โครงการ Importer Self Assessment (ISA) ของศุลกากรสหรัฐฯ

ข่าวทั่วไป Monday February 15, 2010 17:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--คต. นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.)เปิดเผยว่า หน่วยงานศุลกากรสหรัฐฯ (U.S. Customs and Border Protection — CBP) ได้จัดทำโครงการ Importer Self Assessment (ISA) ซึ่งเป็นโครงการตามความสมัครใจที่ศุลกากรสหรัฐฯ กำหนดให้แก่ผู้นำเข้า เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยทั้ง supply chain ของสินค้าที่จะเข้าสู่สหรัฐฯ โดยเป็นโครงการต่อเนื่องกับโครงการความร่วมมือระหว่างศุลกากรสหรัฐฯกับภาคเอกชนในการต่อต้านการก่อการร้าย (Customs — Trade Partnership Against Terrorism: C-TPAT) ซึ่งปัจจุบันผู้นำเข้าสหรัฐฯรายใหญ่หลายรายได้กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยต้องเข้าร่วมโครงการ C-TPAT และ ISA ด้วย คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ ISA มีดังนี้ 1. มีประสบการณ์ในการนำเข้าสินค้าสู่สหรัฐฯไม่ต่ำกว่า 2 ปี 2. ได้รับการรับรองภายใต้โครงการ C-TPAT แล้ว ผู้นำเข้าที่เข้าร่วมโครงการ ISA จะต้องประเมินความเสี่ยงของตนเอง (self — assessment of risk) โดยการควบคุมและตรวจตราการขนส่งสินค้า ซึ่งจะมีแบบสอบถามให้ผู้ส่งออกไทยรับรองตนเอง ว่ามีการดำเนินการเพียงพอต่อการรับมือการต่อต้านการก่อการร้ายแล้วหรือไม่ ทั้งนี้ ผู้ผลิตไทยที่เข้าโครงการ C—TPAT จะต้องมีการประเมินตนเองในทุกด้าน (Comprehensive self — assessment) ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งศุลกากรสหรัฐฯจะส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบยังโรงงาน ดังนี้ 1. ต้องจัดทำบัญชีสินค้าและเครื่องหมายการนับจำนวนอย่างเหมาะสมตาม ไม่มีสินค้านอกบัญชีมาปะปน 2. อาคารคลังเก็บสินค้าต้องปลอดภัย และห้ามบุคคลภายนอกที่ไม่ได้นับอนุญาตเข้าบริเวณ 3. ระมัดระวังในการรับบุคคลเข้าทำงาน และพนักงานทุกคนต้องได้รับการอบรมในเรื่องนี้ 4. บริษัทอื่นๆที่อยู่ใน supply chain ของผู้ผลิตต้องมีการจัดการที่เสริมสร้างเชื่อมโยงกัน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่าหากผู้ผลิต ผู้ส่งออก รวมทั้งผู้ให้บริการขนส่งของไทย สามารถเข้าร่วมโครงการ ISA และ C-TPAT นี้ จะช่วยให้ศุลกากรสหรัฐฯลดการเข้าตรวจสอบสินค้าจากไทย รวมทั้งเป็นการรักษาตลาดสินค้าไทยในสหรัฐฯ ซึ่งผู้นำเข้า และผู้บริโภคในสหรัฐฯต้องการความเชื่อมั่นในความปลอดภัยจากการก่อการร้าย ซึ่งสหรัฐฯให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ