เภสัชกรโรงพยาบาลผนึกกำลังช่วยผู้ป่วยเอดส์

ข่าวทั่วไป Wednesday February 17, 2010 09:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล เภสัชกรโรงพยาบาลผนึกกำลังช่วยผู้ป่วยเอดส์ เน้นทำงานเชิงรุกอย่างเข้าถึงและเข้าใจ “ปลูกฝังพฤติกรรมการกินยาที่ดี และสร้างจิตสำนึกไม่ถ่ายทอดเชื้อต่อ” ประโยคที่ว่า “โรคเอดส์ เป็นโรคร้ายที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถหายขาดนั้น” ยังคงเป็นความจริงที่น่ากลัว และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า จำนวนผู้ป่วยโรคเอดส์สะสม ณ เดือนมกราคม 2552 มีทั้งสิ้น 345,196 ราย ปัจจุบันอัตราผู้ติดเชื้อลดลงกว่าในอดีตมาก เนื่องจากมีโครงการภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารองรับ ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยเอดส์ยังต้องเผชิญกับหลายขั้นตอนในการดูแลบำบัด เพื่อการมีชีวิตที่ยืนยาวและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ แม้ว่าโรคเอดส์ จะถูกมองว่าเป็นโรคร้ายรักษาไม่หายขาด แต่ผู้ป่วยก็สามารถมีชีวิตที่ยืนยาวและมีความสุขได้ หากผู้ป่วยดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองให้ดี ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามเวลา ออกกำลังกายให้เหมาะกับสภาพร่างกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และสิ่งเสพติดทุกชนิด ที่ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ รักษาความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีอาการเจ็บป่วย ควรรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน รวมถึงฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง และสร้างกำลังใจให้ตนเองด้วยการสวดมนต์ภาวนา ฝึกสมาธิ และหมั่นตรวจสุขภาพเป็นระยะ ภญ.ผศ.ดร.สุทธิพร ภัทรชยากุล ประธานกลุ่มเภสัชกรดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การรักษาผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ประสบผลสำเร็จและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือ การติดตามการรับประทานยาต้านไวรัสอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ (Treatment Adherence) เนื่องจากยาต้านไวรัสเอดส์ที่ใช้ในปัจจุบัน จะต้องรับประทานอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และสม่ำเสมอมากกว่า 95% จึงจะเกิดประสิทธิภาพ การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอ จะทำให้เกิดภาวะเชื้อดื้อยาอย่างรวดเร็ว เกิดโรคติดเชื้อฉวยโอกาส และต้องเปลี่ยนไปใช้ยาในสูตรที่มีราคาแพงขึ้นกว่าเดิมมาก หรือบางครั้งอาจจะไม่มีสูตรยาที่สามารถรักษาได้ และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อระบบสาธารณสุขโดยรวม คือ การแพร่กระจายเชื้อดื้อยาไปสู่ผู้อื่น ทำให้ผู้ติดเชื้อเอดส์ชนิดเชื้อดื้อยาจะไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาสูตรพื้นฐานได้ จะต้องเริ่มรักษาด้วยยาราคาแพงและอาจมีผลข้างเคียงมากขึ้น “เนื่องจากผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์จะต้องรับประทานยาต้านไวรัสไปตลอดชีวิต จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์และอาการดื้อยา ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจนำไปสู่ความล้มเหลวในการรักษาได้ ดังนั้น การดูแลและติดตามการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อลดปัญหาจากการใช้ยา จึงถือเป็นบทบาทของเภสัชกรในเชิงรุก ที่ไม่ได้จำกัดอยู่ในห้องจ่ายยาเพียงอย่างเดียว” ภญ.ผศ.ดร.สุทธิพร ภัทรชยากุล กล่าวและเสริมว่า เมื่อเร็วๆ นี้สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ได้จัดหลักสูตรการฝึกอบรมระยะสั้นการบริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ขึ้น เพื่อให้เภสัชกรโรงพยาบาลได้เพิ่มพูนทักษะและองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์ เป็นการส่งเสริมให้เภสัชกรปฏิบัติงานในเชิงรุกมากขึ้น ประกอบด้วยการอบรมภาคทฤษฎีหลักสูตรพื้นฐาน 3 วัน ซึ่งจัดเป็นปีที่ 3 มีเภสัชกรผู้ดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวีและโรคเอดส์จากทั่วประเทศเข้าร่วมการอบรมประมาณ 150 คน ต่อด้วยหลักสูตรระยะกลางในรูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการและอภิปรายกรณีศึกษาของผู้ป่วย อีก 2 วัน ที่โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพฯ นอกจากนี้ได้เพิ่มภาคปฏิบัติ ให้เภสัชกรได้ลงสถานที่ฝึกปฏิบัติจริงเพื่อศึกษาและปฏิบัติงานร่วมกับคนไข้เป็นเวลา 10 สัปดาห์ด้วย “เราเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเรียนรู้โดยตรงจากผู้ป่วย การฟังบรรยายหรือการอภิปรายแค่ 1-2 วัน คงไม่เท่ากับการได้ลงไปสัมผัสและปฏิบัติงานกับผู้ป่วยจริง เพราะองค์ความรู้ของโรคเอดส์นั้นเปลี่ยนแปลงทุกวัน ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ และเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ดังนั้น บทบาทของเภสัชกรในการเข้าถึงและเข้าใจผู้ป่วย ให้ข้อมูลคำปรึกษาเรื่องการใช้ยา รวมถึงการสร้างจิตสำนึกให้ผู้ป่วยมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยไม่ถ่ายทอดเชื้อต่อ จะช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพกายและใจที่ดี และสามารถลดงบประมาณของรัฐในการแก้ปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาได้ในอนาคต ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้เภสัชกรได้นำเอาศักยภาพของตนเองมาใช้ในการทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ เพื่อการดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ” ภญ.สุทธิพร กล่าวสรุป การดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้มีประสิทธิภาพนั้น เป็นหน้าที่ของทีมบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องทำงานประสานซึ่งกันและกันเป็นองค์รวม ซึ่งเภสัชกรถือเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีใช้ยาต้านไวรัสได้อย่างต้องถูกต้องเต็มประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีชีวิตยืนยาวขึ้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-249-9333 สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ