สรุปสาระสำคัญจากการสัมมนาเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทย ประจำปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 24, 2009 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--ตลท. สรุปสาระสำคัญจากการสัมมนาเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทย ประจำปี 2552 วันพุธที่ 23 ธันวาคม 2552 เวลา 9.00-17.00 น. ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวานนี้ (23 ธ.ค. 2552) สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดสัมมนาเพื่อการพัฒนาตลาดทุน ประจำปี 2552 เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยด้านตลาดทุนโดยระดมความคิดจากผู้ร่วมตลาด ใน 3 หัวข้อ ทั้งด้านธุรกิจหลักทรัพย์ การระดมทุน และการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ หวังให้ผู้ร่วมตลาดและผู้เกี่ยวข้องนำผลการวิจัยไปต่อยอดในการพัฒนาทั้งด้านการให้บริการ และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า งานสัมมนาเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทยในครั้งนี้ เป็นงานสัมมนาประจำปีของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก และกำหนดจัดเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยคุณภาพเชิงลึกของสถาบันวิจัยฯ เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนา และการสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มคุณภาพของตลาดทุนไทย ซึ่งจะช่วยยกระดับตลาดทุนไทยให้เป็นทางเลือกหลักในการออมและการระดมทุน และเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจไทย จากการนำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “มองนักลงทุนบุคคลจากพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์” โดยนางสาวศุภวรรณ ลิมปกาญจน์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ สรุปประเด็นสำคัญพบว่า นักลงทุนบุคคลรายใหญ่และรายย่อยมีพฤติกรรมแตกต่างกันมาก โดยเจ้าหน้าที่การตลาดมีบทบาทสำคัญต่อพฤติกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนบุคคลโดยเฉพาะนักลงทุนบุคคลรายใหญ่ และช่วยเพิ่มโอกาสในการทำกำไรให้แก่ธุรกรรมการซื้อขายรายวัน (Day Trading) นอกจากนี้ จากพฤติกรรมการซื้อขายของนักลงทุนปัจจุบันได้ทำให้เห็นว่าแนวโน้มการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตที่จะเติบโตเพิ่มมากขึ้นในอนาคต นายสุชาย สุทัศน์ธรรมกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้วิจารณ์บทความในหัวข้อดังกล่าว ให้ข้อคิดเห็นว่า “ปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนบุคคลไทยในการเข้ามาลงทุนในตลาดทุนได้แก่ การอำนวยความสะดวกในเรื่องของช่องทางการเข้ามาลงทุน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา การส่งเสริมการซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต ได้เพิ่มความสะดวกและลดต้นทุนในการลงทุนแก่นักลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การเข้าถึงข้อมูลของนักลงทุนถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยการเผยแพร่ข้อมูลและให้ความรู้ต่อผู้ลงทุนผ่านสถาบันตัวกลาง เป็นอีกกลไกสำคัญในการเพิ่มจำนวนนักลงทุน รวมทั้งเพิ่มคุณภาพการตัดสินใจในการลงทุนด้วย นายสุชีล นารูลา กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลายและสอดคล้องต่อความต้องการลงทุนมากขึ้น อาทิ การสนับสนุนให้มีการเสนอขายกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) หรือพันธบัตรสำหรับนักลงทุนรายบุคลล ซึ่งอาจต้องมีการแก้ไขกฎเกณฑ์ปัจจุบันให้สอดคล้อง อีกทั้งควรมีการสนับสนุนช่องทางการลงทุนผ่านสถาบันตัวกลางที่เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ให้มากขึ้น โดย บลจ.เอง ก็ต้องเพิ่มบทบาทด้านการตลาดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นกัน สำหรับผลการวิจัยเรื่อง “แนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพของการระดมทุนในตลาดรองของบริษัทจดทะเบียนไทย” นำเสนอโดยนายธีระพล ลาชโรจน์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า การระดมทุนในตลาดรองของบริษัทจดทะเบียนไทยมีปัญหาหลัก 2 ประเด็น คือ มีปริมาณต่ำกว่า และมีลักษณะของการส่งเสริมวัฏจักรเศรษกิจให้มีความผันผวนรุนแรงขึ้น (Procyclical) มากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค โดยมีสาหตุจากการลงทุนของประเทศที่ต่ำ ความกังวลในสัดส่วนความเป็นเจ้าของ และการบริหารโครงสร้างเงินทุนที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งปัญหาด้านกฎเกณฑ์ที่ส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนขาดความคล่องตัวในการระดมทุนได้ทันต่อภาวะตลาดและเงื่อนไขทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว จึงนำมาสู่ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงกฎเกณฑ์ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1) บริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรสะสมสามารถเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนในราคาที่ต่ำกว่าราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ (Par Value) ได้ 2) ปรับสัดส่วนการให้ความเห็นชอบของผู้ถือหุ้นสำหรับการอนุมัติการเพิ่มทุนเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียง และ 3) ให้บริษัทจดทะเบียนสามารถบรรจุมติเพิ่มทุนเป็นวาระปกติในที่ประชุมประจำปีและระดมทุนได้ระหว่างปีนั้นโดยไม่ต้องกลับมาขอมติจากผู้ถือหุ้นอีก (General Mandate) ทั้งนี้ การปรับปรุงกฎเกณฑ์ทั้ง 3 ประเด็นนี้ จะช่วยให้บริษัทจดทะเบียนไทยมีความคล่องตัวมากขึ้นในการใช้ตลาดหลักทรัพย์เป็นช่องทางในการระดมทุนและบริหารจัดการทางการเงินได้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งจะช่วยให้ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนไทยและเศรษฐกิจไทยเพิ่มสูงขึ้นด้วย นางสาวปรารถนา มงคลกุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ได้ให้ความเห็นว่า ปัญหาปัจจุบันที่บริษัทจดทะเบียนไม่ได้ใช้ประโยชน์จากช่องทางระดมทุนในตลาดรองเท่าที่ควร เนื่องมาจากมีการประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation) ที่ค่อนข้างต่ำ กฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรค อีกทั้งการสื่อสารกับผู้ลงทุนที่ไม่เพียงพอ ทำให้มีการซื้อขายหุ้นในอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) ที่ต่ำ บริษัทจึงขาดแรงจูงใจในการเข้ามาระดมทุนในตลาดรอง ซึ่งการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนในตลาดรอง รวมทั้ง การเผยแพร่ข้อมูล และสื่อสารกับผู้ลงทุนถึงแผนการลงทุนที่สม่ำเสมอ ครบถ้วน และทันเหตุการณ์ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยเพิ่มโอกาสและประโยชน์จากการระดมทุนแก่บริษัทจดทะเบียนไทยผ่านตลาดรองมากขึ้น นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการหัวหน้าฝ่ายวานิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด(มหาชน) ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ผลวิจัยได้นำเสนอปัญหาของการระดมทุนที่เกิดขึ้นเกิดจากปัจจัยในเรื่องกฎเกณฑ์ ของสำนักงาน ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งในอนาคตควรเพิ่มการนำเสนอมุมมองของผู้ลงทุน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาตลาดทุนในอนาคต สำหรับหัวข้อวิจัยในเรื่องสุดท้าย “บทเรียนจากการ Demutualization ตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ” นำเสนอโดย ดร.ยรรยง ไทยเจริญ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน และนางสาวอตินุช เฉลิมพงศ์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า มี 8 ประเด็นสำคัญของการปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ (Demutualization) จากการศึกษาจากบทเรียนและประสบการณ์ของตลาดหลักทรัพย์อื่น ๆ ที่ผ่านการ Demutualization หรือ IPO ได้แก่ 1 ) มีการแข่งขันในธุรกิจตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น เพราะภายหลังการ Demutualization จะจูงใจให้เกิดคู่แข่งใหม่ ๆ เข้ามาในตลาด แต่จะขึ้นอยู่กับขนาดของตลาดทุนและนโยบายของภาครัฐด้วย 2) การปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมภายหลัง Demutualization เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากหน่วยงานในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง ยังมีอำนาจควบคุมค่าธรรมเนียมของตลาดหลักทรัพย์ และธุรกิจจะมีการแข่งขันสูง ซึ่งพบว่าในบางตลาดหลักทรัพย์มีการปรับโครงสร้างโดยลดค่าธรรมเนียมที่จัดเก็บจากผู้ร่วมตลาดให้เหมาะสมขึ้น 3) การลดผลประโยชน์ที่ขัดแย้งกันของตลาดหลักทรัพย์ระหว่างการแสวงหากำไร และการกำกับตลาด มี 4 แนวทางที่ใช้ป้องกันปัญหาการกำกับดูแล คือ การวางกรอบการอภิบาลองค์กร การกำหนดบทบาทในด้านการกำกับดูแลระหว่างตลาดหลักทรัพย์และทางการที่ชัดเจน การสร้างกระบวนการตรวจสอบของทางการที่รัดกุม รวมถึงการแยกโครงสร้างอค์กรด้านการกำกับดูแลของตลาดหลักทรัพย์ออกจากส่วนธุรกิจ 4) ด้านการพัฒนาตลาดทุน พบว่าหลังการ Demutualizationในต่างประเทศยังคงมีการพัฒนาตลาดทุนและคุ้มครองผู้ลงทุนต่อเนื่อง อาทิ การจัดตั้งสถาบันเฉพาะเพื่อการพัฒนาตลาดทุน เช่น ในมาเลเซียก็มีการจัดตั้ง CMDF (Capital Market Development Fund ) เป็นต้น 5) การเป็นช่องทางให้กลุ่มผลประโยชน์หรือต่างชาติเข้าครอบงำนั้น แนวทางหลักที่ตลาดหลักทรัพย์ต่าง ๆ นิยมใช้ในการป้องกันปัญหานี้ ได้แก่ การจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นขั้นสูง และให้ภาครัฐหรือสถาบันเพื่อการพัฒนาตลาดทุนถือหุ้นใหญ่ และกำหนดเกณฑ์การควบรวมตลาดหลักทรัพย์ที่ชัดเจน 6) การ Demutualization จะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันระหว่างธุรกิจตัวกลางและเพิ่มคุณภาพตลาดทุนโดยรวม ด้วยการลดการอุดหนุนบริษัทสมาชิก และขยายสิทธิการซื้อขายไปยังกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่สมาชิก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันทั้งการออกผลิตภัณฑ์ และการให้บริการที่ตรงความต้องการของผู้ลงทุน 7) การ Demutualization จะช่วยพัฒนาคุณภาพของตลาดทุน และเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินมากขึ้น โดยร้อยละ 60 ของตลาดหลักทรัพย์ที่ผ่านการ Demutualization ไปแล้ว ให้บริการทั้งผลิตภัณฑ์การเงินขั้นพื้นฐานและตราสารอนุพันธ์ นอกจากนั้น ตลาดหลักทรัพย์ที่ทำการ Demutualization แล้วจะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) และมูลค่าการซื้อขายสูงขึ้น โดยมีผลดำเนินงานที่มีอัตราส่วนต้นทุนต่อรายได้ลดลง และมีการควบคุมต้นทุนดีขึ้น และมีสัดส่วนรายได้ต่อจำนวนพนักงาน (productivity) เพิ่มขึ้น 8) การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดหุ้นทั่วโลกจะเกิดได้ยาก หากขาดการทำการเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป(Initial Public Offering: IPO) เนื่องจาก การทำ IPO จะช่วยขจัดปัญหาเชิงโครงสร้าง และความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ระหว่างผู้ร่วมตลาด อีกทั้งทำให้สามารถวัดประสิทธิภาพได้ชัดเจน และโปร่งใส ง่ายต่อการเปรียบเทียบกับตลาดหลักทรัพย์คู่แข่ง เพราะมีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ และมีราคาหุ้นเป็นตัวแสดงมูลค่าชัดเจน นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็นว่า การปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยแก้ปัญหาการมีบทบาทที่ขัดแย้งของตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ เนื่องจากในปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ มี 2 บทบาทหลัก คือ การดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ และการพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนโดยรวม ซึ่งการแยกบทบาทการพัฒนาตลาดทุนออกมาเป็นบทบาทของสถาบันกองทุนเพื่อพัฒนาตลาดทุน (CMDF) จะช่วยขจัดปัญหาความขัดแย้งนี้ให้หมดไปได้ และจะทำให้สามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าบริการต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และทำให้ผู้ร่วมตลาดสามารถกำหนดค่าบริการของตนเองได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งยังเป็นโอกาสที่จะตอบสนองความต้องการของผู้ร่วมตลาดได้รวดเร็ว ทำให้มีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ทั้งนี้ ตลาดทุนไทยควรต้องกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการเดินไปสู่การเปิดเสรี โดยต้องสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุนก่อนและคำนึงถึงความเหมาะสมและประโยชน์ต่อประชาชนไทยด้วย นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ให้ความเห็นเกี่ยวกับผลวิจัยว่า การปฏิรูปตลาดหลักทรัพย์ฯ ถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาของตลาดทุนไทย และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากต้องการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทย โดยนอกจากจะต้องมีแผนในการปฏิรูปและกรอบเวลาที่ชัดเจนแล้ว จะต้องศึกษาว่าปัจจัยที่เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของตลาดหลักทรัพย์ต่าง ๆ มีอะไรบ้าง รวมทั้งต้องคำนึงถึงความโปร่งใสในกระบวนการ นอกจากนี้ การบริหารงานของ CMDF ควรมีความชัดเจนและมีตัววัดการดำเนินงาน ทั้งนี้ ได้เสนอแนะให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดให้มีโครงสร้างที่เป็นต้นแบบสำหรับบริษัทจดทะเบียนด้านบรรษัทภิบาลด้วย ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดผลการวิจัยและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.set.or.th/setresearch/symposium_p1.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ