สช. หนุนสระบุรีใช้สมัชชาสุขภาพแก้ปัญหา “ขยะบุรี”

ข่าวทั่วไป Monday March 8, 2010 16:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 มี.ค.--สช. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หนุนสระบุรีนำกระบวนการสมัชชาสุขภาพมาใช้เพื่อร่วมกันพัฒนาข้อเสนอแก้ปัญหา “ขยะ” ทั้งนี้มติที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ในประเด็น “การจัดการขยะอันตรายจากชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” ชูนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน ย้ำต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเจ้าของพื้นที่ ช่วยพลิกปมปัญหา คลี่คลายวิกฤติด้วยมือคนในชุมชน โดยคนในชุมชน เพื่อคนในชุมชน นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า แนวทางแก้ไขของจังหวัดสระบุรี จะสร้างการรับรู้ เข้าใจ และสร้างความตระหนักแก่คนในพื้นที่ โดยเน้นการเข้ามามีส่วนร่วม ตั้งแต่กระบวนการร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมดำเนินการ และร่วมตรวจสอบติดตามผล ตลอดจนช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานร่วมกันโดยประสานกันในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “การได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างคนในชุมชน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้สัมผัสหรือเผชิญกับปัญหาโดยตรง การชี้แนะแนวทางเพื่อนำไปสู่การแก้ไขเยียวยา การติดตามความคืบหน้าของปัญหาอย่างใกล้ชิด เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ทั้งยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้คนในชุมชนได้ช่วยคิด ช่วยแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยตรง สร้างความมั่นใจให้แก่คนในพื้นที่ว่า ไม่ว่าสภาพปัญหาเลวร้ายเพียงใดก็คลี่คลายได้ด้วยความร่วมใจที่แน่วแน่จริงจังของคนในชุมชนเอง สิ่งนี้เป็นจุดเริ่มที่ทำให้เขาเหล่านั้นได้เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองโดยไม่ต้องรอคอยความช่วยเหลือเพียงด้านเดียว” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี กล่าว ด้านคุณวิสุทธิ์ สุกรินทร์ ผู้แทนเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสระบุรี ได้กล่าวถึงการจัดการขยะอันตรายจากชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนว่า เมื่อปี 2550 เทศบาลเมืองสระบุรี ได้มีโครงการก่อสร้าง “สถานีขนถ่ายขยะ” บนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในชุมชน คือ ที่ดินอยู่ในเขตเทศบาล มีเนื้อที่ 7 ไร่เศษ ทิศใต้ติดวัดเจดีย์งาม ทิศเหนือติดแม่น้ำป่าสัก ทิศตะวันตกติดถนนบายพาสสายกรุงเทพฯ - ลพบุรี และทิศตะวันออกติดถนนสาธารณะ ลักษณะตามโครงการเป็นชื่อสถานีนำหน้า แต่ชาวบ้านที่นี่ได้ขนานนามว่า “โรงงานขยะ” ซึ่งมีลักษณะเป็นโรงงานพักขยะจากรถเก็บขยะของเทศบาล ซึ่งนำมาเทรวมกัน และผ่านกระบวนการบีบอัดขยะที่เก็บจากชุมชน ให้ขยะเป็นแท่งหรือก้อน ก่อนที่จะขนถ่ายนำไปฝังกลบที่ตำบล พุแค อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี นอกจากจะมีรถขนขยะจากชุมชนของเทศบาลเมืองสระบุรีแล้ว เทศบาลเมืองสระบุรี ยังได้เปิดรับบริการบดอัดขยะ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้เคียง ปัจจุบันสังคมโดยรวมกำลังเกิดความวิตกกังวลและตั้งข้อกังขาว่า จะเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเป็น “กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเฉพาะกิจ” ซึ่งมีการคัดค้านโครงการหลายรูปแบบ หลังจากนั้นแกนนำเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดสระบุรีได้เข้าไปพูดคุย และได้รับคำแนะนำจาก นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติให้นำกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาใช้ จึงได้จัดทำโครงการสมัชชาสุขภาพจังหวัดสระบุรีว่าด้วยผลกระทบจากการก่อสร้างสถานีขนถ่ายขยะของเทศบาลเมืองสระบุรี จัดทำร่างแผนการแก้ไขปัญหาขยะในชุมชน ก่อนออกสร้างเวทีประชาพิจารณ์เพื่อการมีส่วนร่วมจาก 22 ชุมชนในเขตเทศบาล แล้วนำมาสรุปเพื่อยื่นเสนอต่อทางเทศบาลเมืองสระบุรี ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์เฉพาะกิจ ควบคู่ไปกับการเรียกร้องมาจนถึงปัจจุบันนี้ เรียกว่ากำลังเอาวิกฤติเป็นโอกาสสร้างสรรค์สิ่งดีดี เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับชุมชนอื่นๆต่อไป “การจัดกระบวนการสมัชชาสุขภาพจังหวัดสระบุรีว่าด้วยผลกระทบจากการก่อสร้างสถานีขนถ่ายขยะของเทศบาลเมืองสระบุรี” ซึ่งได้รับการสนับสนุนการดำเนินงานจาก สช. หลังจากดำเนินงานแล้วทำให้เกิดการทำงานร่วมและสิ่งดีๆ ที่สมาชิกกลุ่มอนุรักษ์เฉพาะกิจลงมือทำเอง เช่น ตั้งธนาคารขยะโดยให้ชุมชนนำขยะมาฝากขาย เป็นการออมทรัพย์อย่างหนึ่ง ตั้งกองทุนหมู่บ้านจากการทอดผ้าป่า ตั้งชมรมผู้สูงอายุ เป็นต้น จะเห็นได้ว่า เราได้พลิกวิกฤติเป็นโอกาสสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสระบุรี เพราะเราไม่อยากให้ใครเรียกจังหวัดเราว่าเป็นจังหวัด “ขยะบุรี” นี่เป็นเพียงก้าวแรกเพราะเรายังต้องดำเนินการต่อเนื่องเพราะปัญหานี้สั่งสมมานาน” คุณธนวัฒน์ สุกดิบ เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี กล่าวว่า การจัดการพื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อมนั้นจะเน้นที่การให้ความรู้กับประชาชนให้เห็นถึงพิษของขยะ โดยการสร้างองค์ความรู้ให้ป้องกันตนเอง รวมทั้งครอบครัวและชุมชน ใกล้เคียง ขณะนี้มีทั้งคนหนุนและคนต้าน ตนอยากหารือกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณะสุข ให้สร้างความรู้แก่เด็กในโรงเรียน ซึ่งสามารถทำให้เด็กเปลี่ยนแปลงแนวคิดได้ โดยยกตัวอย่างที่ประเทศญี่ปุ่น เด็ก ๆ จะแยกขยะจากโรงเรียนกลับมาที่บ้าน ซึ่งเด็กจะรับทราบโดยอัตโนมัติว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร เนื่องจากได้รับการปลูกฝังที่ดี “เราอยากให้มีตำราสอนในโรงเรียนเป็นต้นแบบแต่ก็คงยาก เพราะขาดองค์ความรู้ ความต่อเนื่อง จึงทำให้ปัญหาเหล่านี้เกิดการสะสม เมื่อมีรถขยะมารับถึงบ้านทำให้เราปัดความรับผิดชอบ เพราะมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง” สำหรับ พ.ท.ประพันธ์ วรฉัตร ประธานชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม วัดเจดีย์งาม ต.นาโฉง จ.สระบุรี เล่าว่า ที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนมาซื้อที่ดินบริเวณใกล้เคียงแหล่งชุมชน จนมารู้ในคราวหลังว่าจะทำเป็นสถานีขนถ่ายขยะทั้ง ๆ ที่อยู่ใกล้ชุมชนและใกล้แม่น้ำป่าสัก และไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ที่ถูกต้อง เมื่อสร้างสถานีเสร็จเรียบร้อยก็มีลักษณะการจัดการขยะด้วยการบีบอัดให้เป็นก้อนก่อนนำไปฝังกลบที่ ต.พุแค ไม่มีการแยกขยะที่ถูกต้อง ที่ผ่านมาชาวบ้านก็ได้พยายามคัดค้านการสร้างสถานีขยะ จนถึงขั้นฟ้องศาลปกครอง ซึ่งกำลังรอผลการพิจารณาอยู่ และในระหว่างนี้ทางชมรมฯ ก็ได้รับงบประมาณจาก สช. ไปดูงานแยกขยะที่จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งมีการคัดแยกขยะอย่างเป็นระบบ ทางชมรมจึงมีแนวทางที่จะก่อตั้งธนาคารขยะขึ้นเป็นแบบอย่างในการแยกขยะที่ถูกต้อง “ปี พ.ศ. 2551 - 2552 ทางชมรมก็เขียนโครงการคัดแยกขยะของเราเอง หลังจากที่ได้ดูงานแยกขยะที่พิษณุโลก โดยแบ่งเป็น แก้ว กระดาษ พสาสติก ที่สามารถรีไซเคิลได้ แล้วเสนอโครงการไปที่ องค์การบริหารส่วนตำบลดาวเรืองปรากฏว่า ทาง อบต. ยินดีให้ตั้งที่ทำการ ทางชมรมซึ่งมีสมาชิกกว่า 40 คนก็เริ่มตั้งกองผ้าป่า ได้เงินเป็นกองทุน 2,000 บาท และเปิดรับซื้อขยะเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้กำไรในเบื้องต้น 800 บาท ซึ่งทางชมรมฯ ก็จะดำเนินกิจกรรมเป็นตัวอย่างที่ดีต่อไป” สำหรับ คุณ พลินี เสริมสินสิริ ผู้ชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า การดำเนินกิจกรรมในพื้นที่สระบุรี ถือว่าเป็นการจุดประกายที่จะนำเอากระบวนการสมัชชาสุขภาพ ที่จัดกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีของคนไทยในระดับประเทศ ซึ่งโครงการการกำจัดขยะชุมชนก็จะถูกผลักดัน เข้าสู่การพิจารณาของ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และจะสามารถลดปริมาณขยะจากชุมชนอย่างชัดเจน จนกระทั่งนำไปสู่การผลักดันให้บริษัทเอกชน รับผิดชอบการกำจัดขยะเหล่านี้โดยรับคืนซากผลิตภัณฑ์และสนับสนุนให้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมออกจำหน่าย หรือการใช้มาตรการภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องในอนาคต หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : สุรีย์พร สื่อสกุล (ตุ้ย) บริษัท ทูเดย์ คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ฝ่ายประชาสัมพันธ์การประชุมสมัชชาฯ e-mail : todaytion@yahoo.com ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในได้เพิ่มปริมาณขยะอันตรายให้แก่ชุมชน ประมาณ ๔๑๐,๐๐๐ ตันต่อปี สาเหตุเพราะยิ่งเทคโนโลยีก้าวหน้าและมีราคาถูกลงผู้คนก็บริโภคสินค้ามากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือเศษซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๑๒ ต่อปี ซึ่งยังไม่รวมขยะอันตรายชนิดอื่นๆ ที่มีอยู่ทั่วไป อาทิ บรรจุภัณฑ์กำจัดแมลงและศัตรูพืชที่ใช้กันมากในชนบท กระป๋องสเปรย์ซึ่งใช้กันทั่วไป และทิ้งสารตกค้างในสิ่งแวดล้อมไว้มากมาย ซึ่งสิ่งที่น่าตกใจคือ การจัดการกลับเป็นไปอย่างไร้ระบบและประสิทธิภาพสวนทางกัน แม้จะมีกฎหมายและแผนยุทธศาสตร์ในการจัดการการแล้วก็ตาม แต่ปัญหานี้ไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นระบบ เนื่องจากขาดความพร้อมหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือจากประชาชนที่ตระหนักถึงอันตรายจากขยะพิษ ขยะอันตรายจากชุมชนบางประเภทมีสารอันตรายเป็นองค์ประกอบที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เช่น ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีสารโบรมีนเป็นส่วนประกอบในกล่องสายไฟ และแผงวงจรเป็นสารก่อมะเร็ง สารตะกั่วซึ่งเป็นส่วนประกอบในลวดบัดกรี แบตเตอรี่ หากเข้าสู่ร่างกายจะทำลายระบบประสาท ระบบเลือด รวมทั้งพัฒนาการของสมอง สารแคดเมียมเป็นส่วนประกอบในชิ้นส่วนพวกวัสดุกึ่งตัวนำ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเกิดอาการปอดอักเสบอย่างรุนแรง ไตวาย และเกิดโรคอิไตอิไต และสารปรอทเป็นส่วนประกอบที่อยู่ในหลอดฟลูออเรสเซนต์กับสวิทซ์ต่างๆ หากเข้าสู่ร่างกายจะทำลายระบบประสาทส่วนกลาง หรือสารประเภทอื่นๆ ที่ก่ออันตรายต่อร่างกายมนุษย์ ดังนั้นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวควรเป็นการจัดการแบบบูรณาการ ทั้งด้านการรณรงค์สร้างความรู้ความตระหนัก ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีอายุใช้งานยาวนาน ส่งเสริมการคัดแยก นำกลับมาใช้ซ้ำ การนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ รวมทั้งมีกฎหมายที่อำนวยให้เกิดกลไกในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีขีดความสามารถในการจัดการขยะอันตรายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดปริมาณขยะทั้ง ในส่วนผู้ผลิตและผู้บริโภค และเกิดการจัดการขยะที่ถูกต้อง มีประสิทธิภาพ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งจัดเมื่อวันที่ ๑๖-๑๘ ธันวาคมที่ผ่านมา มีการพิจารณาข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพที่สำคัญ 11 ประเด็น ที่ประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมีผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน เป็นตัวแทนของกลุ่มเครือข่ายทุกจังหวัดทั่วประเทศ กลุ่มเครือข่ายรัฐ กลุ่มเครือข่ายประชาชน กลุ่มเครือข่ายวิชาการ รวม 180 กลุ่มเครือข่ายได้พิจารณามติเรื่อง “การจัดการขยะอันตรายจากชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน” ดังนี้ ๑. ขอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและคณะกรรมการสาธารณสุขร่วมพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจสำหรับการจัดการขยะอันตรายจากชุมชนที่ประกอบด้วยหน่วยงานรับผิดชอบภาครัฐ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนผู้ประกอบการ ตัวแทนนักวิชาการ ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชน ตัวแทนภาคประชาสังคม ตัวแทนสื่อมวลชนและสื่อภาคประชาชนและตัวแทนชุมชน เพื่อทำหน้าที่ ๑.๑ จัดทำนโยบายด้านการจัดการขยะอันตรายจากชุมชน รวมทั้ง ส่งเสริมและควบคุมให้มีการลดปริมาณขยะอันตรายจากชุมชน เช่น การใช้หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producers Responsibility/EPR) หลักการส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน(Sustainable Consumption and Production/SCP) เป็นต้น เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ๑.๒ เชื่อมประสาน ทบทวน และขับเคลื่อนแผนและนโยบายที่เกี่ยวกับการจัดการขยะอันตรายจากชุมชนที่มีอยู่ในปัจจุบันของหน่วยงานรับผิดชอบ เช่น กรมอนามัย กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ๑.๓ ผลักดันให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง กำหนดให้ปัญหาขยะอันตรายเป็นวาระสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๑.๔ สนับสนุนกระบวนการประสานงานและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนต่างๆในทุกระดับ เพื่อจัดการปัญหาขยะอันตรายจากชุมชน ๒. ขอให้ภาคีเครือข่าย/องค์กรสมาชิกทั้งภาครัฐ ภาคองค์กรธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคมองค์กรพัฒนาเอกชน ภาควิชาการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สื่อมวลชนทุกแขนง และสื่อภาคประชาชน และชุมชน ๒.๑ ผลักดันให้มีการกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการรับคืนซากผลิตภัณฑ์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์และการกำจัดอย่างถูกต้องเหมาะสม โดยให้มีกลไกสนับสนุนการจัดซื้อคืนซากโดยทุนอุดหนุนจากเอกชนผู้ผลิต ๒.๒ รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการและพิษภัยของขยะอันตรายจากครัวเรือนหรือชุมชน ๒.๓ รณรงค์ให้ประชาชนมีการบริโภคที่พอเพียง และส่งเสริมการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สินค้าฉลากเขียว และนำหลักการ 3Rs ได้แก่ การลดปริมาณ การใช้ซ้ำ และการนำมาใช้ประโยชน์ใหม่ (รีไซเคิล) มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันที่สอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ควรมีกิจกรรมลดขยะที่หลากหลายและมีทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ