จากประกันสังคม ... สู่ผู้ประกันตน

ข่าวทั่วไป Friday March 9, 2007 12:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มี.ค.--สปส.
การลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยของเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และคณะผู้บริหารไม่ใช่การจัดฉากหรือสร้างภาพ หากแต่เป็นการเยี่ยมเพื่อปลอบขวัญให้กำลังใจ รวมถึงถามไถ่สารทุกข์สุกดิบที่เกี่ยวข้องกับบริการทางการแพทย์
หาใช่มิติใหม่แต่อย่างใด ... แต่เป็นน้ำใจจากผู้บริหารจะช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอบอุ่นใจและมีความรู้สึก ที่ดีต่อระบบประกันสังคม ถือเป็นการทำงานเชิงรุกของ สปส.เพื่อที่จะปรับปรุงพัฒนาการให้บริการ ทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนอย่างมีประสิทธิภาพ
ในแต่ละปีพบว่าจำนวนผู้ประกันตนใช้สิทธิกรณีเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น เฉพาะปี 2549 มีผู้ประกันตนใช้สิทธิ รวม 21,293,811 ครั้ง เม็ดเงินที่สั่งจ่าย 16,001.08 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี ’48 จำนวน 1,552.24 ล้านบาท ผู้ใช้สิทธิที่มีปริมาณมากเช่นนี้อาจทำให้การบริการตกหล่นไปบ้าง แต่ด้วยภารกิจของ สปส.ที่ต้องดูแลสมาชิกให้ได้รับความพึงพอใจเมื่อเข้ามาใช้บริการ การเยี่ยมผู้ป่วยประกันสังคมที่โรงพยาบาลเป็นอีกหนึ่งโครงการในการดูแลผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
ในเดือนกุมภาพันธ์ - ต้นเดือนมีนาคม’ 50 ที่ผ่านมา นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ไปเยี่ยมผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยและนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ตามโครงการงานประกันสังคมเคลื่อนที่ถึง 3 ครั้ง คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลเลิดสิน และวิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล กล่าวว่า
‘การมาเยี่ยมผู้ประกันตนแต่ละครั้งนั้น เป็นการมาดูและรับฟังข้อคิดเห็นของผู้ประกันตนให้รู้ว่าสุขหรือทุกข์อย่างไร รวมถึงเยี่ยมบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลว่ามีปัญหาอะไรบ้างเพื่อร่วมกันแก้ไขและนำไปปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น จากการตรวจเยี่ยมประทับใจในการให้บริการของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง โรงพยาบาลรัฐมีภาระหนักคนไข้มาก แต่ทั้ง 3 โรงพยาบาลให้การดูแลผู้ป่วยประกันสังคมอย่างดีและทั่วถึง เป็นระเบียบ สะอาด แบ่งโซนการรักษาเฉพาะเพื่ออำนวยความสะดวกไม่ใช่เพราะเป็นคนไข้ชั้น 2 รักษาฟรี ’
ในขณะที่ผู้บริหารโรงพยาบาลกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ยินดีที่ผู้บริหาร สปส.มาดูแลและนำเอาปัญหาไปปรับปรุงเพื่อดูแลผู้ประกันตนให้ดียิ่งขึ้น การเป็นโรงพยาบาลของรัฐไม่หวังผลประโยชน์ มุ่งให้การรักษาโดยไม่คำนึงถึงต้นทุน ตลอดจนให้การดูแลอย่างดีไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการหนักหรือเบาโดยเท่าเทียมกัน พร้อม ๆ กับสะท้อนปัญหาให้ สปส.รับรู้ คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคไต ฯลฯ ทุกโรคล้วนมีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูงโรงพยาบาลต้องรับภาระหนัก ซึ่งสปส.จะหาทางช่วยเหลือต่อไป
นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า ตามที่ สปส.ได้ปรับเกณฑ์การจ่ายค่าคลอดบุตรใหม่ให้กับผู้ประกันตน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.’50 เป็นต้นมา คือเหมาจ่ายโดยตรงกับผู้ประกันตนในอัตรา 12,000 บาท ต่อการคลอด1 ครั้ง โดยสามารถไปขอรับบริการคลอดที่รพ.ใดก็ได้ตามสะดวกโดยสำรองจ่ายก่อนแล้วมาเบิกคืนภายหลังกับ สปส.
ทุกแห่งทั่วประเทศ
เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตนที่มาใช้สิทธิคลอดบุตร สปส.ร่วมกับวชิรพยาบาล จ่ายเงินสดค่าคลอดบุตร จำนวน 12,000 บาทให้กับผู้ประกันตนทันทีที่คลอดที่วชิรพยาบาล เมื่อผู้ประกันตนได้รับสูติบัตรของบุตรแล้ว การให้บริการของ สปส.ดังกล่าวผู้ประกันตนไม่ต้องยื่นเรื่องขอเบิกเงินคืนจาก สปส.ภายหลัง ซึ่งจะเริ่มวันที่ 12 มี.ค.’50 นี้ เรียกได้ว่า คลอดที่วชิรพยาบาลปลอดภัย ไร้กังวลและรับเงินสดกลับบ้านทันที
โครงการประกันสังคมเคลื่อนที่สู่สถานพยาบาลนี้ สปส.จะดำเนินการตลอดทั้งปี ’50 และในแผนงานจะมีการเชิญคณะกรรมการการแพทย์ รวมทั้งตัวแทนของโรงพยาบาลภาครัฐและเอกชนมาร่วมประชุมเพื่อปรับมาตรฐานการบริการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจะจัดให้มีการประเมินผลทุกครั้ง ทั้งในส่วนของผู้ป่วยและโรงพยาบาล จะช่วยให้ผู้ประกันตนมีทัศนคติที่ดีต่อ สปส.และเกิดความมั่นใจในการใช้บริการทางการแพทย์ในระบบประกันสังคมมากขึ้น ปัจจุบันมีสถานพยาบาลประกันสังคมทั้งรัฐบาลและเอกชน จำนวน 266 แห่ง และสถานพยาบาลเครือข่ายอีก 2,530 แห่ง
การเยี่ยมผู้ประกันตนแต่ละครั้งไม่เพียงพูดคุยเท่านั้น แต่ลงลึกซักถามอาการให้ความสนใจ ให้กำลังใจ รวมถึงความประทับใจเมื่อเข้ารับบริการทางการแพทย์จากโรงพยาบาล ซึ่งผู้ประกันตนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ’โรงพยาบาลให้บริการดี รอไม่นาน’ จะอย่างไรก็ตาม สปส.มุ่งให้บริการที่รวดเร็วประทับใจและพัฒนาประสิทธิภาพให้สูงขึ้น
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี ’50 สปส.ได้ปรับสิทธิประโยชน์หลายรายการ เช่น คลอดบุตร ทำฟัน และการได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ให้กับผู้ประกันตนที่ติดเชื้อ HIV และผู้ประกันตนที่เป็นโรคเอดส์ อีกทั้งในขณะนี้ได้มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ สปส.ขยายความคุ้มครองไปยังผู้ป่วยจิตเวชด้วย ในกรณีโรคจิต (ยกเว้นการรักษาเฉียบพลันใน 15 วัน) เป็นกรณีที่สิทธิกรณีเจ็บป่วยของ สปส.ได้ยกเว้นไว้ตั้งแต่ต้น แต่มีนโยบายในการเพิ่มความคุ้มครองให้ในอนาคต คงต้องรอผลการศึกษาวิจัยและหาทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซึ่ง สปส.ต้องคิดและพิจารณาให้รอบคอบ เมื่อเป็นความจำเป็นของผู้ประกันตนที่ต้องใช้ยาหรือเมื่อรับยาอย่างต่อเนื่องแล้ว สามารถทำงานได้อยู่ในสังคมได้ตามปกติ เป็นเรื่องที่ สปส.จะต้องช่วยเหลือแต่ต้องขอเวลาเพื่อศึกษาวิจัยและเลือกแนวทางที่ดีที่สุดก่อน ในส่วนของลูกจ้าง/ผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยหรือประสบอันตรายโดยฉับพลัน เช่น จากเหตุเพลิงไหม้ ระเบิดในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ สปส.จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลตลอดจนรับผิดชอบค่ารักษาจนสิ้นสุดการรักษา
เม็ดเงินที่ถูกหักสมทบเข้ากองทุน5% นั้นกลับคืนสู่ผู้ประกันตนทั้งในรูปเงินออม เงินช่วยเหลือบุตรและให้การรักษายามเจ็บป่วยไม่ว่าโรคทั่วไปหรือโรคร้ายแรง สถานพยาบาลประกันสังคมให้บริการทางแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษา ไม่จำกัดจำนวนครั้งและจำนวนเงินที่ใช้ในการรักษา หากแต่ ... ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ
ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม /www.sso.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ