EcoDesign ปี 3 ขยายเวลารับสมัครผลงาน ถึง 31 พฤษภาคม ศกนี้ เปิดเวทีประชันไอเดีย สร้างความตระหนัก รักสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Wednesday May 12, 2010 17:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--สวทช. จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สำหรับโครงการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจ หรือ EcoDesign 2010 ซึ่งเครือข่ายการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ ภายใต้การดูแลของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และการสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐและเอกชนต่างๆ โดยในปีนี้ ชูแนวคิดหลักเพื่อเสริมสร้างความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม เน้นการออกแบบที่ครบวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และรวมไปถึงบริการ ที่สามารถตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการออกแบบ จนถึงการจัดการซากเมื่อหมดอายุ ด้วยการคำนวณหา Carbon Footprint ซึ่งการประกวดในปีนี้ได้ขยายเวลารับสมัครผลงานของกลุ่มนิสิต นักศึกษา ประชาชนทั่วไป ตั้งแต่วันนี้จนถึง วันที่ 31 พฤษภาคม 2553 Carbon Footprint คือ ปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ ก๊าซเรือนกระจก อื่นๆ อาทิ ก๊าซมีเทน ก๊าซหัวเราะ เป็นต้น ที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือบริการ (ตามข้อกำหนด ISO 14040) ซึ่งมีแหล่งกำเนิดของก๊าซมาจากกิจกรรมต่างๆ อาทิ การใช้ไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล กระบวนการในภาคอุตสาหกรรม กสิกรรม เป็นต้น ซึ่ง Carbon Footprint จะเป็นตัววัดผลกระทบของผลิตภัณฑ์และบริการจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเชิงปริมาณ โดยบ่งชี้ให้เห็นถึงโอกาสในการเกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential, GWP) ซึ่งสามารถคำนวณ/ วัดจากการใช้หลักการการประเมินวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) ซึ่งเป็นหลักการตามมาตรฐานสากล ISO 14040, 14044 ที่ใช้สำหรับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ดร.กิตตินันท์ อันนานนท์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (XCEP) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า ในการประกวดครั้งนี้มีการดำเนินการเพื่อตรวจวัด Carbon Footprint ของการจัดงานด้วย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นการประมาณ Carbon Footprint ที่จะเกิดขึ้นจากการจัดงาน โดยดูจากปริมาณการใช้กระดาษ การใช้ไฟฟ้า การเดินทาง และอื่นๆ จากการคำนวณโดยใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่คาดว่าหากจัดงานแบบทั่วไปจะทำให้เกิดปริมาณ CO2 ประมาณ 110,000 กิโลกรัม แต่หากมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่น การใช้ระบบไอทีเพื่อลดการเดินทาง เข้ามาช่วย จะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเหลือประมาณ 44,000 กก. ในส่วนที่สองจะทำการเก็บบันทึก Carbon Footprint ที่เกิดขึ้นจริงในการจัดงานครั้งนี้ โดยจะรวบรวมข้อมูลต่างๆ ทั้งในส่วนของการใช้แอร์ การใช้ไฟฟ้า กระดาษ การเดินทาง ฯลฯ และนำมาประมวลผลจากฐานข้อมูลปริมาณคาร์บอนจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด การนำเสนอผลงานในปีนี้ ดร. กิตตินันท์ กล่าวเสริมว่า ผู้ที่ส่งผลงานเข้าประกวดทุกทีมจะได้ทำการประมาณการ Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ของตัวเอง โดยจะเป็นการคิดตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการ สิ่งที่ได้จะบ่งชี้ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นโดยใช้ของเดิมเป็นฐานในการเปรียบเทียบ โครงการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจ หรือ EcoDesign 2010 ปีที่ 3 นี้ จึงนับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จะเป็นสะพานนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเกณฑ์การตัดสินจะมุ่งเน้นไปที่ผลงาน ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก โดยแบ่งออกเป็น การตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากกว่า 50% ส่วนที่เหลือจะดูในเรื่องของความสวยงามและฟังก์ชั่นการใช้งาน ดังนั้นจึงอยากฝากให้ทุกคนร่วมส่งผลงานเข้ามาประกวดกันมาก ๆ เพราะการประกวดครั้งนี้ไม่ใช่เวทีการแข่งขันเพื่อชัยชนะเท่านั้น หากแต่เป็นเวทีของการมีส่วนร่วมทางความคิดที่จะช่วยกันหา Solution หรือทางเลือกในการรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาโลกร่วมกันอีกด้วย และทางผู้จัดยังได้เน้นถึงการส่งเสริมต่อยอดความคิดที่เกิดขึ้นเพื่อให้เกิดเป็น ผลิตภัณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และจะสนับสนุนให้มีการส่งไปประกวดหรือขอรับรองมาตรฐานในระดับนานาชาติอีกด้วย ดร.กิตตินันท์ กล่าวทิ้งท้าย “เอ็มเทค” จึงขอเชิญชวนคนรุ่นใหม่และกลุ่มธุรกิจ ร่วมผนึกไอเดียสร้างสรรค์ พร้อมส่งผลงานเข้าประกวดภายใต้แนวคิด ”ลดโลกร้อนด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 พฤษภาคม 2553 เพื่อชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล และงบประมาณสนับสนุนการจัดทำผลงานรวมมูลค่ากว่า 700,000 บาท ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.mtec.or.th/EcoDesign2010

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ