โรงงานแป้งมันมีเฮ สวทช. กระทรวงวิทย์ฯ ช่วยทั้งเงินและเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียพร้อมได้ก๊าซชีวภาพ

ข่าวเทคโนโลยี Monday August 28, 2006 14:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--สวทช.
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ไบโอเทค สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ให้การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ แก่บริษัทผลิตแป้งมันสำปะหลัง หวังขยายผลเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพสู่โรงงาน แป้งมันฯ ทั่วทั้งประเทศ ส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงาน และลดการน้ำเข้าน้ำมันเตาจากต่างประเทศมูลค่ากว่าปีละหลายล้านบาท
บ่ายวันศุกร์ที่ 25 ส.ค. 49 ดร.ประวิช รัตนเพียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในการแถลงข่าว “โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสีย และผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มสำหรับโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง” โดยมี รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้แทนจากธนาคารทั้ง 6 แห่ง คณะนักวิจัยจาก สวทช.และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และผู้แทนจากบริษัท ชลเจริญ จำกัด บริษัทมันสำปะหลังต้นแบบ ร่วมในงานแถลงข่าว ณ อาคารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โดยดร.ประวิชกล่าวว่า
“ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ในแต่ละปีจะมีวัสดุเหลือทิ้งซึ่งเหมาะสมต่อการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตเป็นพลังงานทดแทนเป็นจำนวนมาก ซึ่งน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรกว่า 10,000 โรงงานที่กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ ถือเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีศักยภาพและเหมาะสมที่จะนำมาผลิตเป็นพลังงานทดแทนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำเสียจากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง จะมีศักยภาพสูงสุดในการนำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันเตา
อย่างไรก็ตาม มีโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังที่มีระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพเพียง 30 กว่าโรงงานเท่านั้นจากกว่า 70 โรงงานทั่วประเทศ ซึ่งหากโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังที่เหลืออีกประมาณ 40 โรงงาน นำน้ำเสียมาผลิตก๊าซชีวภาพจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ถึงประมาณ 230 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่าน้ำมันเตากว่า 115 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งจะช่วยให้ประเทศลดการนำเข้าน้ำมันเตาได้กว่า 1,600 ล้านบาท ต่อปี (ราคาน้ำมันเตาลิตรละ 14 บาท)”
ดร.ประวิชฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ระบบเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นเทคโนโลยีที่นักวิทยาศาสตร์และวิศวกรทั้งจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ โดย ไบโอเทค สวทช. และจากมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันศึกษาวิจัยและพัฒนามากว่า 20 ปี ซึ่งปัจจุบันยังคงมีการพัฒนาการวิจัยและต่อยอดเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมการเกษตรมาแล้วหลายราย ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมสามารถมั่นใจได้ในประสิทธิภาพของเทคโนโลยีนี้ แต่อย่างไรก็ดี ในเรื่องของเงินลงทุนในการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลังขนาดประมาณ 200 ตันแป้งต่อวันนั้น จะต้องใช้ค่าก่อสร้างระบบประมาณโรงงานละ 45 — 50 ล้านบาท ทำให้โรงงานหลายแห่งยังไม่พร้อมที่จะลงทุนเองทั้งหมด กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง ทำโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีดังกล่าว โดยโรงงานสามารถขอเข้าร่วมโครงการ และจะได้รับประโยชน์ในการขอกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และมีการคืนทุนเร็ว ทั้งยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันเตา และช่วยให้ประเทศไทยลดการนำน้ำมันจากต่างประเทศตามนโยบายของรัฐด้วย”
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการ สวทช. ได้กล่าวถึงการให้การสนับสนุนโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจาก สวทช. ว่า “สวทช. โดยโครงการการสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมภาคเอกชน (CD) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ได้ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ 6 แห่งได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารยูไนเต็ดโอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินการโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียและผลิตก๊าซชีวภาพแบบตรึงฟิล์มในโรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวนับเป็นการช่วยเหลือแบบครบวงจร คือ ช่วยเหลือทั้งในด้านของเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญจาก สวทช. และสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่โรงงาน”
ด้านความร่วมมือระหว่างธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่ง และ สวทช.ในเรื่องการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ คุณวีระศักดิ์ สุตัณฑวิบูลย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้แทนจากธนาคารพาณิชย์ เปิดเผยว่า “ธนาคารทั้ง 6 แห่ง และ สวทช.ได้มีความร่วมมือกันมายาวนานในเรื่องการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่เอกชนไทยในการพัฒนาเทคโนโลยี โดยได้ร่วมกันอนุมัติเงินกู้ให้แก่เอกชนไปแล้วจำนวน 138 โครงการ มูลค่ารวมของโครงการ 3,300 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินที่อนุมัติ 1,740 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ ได้มีการให้เงินกู้แก่โรงงานแป้งมันสำปะหลัง 3 โรงงาน เพื่อเป็นโครงการนำร่องในการนำเทคโนโลยีตรึงฟิล์มไปใช้ ฉะนั้น โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อโรงงานแป้งมันสำปะหลัง และประเทศชาติ ทั้งในเรื่องการแก้ไขปัญหามลภาวะน้ำเสียและกลิ่นและการลดต้นทุนด้านพลังงาน โดยโครงการดังกล่าว จะให้การสนับสนุนเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นพิเศษ อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-4 ต่อปี เป็นระยะเวลา 4 — 6 ปี และมีระยะเวลาปลอดเงินต้นในช่วง 1 ปีแรก”
อนึ่ง โครงการสนับสนุนการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมภาคเอกชน หรือ Company Directed Technology Development Program (CD) เป็นโครงการภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สวทช. ที่ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่เอกชนในภาคอุตสาหกรรม การผลิตเพื่อการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา เพื่อใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตตามความต้องการของบริษัท สามารถดูรายละเอียดของ CD เพิ่มเติมได้ที่ www.tmc.nstda.or.th/cd

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ