ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. อยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่ง” ที่ระดับ “A-” แนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 5, 2010 10:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท อยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่ง จำกัด ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวได้รับการเพิ่มสถานะจากอันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทเนื่องจากได้รับการสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากบริษัทแม่ คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทมีสถานะเป็นบริษัทลูกเชิงกลยุทธ์ของธนาคารในธุรกิจสินเชื่อให้เช่าแบบลีสซิ่งภายใต้โครงสร้างธุรกิจธนาคารพาณิชย์แบบครบวงจร โดยอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้รับการปรับเพิ่มเป็นระดับ “AA-“ ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยทริสเรทติ้งเมื่อเดือนมีนาคม 2552 ทั้งนี้ อันดับเครดิตเฉพาะของบริษัทสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ ตลอดจนคณะผู้บริหารที่มีความสามารถและประสบการณ์ ความสามารถในการขยายสินเชื่อแม้ในภาวะที่เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย และความสามารถในการรักษาต้นทุนการดำเนินงานให้อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนจากการมีคุณภาพของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความเสี่ยงมากกว่าลูกค้าธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าที่สูงขึ้น และการเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าแนวทางธุรกิจของบริษัทจะยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกับกลยุทธ์ธุรกิจของกลุ่มธนาคารกรุงศรีอยุธยาโดยบริษัทจะยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากธนาคาร แนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าวยังคำนึงถึงความสามารถของผู้บริหารของบริษัทที่จะดำรงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักและควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ไม่ให้ด้อยกว่าระดับที่ทริสเรทติ้งคาดไว้ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะดำรงเงินสำรองสำหรับหนี้เสียในระดับที่พอเพียงตามที่ทริสเรทติ้งประมาณการณ์ไว้ด้วย ทริสเรทติ้งรายงานว่า สินเชื่อรวมของผู้ประกอบการรายใหญ่จำนวน 12 รายในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้งยังคงเติบโตในระดับต่ำ โดยสินเชื่อรวมคงค้างในปี 2551 อยู่ที่ 43,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.34% จาก 41,000 ล้านบาทในปี 2550 เปรียบเทียบกับอัตราการเพิ่มขึ้น 12.37% ในปี 2549 และ 4.14% ในปี 2550 ในบรรดาผู้ประกอบการทั้ง 12 ราย บริษัท อยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่ง มีสินเชื่อที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 โดยลดลงจากอันดับที่ 1 เมื่อปี 2550 อันเป็นผลจากการควบรวมกิจการของผู้ประกอบการสัญชาติญี่ปุ่นจำนวน 2 รายในปี 2551 กระนั้นบริษัทก็ยังสามารถเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดเป็น 17.2% ในปี 2551 จาก 14.1% ในปี 2550 ในปี 2551 บริษัทมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลรับสุทธิ (รวมรายได้สุทธิจากการให้เช่าดำเนินงาน) ที่ 278 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 22% จาก 227 ล้านบาทในปี 2550 ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของสินเชื่อรวม (รวมสินทรัพย์ให้เช่าดำเนินงานสุทธิ) ที่ระดับ 27.5% เป็น 7,394 ล้านบาทในปี 2551 จาก 5,798 ล้านบาทในปี 2550 สินเชื่อคงค้างขยายตัวอย่างต่อเนื่องเป็น 8,304 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า เป็น 190 ล้านบาทในปี 2551 จาก 80 ล้านบาทในปี 2550 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นมากในปี 2550 โดยบริษัทเพิ่มสัดส่วนเงินสำรองทั่วไปมากกว่าที่กำหนดเพื่อให้สามารถรองรับคุณภาพสินทรัพย์ที่มีโอกาสด้อยค่าลงและใช้เป็นเงินสำรองเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการตั้งสำรองเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกับของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในปี 2551 บริษัทมีค่าใช้จ่ายสำหรับการตั้งสำรองอยู่ที่ 39 ล้านบาท ลดลงจาก 81 ล้านบาทในปี 2550 สำหรับผลประกอบการใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2552 นั้น บริษัทมีกำไรสุทธิ 174 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันในปี 2551 อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สุทธิจากเงินประกันการเช่า) ต่อเงินให้สินเชื่อรวมถัวเฉลี่ย (สุทธิจากเงินประกันการเช่า) เพิ่มขึ้นเป็น 9.0% ณ สิ้นปี 2551 จาก 7.4% ณ สิ้นปี 2550 ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ที่ระดับ 4.7% มาตั้งแต่ปี 2550 ทริสเรทติ้งกล่าวว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัทอยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่ง เป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ส่งผลให้บริษัทมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากคุณภาพเครดิตของลูกค้าที่ลดลงในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้ารายใหญ่ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่บริษัทให้ความสำคัญด้วย โดยในปี 2551 อัตราส่วนสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งของลูกค้ารายใหญ่ 10 รายแรกต่อสินเชื่อเช่าซื้อและลีสซิ่งรวมอยู่ที่ 43.0% เพิ่มขึ้นจาก 34.2% ในปี 2550 และ 35.0% ในปี 2549 อัตราส่วนดังกล่าวในปี 2552 ยังคงอยู่ในระดับที่สูงแม้ว่าจะลดลงมาที่ 38.4% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ประโยชน์จากการกระจุกตัวของฐานลูกค้ารายใหญ่ในแง่การมีต้นทุนดำเนินงานในระดับต่ำ โดยในปี 2551 อัตราส่วนค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวมลดลงมาที่ 10.0% จาก 10.3% ในปี 2550 และ 12.3% ในปี 2549 ซึ่งน้อยกว่าระดับ 20%-30% ของคู่แข่ง และสำหรับช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2552 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 9.5% ธนาคารกรุงศรีอยุธยาดำเนินนโยบายการเป็นธนาคารแบบครบวงจรและกำหนดให้บริษัทอยุธยา ดีเวลลอปเม้นท์ ลีสซิ่ง เป็นหน่วยงานเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจให้เช่าระยะยาวแบบลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์มาตั้งแต่ปี 2547 ในปี 2551 บริษัทมีสถานะเป็นบริษัทลูกที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาถือหุ้น 99.99% ซึ่งส่งผลให้บริษัทดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ธุรกิจของธนาคารโดยให้บริการสินเชื่อทั้งแก่ลูกค้าของธนาคารและลูกค้าอื่นๆ การสนับสนุนทางธุรกิจและการเงินจากธนาคารช่วยยกระดับสถานะทางการตลาดในธุรกิจหลักและเพิ่มความคล่องตัวทางการเงินให้แก่บริษัท บริษัทได้พัฒนาระบบการจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมกับธุรกิจลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์อย่างต่อเนื่องซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของธนาคารกรุงศรีอยุธยาที่กำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ทริสเรทติ้งกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ