่วนที่เป็นกองทุนย่อยที่ลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศไทย โดย บลจ. กสิกรไทยได้เริ่มบริหารกองทุนดังกล่าวในลักษณะกองทุนส่วนบุคคลตั้งแต่เดือนเมษายน 2548 เป็นต้นมา รวมทั้งให้เป็นผู้บุกเบิก และปรับรูปแบบกองทุนส่วนบุคคลดังกล่าวให้เป็นกองทุนรวมแบบ ETF เพื่อให้เกิดการพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบใหม่ขึ้นในประเทศไทย และเพื่อให้นักลงทุนอื่นๆสามารถร่วมลงทุนในกองทุนดังกล่าวได้ ในวันนี้บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ในด้านต่างๆ ของกองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ ดังนี้
1. บมจ. ธนาคารกสิกรไทย บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารดอยซ์แบงก์ สาขากรุงเทพฯ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาดรอง หรือ Market Makers
2. ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุน หรือ Authorized Participant
3. บมจ. ธนาคารกสิกรไทย และ บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้จัดจำหน่ายหน่วยลงทุน หรือ Underwriters
4. ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ของกองทุน หรือ Fund Supervisor
5. บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อทำหน้าที่เป็นนายทะเบียน หรือ Registrar
6. ผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการเงินการธนาคารและการลงทุนอีก 5 ท่านเพื่อทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการกำกับดูแล ของกองทุน หรือ Supervisory Committee”
นางดัยนา กล่าวต่อไปว่า “จากการที่บริษัทได้ลงนามแต่งตั้งผู้ที่จะมีส่วนร่วมในการซื้อขายและการดำเนินการของกองทุนเปิดดัชนีพันธบัตรไทยเอบีเอฟ (ABFTH) ในวันนี้ นับเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้แก่นักลงทุน ทั้งนักลงทุนประเภทสถาบันและรายย่อยที่สนใจจะลงทุน ให้ได้รับทราบว่าจะมีการเปิด ซื้อขายกองทุน ABFTH ซึ่งเป็นกองทุนเปิดที่ลงทุนโดยอ้างอิงกับดัชนีตราสารหนี้ภาครัฐในประเทศไทย ขึ้นเป็นครั้งแรกในไตรมาสที่ 1/ 2549 นี้ โดยมีขนาดกองทุนในช่วงแรกประมาณ 4-6 พันล้านบาท โดยหลังจากการทำ IPO แล้ว บริษัทจะนำกองทุนนี้เข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ (Bond Electronic Exchange - BEX) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพื่อให้ครบองค์ประกอบของกองทุนรวมแบบ ETF ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดสภาพคล่องและเพิ่มความสะดวกในการซื้อขายให้แก่นักลงทุน ต่อไป”
กองทุน ABFTH มีการบริหารกองทุนที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ”คณะกรรมการกำกับดูแลกองทุน” ที่จัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษและเพียบพร้อมไปด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 5 ท่าน ดังมีรายชื่อต่อไปนี้
1.) นาง ผ่องเพ็ญ เรืองวีรยุทธ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงินและบริหารเงินสำรองธนาคารแห่งประเทศไทย
2.) รศ. ดร. อังครัตน์ เพรียบจริยวัฒน์ รองศาสตราจารย์คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
3.) ดร.พบพนิต ภุมราพันธุ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานสนับสนุนงานบริหารความเสี่ยง บมจ. ธนาคารทหารไทย
4.) นายทินวัฒน์ พุกกะมาน ทนายความพาร์ทเนอร์และกรรมการบริษัท บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็กแค็นซี่ จำกัด
5.) ดร. ภากร ปีตธวัชชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายบริหารการเงิน ฝ่ายบริหารการเงิน บมจ. ธนาคารไทยพาณิชย์”
นางดัยนา กล่าวเสริมว่า “ในการซื้อขายหน่วยลงทุน ABFTH นั้น นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศสามารถ ซื้อขายหน่วยลงทุนได้ทั้งผ่านผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาดรอง หรือผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุน ตามวิธีการและเงื่อนไขที่ผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาดรองและผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุนแต่ละรายกำหนด โดยผู้ดูแลสภาพคล่องในตลาดรองและผู้ร่วมค้าหน่วยลงทุนจะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการซื้อขายหน่วยลงทุนกับผู้จัดการกองทุนด้วยวิธีการส่งมอบหลักทรัพย์ตามตะกร้าที่กำหนด (in-kind) อีกชั้นหนึ่ง นอกจากนี้ นักลงทุนยังสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดตราสารหนี้ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (BEX) ซึ่งจะได้รับความสะดวกในการตัดสินใจลงทุน เนื่องจากสามารถทราบข้อมูลและกำหนดราคาซื้อขายได้เลยในขณะนั้น โดยไม่ต้องรอการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุน หรือ NAV ที่เดิมจะต้องรู้ผล ณ สิ้นวัน ตลอดระยะเวลาการจัดตั้งกองทุน ABFTH หน่วยงานทางภาครัฐได้ให้การสนับสนุน และ ลดอุปสรรคในการจัดตั้งกองทุน บริษัทมั่นใจว่ากองทุนนี้จะเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่งสำหรับนักลงทุน อีกทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ของไทย ตลอดจนระบบการเงินของประเทศโดยรวมในอีกทางด้วย”
“กองทุน ABFTH จัดเป็นกองทุนประเภทดัชนีตราสารหนี้กองแรกในประเทศไทยซึ่งมีเป้าหมายจะให้ผลตอบแทนของกองทุนก่อนหักค่าใช้จ่ายมีความเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิงมากที่สุด ในการบริหารกองทุนดัชนีดังกล่าว บริษัทจัดการจะต้องมีความชำนาญในตลาดตราสารหนี้ มีระบบการลงทุน และระบบการบริหารความเสี่ยงที่ดี และใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือในการบริหาร เพื่อทำการจัดสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้ผลตอบแทนกองทุนเบี่ยงเบนไปจากดัชนีอ้างอิงให้น้อยที่สุด” นางดัยนา กล่าวในที่สุด
กองทุนพันธบัตรเอเชีย ระยะที่ 2 เกิดจากความร่วมมือของธนาคารกลางชาติต่างๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและแปซิฟิค (East Asia and Pacific) จำนวน 11 แห่ง ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักลงทุน และผู้ออกตราสาร ในตลาดตราสารหนี้ของกลุ่มประเทศสมาชิกมากขึ้น นอกเหนือจากนี้กองทุนยังช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้ภายในประเทศให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระหว่างประเทศอีกด้วย
บลจ.กสิกรไทย ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการลงทุนจากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2535 ปัจจุบัน บลจ.กสิกรไทย เป็น 1 ในกลุ่ม KGroup ของบมจ. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด โดย ณ 31 ธันวาคม 2548 บลจ.กสิกรไทยมีทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการเท่ากับ 217,007.13 ล้านบาท
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
บ.นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด
นฤพร ชีวนันทพรชัย / ลลิลทิพย์ อมรสินทวี
โทร (02) 631-2290-5 ต่อ 310 / 309 แฟกซ์ (02) 234-6192-3
E-Mail : [email protected], / [email protected]จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ