พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ๕๙๑) พ.ศ. ๒๕๕๘

ข่าวทั่วไป Tuesday August 11, 2015 15:30 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ ๕๙๑)

พ.ศ. ๒๕๕๘

_______________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๘

เป็นปีที่ ๗๐ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลบางกรณี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๓ (๑)แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า"พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร(ฉบับที่ ๕๙๑) พ.ศ. ๒๕๕๘" มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้

"สินค้า"หมายความว่าทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่างที่อาจมีราคาและถือเอาได้ที่มีไว้ เพื่อขายเท่านั้น

"บริการ"หมายความว่าการกระทำใดๆอันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่การผลิตสินค้าหรือการขายสินค้า

"เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ"หมายความว่าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ๒๕๕๖

มาตรา ๔ ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ(๒) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลของบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด ๓ ในลักษณะ๒แห่งประมวลรัษฎากรและคงจัดเก็บในอัตรา ร้อยละสิบของกำไรสุทธิให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษไม่ว่าจะมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ณที่ใดสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจากการผลิตสินค้าในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหรือรายได้ที่เกิดจากการให้บริการและมีการใช้บริการนั้นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเป็นเวลาสิบรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามวรรคหนึ่งหากจดทะเบียนจัดตั้งนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับสถานประกอบกิจการที่ตั้งขึ้นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต้องเป็นอาคารถาวรแต่ถ้าจดทะเบียนก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับสถานประกอบกิจการที่ตั้งขึ้นในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต้องเป็นอาคารถาวรที่ขยายหรือเพิ่มเติมจากสถานประกอบกิจการที่มีอยู่เดิม

มาตรา ๕ การนับรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา๔ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีดังต่อไปนี้

(๑) กรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มในหรือหลังวันที่ได้จดแจ้งขอใช้สิทธิประโยชน์ต่อกรมสรรพากร ๖(๑)ให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก

(๒) กรณีที่มีการจดแจ้งขอใช้สิทธิประโยชน์ต่อกรมสรรพากรตามมาตรา ๖(๑) ระหว่าง รอบระยะเวลาบัญชีใดให้นับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรก แม้ว่าจะมีระยะเวลาน้อยกว่าสิบสองเดือนก็ตาม

มาตรา ๖ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จะได้รับสิทธิในการลดอัตราภาษีเงินได้ ตามมาตรา๔จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(๑) ได้จดแจ้งการขอใช้สิทธิการเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษก่อนหรือในปี พ.ศ. ๒๕๖๐

(๒) ต้องไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(๓) ต้องไม่ใช้สิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา๖แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความ ในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่๕๓๐)พ.ศ.๒๕๕๔ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ ๕๘๓) พ.ศ. ๒๕๕๘ หรือยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา๗แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ ๕๓๐) พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ ๕๖๔)พ.ศ. ๒๕๕๖

(๔) ต้องจัดทำบัญชีแยกรายการสำหรับกิจการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

(๕) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนด ในกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขาดคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งข้อหนึ่งข้อใดในรอบระยะเวลาบัญชีใดให้การได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสิ้นสุดลงตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีนั้น มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:-เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มี การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกระจายความเจริญและเพิ่มรายได้ให้แก่ท้องถิ่นและลดปัญหา การเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านสมควรกำหนดให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ