ประชุมภาคีเครือข่ายเพศศึกษาเพื่อเยาวชน เดินหน้าร่วมผลักดันเพศศึกษาเป็นวิชาชีวิต

ข่าวทั่วไป Monday October 5, 2009 16:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ต.ค.--องค์การ PATH องค์กรแพธร่วมกับภาคีภาครัฐและเอกชน จัดประชุมภาคีเครือข่ายเพศศึกษาเพื่อเยาวชนกว่า 600 คนทั่วประเทศ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเพศวิถี การพัฒนาเยาวชน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ บทเรียนการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาสำหรับเยาวชนในสถานศึกษาระหว่างวันที่ ๕-๗ ตุลาคม ๒๕๕๒ เดินหน้าผลักดันเพศศึกษาเป็นวิชาชีวิตต่อไป นางภาวนา เหวียนระวี ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ องค์การ PATH ประเทศไทย เปิดเผยว่า โครงการส่งเสริมเพศศึกษารอบด้านสำหรับเยาวชน - ก้าวย่างอย่างเข้าใจ ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาเพื่อเยาวชน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข ในการแก้ไขปัญหาเอดส์ในกลุ่มเยาวชน โดยได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจากกองทุนโลกเพื่อแก้ไขปัญหาเอดส์ วัณโรค และมาเลเรีย (GFATM) บริหารโครงการโดยองค์การแพธ (PATH) ร่วมกับองค์กรภาคีทั้งภาครัฐและเอกชน จัด การประชุมเครือข่ายเพศศึกษาเพื่อเยาวชน ขึ้นเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องเพศวิถี การพัฒนาเยาวชน ประสบการณ์และบทเรียนการจัดกระบวนการเรียนรู้เพศศึกษาสำหรับเยาวชนในสถานศึกษา ตลอดจนเป็นเวทีในการสร้างเครือข่ายการทำงานเพศศึกษาเพื่อเยาวชน ระหว่างวันที่ ๕-๗ ตุลาคม ศกนี้ การประชุมครั้งนี้ นับเป็นการรวมพลครั้งสำคัญของผู้ที่มีส่วนผลักดันการทำงานเพศศึกษาสำหรับเยาวชนในสถานศึกษา อาทิ ครู อาจารย์และศึกษานิเทศก์จากหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัย หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร องค์การพัฒนาเอกชน กลุ่มเยาวชน และองค์กรระหว่างประเทศ จำนวนกว่า ๖๐๐ คน “ เป้าหมายของการประชุมมุ่งหวังให้ผู้ร่วมประชุมที่มาจากต่างพื้นที่ ต่างหน่วยงาน และต่างวัยมาเรียนรู้ร่วมกัน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคืบหน้า ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ลักษณะการประชุมจึงเป็นทั้ง การเปิดรับฟังแนวความคิดใหม่ ๆ จากนักวิชาการ และนักปฏิบัติที่ทำงานด้านเพศศึกษา และการพัฒนาเยาวชน ขณะเดียวกันก็เป็นการประชุมในหมู่คณะที่กำลังดำเนินงานอยู่ด้วยกัน เพื่อร่วมกำหนดทิศทางและติดตามความคืบหน้าของการผลักดันให้เกิดการจัดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาอย่างรอบด้าน และยั่งยืนในสถานศึกษา จากการทำงานเพศศึกษาอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู้ปี่หกของโครงการฯ ก็ยังคงพบความท้าทายจนถึงปัจจุบัน เช่น การค้นหาหน่วยงานรับผิดชอบเพศศึกษาในระยะยาว การได้รับความสนับสนุนจากผู้บริหารระดับนโยบายทั้งในส่วนกลางและในสถานศึกษา ฯลฯ ” นางภาวนา กล่าว ดร. สมบัติ สุวรรณพิทักษ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่แทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการในการเป็นประธานเปิดงาน กล่าวว่า สถานศึกษาไม่ว่าจะสังกัดหน่วยไหน รวมทั้งชุมชน ครอบครัว และสื่อมวลชน ต้องร่วมมือสร้างความเข้าใจเรื่องเพศศึกษาด้วยกัน เรื่องนี้จึงจะสำเร็จได้ โดยไม่อาจปล่อยให้เป็นภาระของสถานศึกษาเท่านั้น “ผมยืนยันว่า เพศศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในวิชาชีวิต ที่สำคัญไม่น้อยไปกว่า วิชาการ หรือวิชาอาชีพ เราต่างรู้กันดีอยู่แล้วว่า ต่อให้เป็นเลิศทางวิชาการเพียงไร หากไม่สามารถสร้างชีวิตที่ดี ที่มีสัมพันธภาพกับคู่ และกับคนรอบข้างได้ ก็ไม่มีวันที่จะมีความสุข และก็ไม่สามารถจะสร้างสังคมที่มีความสุข เป้าหมายของการศึกษา ก็คือการสร้างสังคมที่เป็นธรรม และมีความสุข” ดร.สมบัติ กล่าวว่า แม้ในภาวะที่การปฏิรูปการศึกษาไทยยังเผชิญกับปัญหาและภาวะติดขัดหลายอย่าง ซึ่งอาจสร้างความอึดอัดกับการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่ควรแก้ไขก่อน แต่เชื่อว่า ถ้าคนที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชน กับชุมชนต่างเข้าใจดีว่า การพัฒนาทักษะในชีวิตซึ่งรวมไปถึงการใช้ชีวิตทางเพศที่มีสุขภาวะนั้น มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ๆ เพราะกระทบกับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ก็ไม่ต้องรอการสั่งการจากใคร โดยจัดการตามบทบาทที่ทำอยู่ เพียงแต่ต้องกล้าที่จะเริ่มต้นหรือเดินหน้าต่อไปอย่างจริงจังมากขึ้น ในห้วงเวลานี้ที่มีภาคีองค์กรต่างๆ เข้ามาร่วมสนับสนุนทางวิชาการ ร่วมประสานงานผลักดันให้เกิดความครอบคลุม ทั่วถึง และยั่งยืนในการสร้างการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาแก่เยาวชนในสถานศึกษา และประชาชนในชุมชนอย่างเป็นระบบและมีคุณภาพควบคู่กันไปด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ