พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ๕๗๑) พ.ศ. ๒๕๕๖

ข่าวทั่วไป Monday December 23, 2013 16:26 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ๕๗๑)

พ.ศ. ๒๕๕๖

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖

เป็นปีที่ ๖๘ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้กิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล บางกรณี เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา ๙๑/๓ (๗) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ๕๗๑) พ.ศ. ๒๕๕๖”

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๓๒) ของมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ๒๔๐)พ.ศ. ๒๕๓๔

“(๓๒) กิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตามมาตรา ๙๑/๒ (๕) แห่งประมวลรัษฎากรของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมิได้ประกอบกิจการตามมาตรา ๙๑/๒ (๑) (๒) และ (๓) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับดอกเบี้ยที่ได้รับ เฉพาะกรณีดังต่อไปนี้

(ก) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันให้กู้ยืมเงินกันเอง

“บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจำนวนตั้งแต่สองนิติบุคคลขึ้นไป ซึ่งมีความสัมพันธ์กันโดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดถือหุ้นหรือเป็นหุ้นส่วนอยู่ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอีกแห่งหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบห้าของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือนก่อนวันที่มีการกู้ยืม โดยให้นับระยะเวลาของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมอันได้ควบเข้ากันหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเดิมผู้โอนกิจการทั้งหมดรวมด้วย

(ข) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินหรือซื้อตั๋วเงินที่ออกโดยสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน โดยได้รับดอกเบี้ยตามอัตราปกติ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นต้นไป”

มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (๓๓) ของมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ (ฉบับที่ ๒๔๐)พ.ศ. ๒๕๓๔

“(๓๓) กิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนสะสมพนักงานหรือทุนอื่นใดเพื่อพนักงาน สำหรับดอกเบี้ยที่ได้รับจากการนำเงินกองทุนหรือทุนอื่นใดออกให้พนักงานที่เป็นสมาชิกกู้ยืม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นต้นไป”

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่การประกอบกิจการโดยปกติ เยี่ยงธนาคารพาณิชย์ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในบางกรณีมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะแสวงหากำไร ในลักษณะเดียวกับธนาคารพาณิชย์ แต่เนื่องจากมาตรา ๙๑/๕ (๕) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้ดอกเบี้ย ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับจากการให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันให้กู้ยืมเงิน หรือจากการฝากเงินหรือซื้อตั๋วเงินที่ออกโดยสถาบันการเงิน หรือจากการให้พนักงานกู้ยืมเงินเพื่อเป็น สวัสดิการเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นเหตุให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในลักษณะดังกล่าวมีภาระภาษีและต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีดังกล่าวอันจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทยและสนับสนุนการจัดสวัสดิการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลให้แก่พนักงานซึ่งเป็นสมาชิกเงินกองทุนสะสมพนักงาน สมควรยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ดอกเบี้ยที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับจากการให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกันให้กู้ยืมเงิน หรือจากการนำเงินไปฝากหรือซื้อตั๋วเงินที่ออกโดยสถาบันการเงิน หรือจากการให้พนักงานกู้ยืมเงินเพื่อเป็นสวัสดิการ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๑๒๓ ก วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๖)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ