มอบหมายให้สั่งและดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณางดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม บางกรณี

ข่าวกฏหมายและประกาศ Thursday May 6, 2004 13:55 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

                                 คำสั่งกรมสรรพากร 
ที่ ท.ป.140 /2547
เรื่อง
มอบหมายให้สั่งและดำเนินการเกี่ยวกับการพิจารณา
งดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม บางกรณี
_________________________
เพื่อให้การสั่งงดเบี้ยปรับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม บางกรณี เป็นไปโดยสะดวกและรวดเร็ว อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 38(7) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 มาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร ข้อ 11 และข้อ 13 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 และข้อ 2(4) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 121/2545 เรื่อง มอบหมายให้สั่งและดำเนินการเกี่ยวกับ การพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ลงวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2545 อธิบดีกรมสรรพากรจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 มอบหมายให้สรรพากรพื้นที่ สำหรับเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น สั่งงด เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่จำกัดจำนวนเบี้ยปรับทั้งนี้ เฉพาะในกรณีบุคคลที่จะต้องเสียเบี้ยปรับได้กระทำความผิด ดังนี้
(1) ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) โดยเข้าใจว่าได้จดทะเบียนแล้ว
(2) ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่เข้าใจว่าต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะและได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ (ภ.ธ.40) ไปแล้ว
(3) กรอกแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยนำยอดขายหรือยอดซื้อของสถานประกอบการสาขามารวมคำนวณกับสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ โดยยังไม่ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีรวมกัน
(4) ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มรวมที่สำนักงานใหญ่แล้วแต่ยังกรอกแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม แยกยื่นเป็นรายสถานประกอบการ
(5) นำภาษีซื้อมาใช้หักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนเดือนที่ระบุในใบกำกับภาษีในกรณี
(ก) นำภาษีซื้อตามใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้หักจากภาษีขายในเดือนที่มีการนำเข้า ไม่ตรงตามเดือนภาษีที่ความรับผิดเกิดขึ้น
(ข) นำภาษีซื้อตามใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ในการชำระภาษีตามแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) มาใช้หักจากภาษีขายในเดือนที่มีการส่งเงินไป ต่างประเทศ
ข้อ 2 มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบภาษีกลาง สำหรับเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ตามที่กรมสรรพากรกำหนด และสรรพากรภาค สำหรับเขตท้องที่สำนักงานสรรพากรภาคนั้น สั่งงดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับคำร้องที่มีจำนวนเบี้ยปรับเต็มอัตราตามกฎหมายไม่เกิน 5,000,000 บาท ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีบุคคลที่จะต้องเสียเบี้ยปรับได้กระทำความผิด ดังนี้
(1) ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากเข้าใจว่าเป็นกิจการที่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา
(2) ไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากไม่ทราบว่าเมื่อรายรับเกิน 1,200,000 บาท ต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา
(3) นำภาษีซื้อที่เกิดจากการก่อสร้างอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อใช้หรือจะ ใช้ในกิจการหลักประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ต่อมาได้ขายหรือให้เช่าหรือนำไปใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในสามปีนับแต่เดือนที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์
(4) การกระทำความผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ในกรณี
(ก) มิได้เฉลี่ยภาษีซื้อหรือเฉลี่ยภาษีซื้อไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 29) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเฉลี่ยภาษีซื้อตามมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากรลงวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2535
(ข) นำภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อทรัพย์สินเพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือนำภาษีที่เกิดจากรายจ่ายของกิจการประเภทที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ค) นำภาษีซื้อตามมาตรา 82/5(2) ถึง (4) แห่งประมวลรัษฎากร มาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ง) ออกใบเพิ่มหนี้และนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเพิ่มหนี้ไปหักออกจากภาษีซื้อแทนที่จะนำไปรวมเป็นภาษีขาย ทำให้ภาษีขายแจ้งขาด
(จ) ได้รับใบลดหนี้และนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบลดหนี้ไปรวมเป็นภาษีขาย แทนที่จะนำไปหักออกจากภาษีซื้อ ทำให้ภาษีซื้อแจ้งเกิน
ข้อ 3 การพิจารณาคำร้องของดเบี้ยปรับตามข้อ 2 ให้กระทำโดยคณะกรรมการพิจารณาการงดเบี้ยปรับแล้วเสนอมติต่อผู้ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อพิจารณาสั่งการ
ข้อ 4 คณะกรรมการพิจารณาการงดเบี้ยปรับ สำหรับสำนักตรวจสอบภาษีกลางประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติราชการ ณ สำนักตรวจสอบภาษีกลาง ในตำแหน่งต่อไปนี้
4.1 นักวิชาการภาษี 9 ชช. (ประธานกรรมการ)
4.2 ผู้อำนวยการส่วนตรวจสอบภาษี (กรรมการ)
4.3 ผู้อำนวยการส่วนสอบยันกลาง (กรรมการ)
ข้อ 5 คณะกรรมการพิจารณาการงดเบี้ยปรับ สำหรับสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติราชการ ณ สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ในตำแหน่งต่อไปนี้
5.1 นิติกร 9 ชช. (ประธานกรรมการ)
5.2 ผู้อำนวยการส่วนกฎหมาย (กรรมการ)
5.3 ผู้อำนวยการส่วนวางแผนและประเมินผล (กรรมการ)
ข้อ 6 คณะกรรมการพิจารณาการงดเบี้ยปรับ สำหรับสำนักงานสรรพากรภาค ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติราชการ ณ สำนักงานสรรพากรภาคนั้น ในตำแหน่งต่อไปนี้
6.1 นักวิชาการภาษี 9 ชช. ซึ่งกำกับดูแลสายงานกฎหมาย (ประธานกรรมการ)
6.2 ผู้อำนวยการส่วนกฎหมายและเร่งรัดภาษีอากรค้าง (กรรมการ)
6.3 ผู้อำนวยการส่วนวางแผนและประเมินผล (กรรมการ)
ข้อ 7 การสั่งงดเบี้ยปรับตามข้อ 1 สำหรับคำร้องที่เบี้ยปรับเต็มอัตราตามกฎหมาย มีจำนวนเกิน 1,000,000 บาท ให้สำนักงานสรรพากรพื้นที่รายงานผลการพิจารณาให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบ ตามแบบที่กำหนดพร้อมแนบภาพถ่ายบันทึกการพิจารณาคำร้องของดเบี้ยปรับ เป็นรายไตรมาสภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนสุดท้ายของไตรมาสนั้น
ข้อ 8 การสั่งงดเบี้ยปรับตามข้อ 2 ให้สำนักตรวจสอบภาษีกลาง สำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่และสำนักงานสรรพากรภาค แล้วแต่กรณี รายงานผลการพิจารณาให้อธิบดีกรมสรรพากรทราบทุกราย ตามแบบที่กำหนดพร้อมแนบภาพถ่ายรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาการงดเบี้ยปรับ เป็นรายไตรมาสภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนสุดท้ายของไตรมาสนั้น
ข้อ 9 คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2547
ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
(ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล)
อธิบดีกรมสรรพากร
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ