ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิชุดใหม่ “ธ. ธนชาต” ที่ระดับ “A”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 19, 2010 08:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาทของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังประกาศยืนยันอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A+” พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคารที่ระดับ “A” และ “A-” ตามลำดับ โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังเป็น “Positive” หรือ “บวก” อันดับเครดิตองค์กรระดับ “A” และอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิระดับ “A-” สะท้อนสถานะทางธุรกิจของธนาคารที่มีความแข็งแกร่งสืบเนื่องจากความสามารถและประสบการณ์ของผู้บริหารในธุรกิจหลักคือสินเชื่อเช่าซื้อ รวมทั้งจากเครือข่ายธุรกิจที่ขยายตัว และโครงสร้างธุรกิจที่เหมาะสมสอดคล้องต่อการเสริมความแข็งแกร่งให้แก่การผสานธุรกิจในกลุ่มธนชาต อันดับเครดิตยังได้รับแรงหนุนจากสถานะเครดิตที่เข้มแข็งของผู้ถือหุ้นเชิงกลยุทธ์คือ Bank of Nova Scotia (BNS) จากประเทศแคนาดาซึ่งถือหุ้นธนาคารในสัดส่วน 48.99% ด้วย นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงความคาดหมายว่าฐานะทางธุรกิจของธนาคารจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้นหลังการรวมพอร์ตสินเชื่อและฐานเงินฝากของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาอยู่ในกลุ่มธนชาต อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศและการเปลี่ยนแปลงภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนความไม่แน่นอนของธุรกิจหลักทรัพย์ และความเสี่ยงระหว่างการควบรวมกิจการของธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารธนชาต ซึ่งอาจจำกัดการขยายธุรกิจและการทำกำไรของกลุ่มธนชาตในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า อันดับเครดิต “A-” สำหรับหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของธนาคาร (TBANK197A และ TBANK247A) สะท้อนถึงความด้อยสิทธิและความเสี่ยงต่อการเลื่อนชำระดอกเบี้ยสำหรับหุ้นกู้ดังกล่าว โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้จะครบกำหนดในปี 2562 และ 2567 นอกจากนี้ ยังสะสมผลตอบแทน มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และสามารถไถ่ถอนก่อนกำหนดทั้งจำนวนโดยธนาคารได้หลังจาก 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสาร และอยู่ภายใต้ความเห็นชอบจากธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิประเภทนี้จะได้รับการชำระเงินในลำดับถัดจากผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร โดยธนาคารไม่ต้องมีภาระผูกพันในการจ่ายหนี้ใดใดสำหรับหุ้นกู้ประเภทนี้ในกรณีที่ธนาคารมีผลประกอบการขาดทุนในระยะเวลา 6 เดือนซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ธนาคารต้องจ่ายชำระดอกเบี้ย และธนาคารไม่สามารถจ่ายเงินปันผลในช่วงดังกล่าวหรือในช่วง 6 เดือนข้างหน้าได้ อย่างไรก็ตาม จำนวนดอกเบี้ยที่จ่ายคืนจะเป็นจำนวนยอดสะสม แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนบทบาทของธนาคารในการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจด้านการเงินและธนาคารพาณิชย์ที่สำคัญของกลุ่มธนชาต และยังสะท้อนถึงความคาดหมายว่าฐานะทางการตลาดในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของธนาคารภายใต้การควบรวมกิจการจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยโครงสร้างสินเชื่อและฐานเงินฝากของธนาคารจะมีการกระจายตัวมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานทุนของธนาคารที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตามแผนการเพิ่มทุนเพื่อเตรียมซื้อหุ้นเต็ม 100% ของธนาคารนครหลวงไทย ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 ธนาคารธนชาตมีสัดส่วนการถือหุ้นโดย บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) 50.92% และโดย BNS 48.99% จากประมาณการต้นทุนจำนวน 68.7 พันล้านบาทในการซื้อหุ้นของธนาคารนครหลวงไทยเต็ม 100% นั้น ธนาคารจะใช้แหล่งเงินทุนจำนวน 35.8 พันล้านบาทจากการเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นจากผู้ถือหุ้น 2 รายคือบริษัททุนธนชาตและ BNS และเงินจำนวน 7.1 พันล้านบาทและ 6 พันล้านบาทจากการออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ตามลำดับ โดยส่วนที่เหลือจะใช้เงินสดในมือ ณ เดือนธันวาคม 2552 ขนาดสินทรัพย์ตามงบการเงินรวมของธนาคารธนชาตมีจำนวน 433 พันล้านบาท ในขณะที่ธนาคารนครหลวงไทยมีจำนวน 424 ล้านบาท ภายหลังการควบรวมกิจการแล้ว ธนาคารธนชาตจะมีขนาดสินทรัพย์ในลำดับที่ 5 (จากเดิมในลำดับที่ 8) ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ (Universal Bank) ของไทยทั้ง 14 แห่ง ธนาคารยังได้รับประโยชน์จากการผสานธุรกิจกับธนาคารนครหลวงไทยเนื่องจากธนาคารทั้งสองต่างมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างกัน โดยประมาณ 80% ของสินเชื่อของธนาคารธนชาตเป็นสินเชื่อเพื่อการบริโภค และเพียง 20% เป็นสินเชื่อธุรกิจ ในขณะที่ 67% ของสินเชื่อของธนาคารนครหลวงไทยเป็นสินเชื่อธุรกิจ หลังจากการควบรวมกิจการแล้ว ธนาคารจะมีการผสมผสานของสินเชื่อที่ดียิ่งขึ้นระหว่างสินเชื่อเพื่อการบริโภคและสินเชื่อธุรกิจในสัดส่วน 60% และ 40% ตามลำดับ สำหรับในด้านของหนี้สินนั้น คาดว่าฐานเงินฝากที่คงที่และกระจายตัวจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ฐานเงินทุนของธนาคารธนชาตในอนาคต อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งจะติดตามความคืบหน้าในการควบรวมกิจการในช่วง 1 ปีครึ่งข้างหน้าอย่างใกล้ชิดต่อไป ณ เดือนธันวาคม 2552 ธนาคารมีมูลค่าสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับจากงบการเงินรวมจำนวนทั้งสิ้น 286 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.4% จาก 276 พันล้านบาท ณ เดือนธันวาคม 2551 โดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มีสัดส่วน 74% (210 พันล้านบาท) ของสินเชื่อรวม ความสามารถในการทำกำไรของธนาคารปรับตัวดีขึ้นในปี 2552 โดยมีผลกำไรสุทธิ 4,056 ล้านบาทซึ่งมากกว่าจำนวน 1,870 ล้านบาทในปี 2551 ถึง 2 เท่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยปรับตัวดีขึ้นจาก 3.1% ในปี 2551 เป็น 3.5% ในปี 2552 ทั้งนี้ ธนาคารมีฐานรายได้ที่กระจายตัวเพิ่มขึ้น โดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยคิดเป็นสัดส่วน 20% ของรายได้ทั้งหมด (เพิ่มขึ้นจาก 19% ในปี 2551) ซึ่งเป็นผลมาจากรายได้สุทธิจากธุรกิจประกันชีวิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยและต่อส่วนของผู้ถือหุ้นรวมถัวเฉลี่ยในปี 2552 อยู่ในระดับ 1.0% และ 16.5% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 0.6% และ 8.8% ในปี 2551 ตามลำดับ ในส่วนของโครงสร้างเงินทุนนั้น ธนาคารสามารถขยายขนาดของเงินฝากออมทรัพย์ได้อย่างมีนัยสำคัญโดยมีฐานลูกค้าเงินฝากรายย่อยที่กระจายตัวมากขึ้น ซึ่งเงินฝากออมทรัพย์จัดเป็นแหล่งเงินทุนที่มีเสถียรภาพและต้นทุนต่ำสำหรับธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ ณ เดือนธันวาคม 2552 เงินฝากของธนาคารลดลงเล็กน้อยประมาณ 1.4% จากปี 2551 เนื่องจากธนาคารนำฐานเงินฝากบางส่วนไปลงทุนในรูปของตั๋วแลกเงินระยะสั้นแทน จากยอดเงินฝากรวมทั้งสิ้น 266 พันล้านบาทเป็นเงินฝากออมทรัพย์ในสัดส่วน 31% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 27% ในปี 2551 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารตามเกณฑ์ Basel II เพิ่มขึ้นจาก 11.18% ในปี 2551 เป็น 14.10% ในปี 2552 เนื่องมาจากการเติบโตของรายได้จากการดำเนินงานของธนาคารและเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่แข็งแกร่งขึ้นหลังจากธนาคารออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 มูลค่า 5 พันล้านบาทในเดือนกรกฎาคม 2552 ทั้งนี้ เงินกองทุนของธนาคารจะมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้นหลังจากธนาคารเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิในวงเงินไม่เกิน 6 พันล้านบาท รวมทั้งมีเงินเพิ่มทุนใหม่อีกจำนวน 35.8 พันล้านบาท และออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 อีก 7.1 พันล้านบาทในเดือนเมษายน 2553 อัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (หนี้จัดชั้นค้างชำระเกิน 3 เดือน และยอดคงค้างสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้รวมสินทรัพย์รอการขาย) ต่อเงินกองทุนและสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารอยู่ในระดับเพียง 0.3 เท่าในช่วงปี 2550-2552 ซึ่งดีกว่าค่าเฉลี่ยที่ระดับ 0.8 เท่าของธนาคารเต็มรูปแบบทั้ง 12 แห่ง อัตราส่วนดังกล่าวช่วยให้ธนาคารมีเงินสำรองเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงในการดำเนินงานที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจ ทริสเรทติ้งกล่าว ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) (TBANK) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A+ อันดับเครดิตตราสารหนี้: TBANK155A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 คงเดิมที่ A TBANK194A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A TBANK197A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ในวงเงินไม่เกิน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 คงเดิมที่ A- TBANK247A: หุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ในวงเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2567 คงเดิมที่ A- หุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive (บวก)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ